ทำไมถูกดองนาน!!! ห้ามตั้ง-ขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้น

10 ต.ค. 2562 | 07:24 น.

 

“สุริยะ”ไขข้อข้องใจประกาศห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตถูกแช่แข็ง เผยติดหล่มรัฐบาลรักษาการ  ล่าสุดรอลงราชกิจจานุเบกษา แล้วประกาศใช้อย่างเป็นทางการเร็วๆนี้

 

     หลายคนในวงการอุตสาหกรรมเหล็กพากันตั้งคำถามว่า ทำไมการพิจารณาห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ถึงได้ผ่านกระบวนการพิจารณาแต่ละขั้นตอนที่ยาวนานเช่นนี้  เพราะถึงวันนี้ที่จ่อจะออกประกาศก็ยังไม่ประกาศ!!!

 

     เมื่อวันที่ (1 ตุลาคม 2562)  คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ทุกขนาด ทุกท้องที่ ในราชอาณาจักร  พ.ศ. …. ที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้   

ทำไมถูกดองนาน!!!  ห้ามตั้ง-ขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้น

     ทำไมถูกดองนาน!!!  ห้ามตั้ง-ขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้น

 

     ตามขั้นตอนก็ยังไม่จบเพียงเท่านี้   เพราะขั้นตอนต่อไปกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องรับรองมติหลังจากที่ครม.อนุมัติ ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกินปีนี้ ที่จะเกิดการลงนามในราชกิจจานุเบกษา แล้วประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

 

     ต่อเรื่องนี้ “ฐานเศรษฐกิจ”ได้รับการเปิดเผยจาก นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถึงสาเหตุทั้งหมดที่ทำให้การพิจารณาห้ามตั้ง-ขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้น ออกมาประกาศใช้ล่าช้า จนถึงวันนี้ว่า การพิจารณาห้ามตั้ง-ขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้น เดินเรื่องกันมาตั้งแต่ปี 2561 ในสมัยรัฐบาลก่อน ที่มีนายอุตตม สาวนายน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และในขณะเดียวกันก็มีการแจ้งต่อผู้ประกอบการไปว่า ผู้ผลิตที่มีอยู่จะต้องพัฒนาตัวเองด้วย   และมีการโฟกัสลงไปที่เหล็กเส้นมากเป็นพิเศษ เนื่องจากใช้กำลังผลิตในขณะนั้นแค่  27-28% (ในประเทศมีกำลังผลิตเหล็กเส้นรวมราว 10 ล้านตัน ) อีกทั้งจะต้องดูเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากโรงงานเหล็กเส้นบางรายยังดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ดีเท่าที่ควร  ช่วงนั้นทราบว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรมต้องการให้ผู้ประกอบการปรับตัวคู่ขนานไปด้วย

 

    ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2561  มีการทำประชาพิจารณ์  หลังจากนั้นก็ส่งเรื่องห้ามตั้ง-ห้ามขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นดังกล่าวภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ประกาศ  และส่งเรื่องเข้าพิจารณาในครม. ซึ่งในขณะนั้นครม.ได้อนุมัติในหลักการไปแล้วเมื่อ 29 มกราคม 2562 

ทำไมถูกดองนาน!!!  ห้ามตั้ง-ขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้น

ณัฐพล รังสิตพล

     ขั้นตอนต่อมาก็เข้าสู่กระบวนการตรวจร่างกฏหมาย  และระหว่างทางก็มีการคัดค้านเรื่องของเวิร์ดดิ้งบางส่วน  ซึ่งต้องใช้เวลาในช่วงนั้นนาน  4-5  เดือน  เมื่อมีการแก้ไขเวิร์ดดิ้งเสร็จ 30 พ.ค.2562   พอดีเป็นจังหวะที่เป็นรัฐบาลรักษาการอีก ทำให้การพิจารณาต้องยืดเวลาออกไปอีก

    

    นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม   กล่าวเพิ่มเติมกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงเรื่องดังกล่าวว่า  พอรัฐบาลใหม่เข้ามา  ก็ต้องใช้เวลากลั่นกรอง  และทางกฤษฎีกาก็ยืนยันว่าให้ชงเรื่องดังกล่าวเข้าไปพิจารณาในครม.อีกรอบ  เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล จนเป็นที่มาเมื่อ 1 ตุลาคม2562 ที่ผ่านมาครม. มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ทุกขนาด ทุกท้องที่

 

     “ขั้นตอนต่อไปกระทรวงอุตสาหกรรมรอรับแจ้งมติอย่างเป็นทางการจากครม.ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกินปีนี้ จะมีการลงราชกิจจานุเบกษา แล้วประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งเรื่องนี้มาในรัฐบาลนี้ก็มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องรีบพิจารณา” นายสุริยะกล่าว

ทำไมถูกดองนาน!!!  ห้ามตั้ง-ขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้น

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

   แหล่งข่าวจากวงการผลิตเหล็กเส้น กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ผลิตเหล็กเส้นรวมทั้งสิ้นราว  40-50 ราย มีกำลังผลิตรวมประมาณ  10 ล้านตัน  มีความต้องการใช้อยู่ที่ 3 ล้านตัน  เมื่อปี 2557-2558 กลุ่มผู้ประกอบการเคยยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงผลกระทบที่เกิดจากการที่มีปริมาณเหล็กเส้นในประเทศจำนวนมาก และเรียกร้องมาตลอดให้ออกประกาศห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตในประเทศ