‘ปิติ’กางแผน ธนาคารใหม่ ‘ทีเอ็มบีธนชาต’

14 ต.ค. 2562 | 10:50 น.

สัมภาษณ์

 

ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ให้ความเห็นชอบโครง การซื้อหุ้นเพื่อการโอนและรับโอนกิจการทั้งหมดของธนาคาร ธนชาต จำกัด(มหาชน) ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน)หรือ ทีเอ็มบี เมื่อ 2 ตุลาคม 2562 เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของระบบสถาบันการเงินโดยให้โอนกิจการทั้งหมดแล้วเสร็จภายในปี 2564 ซึ่งตามเกณฑ์คือ โอนสินทรัพย์หนี้สินและภาระผูกพันทั้งหมดให้กับทีเอ็มบีให้เป็นไปตามหลักการบัญชีที่เกี่ยวข้องและสินทรัพย์ที่โอนให้ใช้มูลค่าหลังจากกันสำรองที่เกี่ยวข้องแล้ว

ดังนั้นประกาศของธปท.จึงสนับสนุนแผนควบรวมของ 2 ธนาคารให้เดินหน้าตามกระบวนการและขั้นตอนที่กำหนดรวมถึงการระดมทุน 1.3 แสนล้านบาทจากผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งก็คือ กระทรวงการคลังและไอเอ็นจี จำนวน 4.25 หมื่นล้านบาท โดยซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่โอนสิทธิ์ได้(TSR)ในราคา 1.40 บาทต่อหุ้นและผู้ถือหุ้นใหม่ซึ่งก็คือ บมจ. ทุนธนชาตและโนวาสโกเทียร์ จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคา 2.1 บาทต่อหุ้นจำนวนเงิน 6.4 หมื่นล้านบาท และทีเอ็มบีจะระดมทุนอีกประ มาณ 2.6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้หลังควบรวมกิจการ 2 ธนาคารแล้ว ธนาคารแห่งใหม่ทีเอ็มบีธนชาตจะเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ในกลุ่มธนาคารใหญ่ด้วยขนาดสินทรัพย์เกือบ 2 ล้านล้านบาท เงินกองทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท จากที่ประหยัดส่วนทุนไปราว 3-4 หมื่นล้านบาท

 

‘ปิติ’กางแผน  ธนาคารใหม่  ‘ทีเอ็มบีธนชาต’

ปิติ ตัณฑเกษม

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี สะท้อนมุมมองถึงทิศทางธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาต ว่า เมื่อกระบวนการรวมกิจการเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด โครงสร้างธุรกิจจะมีความสมดุลมากขึ้น เพราะการลดขนาดของธนาคาร ธนชาต ทำให้ความเสี่ยงลดลง รวมถึงเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ จะทยอยปรับลดลงด้วย จึงช่วยให้การใช้ทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ซํ้าซ้อน จะรวมให้เหลือเพียงชุดเดียว รวมถึงระบบ IT หรือค่าใช้จ่ายทางการตลาด ที่จากเดิม 2 ธนาคารรวมกันตกประมาณ 2,200 ล้านบาท โดยเป็นของทีเอ็มบี 1,400 ล้านบาท และธนชาต 800 ล้านบาท

 

ส่วนนโยบายสาขานั้น หลังควบรวมกิจการ จะมีสาขารวม 900 สาขา พนักงานราว 10,000 คน ถ้าประเมินบนสมมติฐานทุกวันนี้ที่อัตราการลาออกของพนักงานต่อปีเฉลี่ย 15% คือประมาณ 1,500 คนต่อปี แต่ธนาคารก็ไม่สามารถปิดสาขา 150-200 สาขาได้ภายในระยะเวลา 1 ปี อาจใช้เวลา 3 ปีขึ้นไป จึงจะเหลือสาขา 700 สาขา ซึ่งจะทำให้ประหยัดในส่วนนี้ราว 2,000 ล้านบาท

ขณะที่โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อจะเพิ่มสินเชื่อรถยนต์เข้ามา โดยสินเชื่อรายย่อยจะมีสัดส่วนประมาณกว่า 50% สินเชื่อรายใหญ่จะมีสัดส่วนเป็น 20% แทนที่จะเป็น 1 ใน 3 อย่างทุกวันนี้ และระยะยาวจะทยอยปรับลดตํ่าลง ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีจะเหลือ 20% จากที่มีอยู่กว่า 30%

 

นอกจากนั้น ต้นปีหน้า จะมีฐานลูกค้าธนชาตเข้ามา 4.3 แสนล้านราย ซึ่งสามารถแนะนำบริการกองทุนรวม เพื่อดึงเงินฝากที่จ่ายดอกเบี้ยสูงและนำเงินฝากทีเอ็มบีไปปล่อยสินเชื่อรถยนต์ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย(NIM)เพิ่มขึ้น ส่วนเอ็นพีแอลและสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM)ในพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีของทีเอ็มบี ต้องแก้ไขและประคองกันไป ซึ่งธนาคารเตรียมตัวมาตลอดเพื่อกันสำรองตามมาตรฐานบัญชี TFRS9

ปีหน้าการเติบโตสินเชื่อจะติดลบ แต่เราจะกำไรมากขึ้น เพราะนำเงินฝากต้นทุนตํ่าของทีเอ็มบีไปปล่อยเช่าซื้อและใช้ดิจิทัลเสริม ทำให้ต้นทุนเช่าซื้อถูกลงและจะค่อยๆปรับกลยุทธ์ในการฟันดิ้งจากตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้สอดคล้องพอร์ตสินเชื่อ

 

 หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,513  วันที่ 13-16 ตุลาคม 2562

‘ปิติ’กางแผน  ธนาคารใหม่  ‘ทีเอ็มบีธนชาต’