ส่งมอบพื้นที่‘ไฮสปีด’ ก้างตำคอ รฟท.

10 ต.ค. 2562 | 02:30 น.

ส้นตายเซ็นสัญญาโครงการรถไฟความ เร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วันที่ 15 ตุลาคม 2562 ระหว่าง กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เป็นหมันอีกระลอก เมื่อนายศักดิ์ สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศเลื่อนลงนาม ออกไปเป็นวันที่ 25 ตุลาคม 2562 โดยอ้างคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ดรฟท.) ลาออกทั้งคณะ จึงต้องแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา

อย่างไรก็ตามการยื้อลงนาม นับครั้งไม่ถ้วนเกิดจากปัญหาส่งมอบพื้นที่ ที่ล่าสุดเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดหน้าชนภาครัฐ ในงานเปิดตัวหนังสือ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาจับใจความได้ว่า “การทำพีพีพี ไฮสปีด รัฐต้องร่วมกับเอกชน ถ้าเสี่ยงต้องเสี่ยงด้วยกัน”

ขณะฝั่งของ รฟท. นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สินรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เผยว่า ได้วางกำหนดการส่งมอบที่ดิน 72% ภายใน 1 ปี หลังลงนามในสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโดยขณะนี้ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการรื้อย้ายท่อก๊าซยาว 12 กม. ยกเสาไฟฟ้าแรงสูง 16 จุด กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดย้ายท่อประปาขนาดใหญ่ยาว 2 กม. และกระทรวงคมนาคมโดย รฟท.ใช้สิทธิ์เร่งรัดให้ย้ายท่อนํ้ามันของบริษัทเอกชน ระยะทาง 44 กม.รวมทั้งเร่งรัด พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน

ส่งมอบพื้นที่‘ไฮสปีด’ ก้างตำคอ รฟท.

จากการบอกเล่าถึงความคืบหน้าดังกล่าวชี้ชัดได้ว่า หลากหลายกระทรวงเข้ามาช่วยกันผลักดันให้โครงการนี้เริ่มดำเนินการ เพราะนอกจากสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนโดยเฉพาะในมิติของการคมนาคมขนส่ง

แล้วอะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่มซีพีไม่จดปากกา แรกเริ่มอาจคาดเดาในเรื่องของเงินทุน แต่ล่าสุดจากการสอบถามแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า สิ่งที่กลุ่มซีพีมีความกังวลคือการส่งมอบที่ดิน เพราะมีอุปสรรคในเรื่องของการรื้อย้ายสาธารณูปโภคต่างๆ และการบุกรุกของประชาชน ทำให้ไม่สามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ หรือถ้าก่อสร้างได้ ก็จะทำได้เป็นจุดๆ แล้วก็ต้องหยุดไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้อีกซึ่งจะทำให้กลุ่มซีพีต้องแบกรับดอกเบี้ยเงินกู้ซึ่งเป็นภาระด้านต้นทุนที่สูงอยู่แล้วเพิ่มมากขึ้น

 

สำหรับพื้นที่อุปสรรคที่ดูแล้วยังเป็นปัญหาหลากหลายประเด็น ยกตัวอย่างเช่น เสาตอม่อของโครงการโฮปเวลล์ สายส่งไฟฟ้าแรงสูง 230 KV ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ท่อส่งนํ้ามันใต้ดินขนาด 14 นิ้ว เพื่อใช้ส่งนํ้ามันไปในสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ของบริษัท ขนส่งนํ้ามันทางท่อ จำกัด (Fuel Pipeline Transportation Limited : FPT) ซึ่งจะต้องรื้อย้าย เพื่อให้กลุ่มซีพีเข้ามาทำการเปิดหน้าดินเพื่อสร้างอุโมงค์ วิ่งแบบคลองแห้ง เป็นต้น

คงเป็นหนังม้วนยาว ที่ต้อง จับตาว่าในที่สุดแล้ว ไฮสปีด เชื่อม 3 สนามบินจะจบอย่างไร 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3512 ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2562