‘คีรี-หมอเสริฐ’เฮ คว้าอู่ตะเภา50ปี

13 ต.ค. 2562 | 00:30 น.

 

กลุ่มบีบีเอส ภายใต้การจับมือของ 3 ตระกูลมหาเศรษฐี ปราสาททองโอสถ-กาญจนพาสน์-ชาญวีรกูล ชนะประมูล โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เสนอผลตอบแทนรัฐสูงสุดกว่า 1 แสนล้านบาท แซงหน้ากลุ่มแกรนด์คอนซอร์เตียม

พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือและประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก แถลงว่า ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกได้มีมติเห็นชอบให้เอกชน
ผู้ยื่นข้อเสนอ 2 ราย มีคะแนนผ่านเกณฑ์การประเมินข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) และเห็นชอบให้มีการดำเนินการเปิดเอกสารข้อเสนอซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านราคา) ซึ่งมีเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมิน 2 ราย ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) และกลุ่ม Grand Consortium ได้ส่งผู้แทนมาเข้าร่วมการเปิดเอกสารข้อเสนอซองที่ 3 อย่างพร้อมเพรียง เมื่อวันที่ 11ตุลาคมที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เผยว่าในการเปิดซองราคาในวันนี้ พบว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ซึ่งประกอบไปด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และบมจ.ซิโน-ไทย เป็นผู้เสนอราคาสูงสุด โดยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในหลักแสนล้านบาท ห่างจาก กลุ่ม Grand Consortium ซึ่งประกอบไปด้วย บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค(แกรนด์แอสเสท) บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น(ไทย), ไทยแอร์เอเชีย ที่เสนอราคาในหลักหมื่นล้านบาท

“การเสนอผลตอบแทนให้รัฐของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ถือว่า สูงกว่าการคาดหวังได้มาก เนื่องจากโครงการนี้ทางคณะกรรมการอีอีซี คาดหวังว่ารัฐจะได้รับผลตอบแทนจากการเปิดประมูลราว5.9 หมื่นล้านบาท

สำหรับ“กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส” ประกอบไปด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ของนาย
ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ถือหุ้น 45% บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ของนายคีรี กาญจนพาสน์ ถือหุ้น 35% และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน จำกัด (มหาชน) ของตระกูล “ชาญวีรกูล” ถือหุ้น 20%

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าการลงทุนกว่า 2.9 แสนล้านบาท โดยรัฐจะลงทุนในส่วนของงานโยธา รันเวย์ที่ 2 และหอบังคับการบินหลังที่ 2 ส่วนเอกชนลงทุนอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3, ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน, ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์, พื้นที่เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่องในสนามบินอู่ตะเภา, ศูนย์ธุรกิจการค้า โดยกองทัพเรือให้ระยะเวลาเอกชนดำเนินการและใช้ประโยชน์พื้นที่โครงการได้เป็นระยะเวลา 50 ปี

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ชนะการประมูล นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สินรักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รฟท.มั่นใจว่าเอกชนจะมาเซ็นสัญญาตามที่นัดหมายไว้ในวันที่ 25 ตุลาคม 2562 พร้อมประเมินว่ารัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ปัญหาพื้นที่ส่งมอบ การันตีโครงการจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเอกชนมากขึ้น ซึ่งจะใช้เวลาส่งมอบพื้นที่สูงสุด 2 ปี จะอยู่บริเวณโครงการก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงค์ (ดอนเมือง-พญาไท) เนื่องจากเป็นย่านกลางเมือง

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเวนคืนระยะแรกก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงค์ (ดอนเมือง-พญาไท) ซึ่งเป็นโครงการช่วงแรกของไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินมีพื้นที่ที่ถูกกระทบจากการเวนคืนกว่า 7 ไร่สิ่งปลูกสร้าง ทั้งหน่วยงานราชการและอาคารบ้านเรือนล่าสุดอยู่ระหว่างรองบประมาณปี 2563 วงเงินกว่า 300 ล้านบาทเพื่อทำสัญญากับผู้ที่ถูกเวนคืนที่เหลือเพียง 3 รายจาก งบชดเชยทั้งสิ้น 700 ล้านบาท แยกเป็นที่ดิน 25 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 21 หลัง รวมพื้นที่ 7ไร่ ส่วนการเซ็นสัญญา ต้องรอดูว่า ซีพีจะมาตามนัดวันที่ 25 ตุลาคม 2562 หรือไม่

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,513 วันที่ 13 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2562 

‘คีรี-หมอเสริฐ’เฮ  คว้าอู่ตะเภา50ปี