ระเบียงเศรษฐกิจที่ 6 บูม‘ใต้ตอนล่าง’

04 ต.ค. 2562 | 23:30 น.

นอกจากเร่งขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (เอสอีซี) หรือเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแนวชายแดนแล้ว ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่างกำลังเร่งจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนแผนงานแนวระเบียงเศรษฐกิจที่ 6 (Economic Corridor 6 th-EC6) อย่างแข็งขัน

เมื่อเร็วๆ นี้ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับหน่วยงานภาควิชาการนำโดย ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และตัวแทนนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ได้จัดการประชุมระดมความคิดเห็นฝ่ายไทย เพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์ ภายใต้โครงการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค หรือการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย (Indonesia Malaysia Thai-Growth Triangle หรือ IMT-GT) โดยมีตัวแทนระดับหน่วยงานของรัฐ กลุ่มตัวแทนของภาคเอกชน และภาควิชาการ เข้าร่วมระดมความคิดเห็น จำนวน 30 คน

นางสาวศรีพร เกิดคง ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของโครงการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค IMT-GT เพื่อเตรียมพร้อมในการจัดทำแผนแม่บท ECC เพื่อสร้างความร่วมมือในระดับหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจในพื้นที่ กลุ่มตัวแทนของภาคเอกชน และภาคประชาชน

ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มอ. กล่าวว่า นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมการสำหรับการศึกษาสำรวจโครงการ PCP และโครงการสำคัญในแนว EC6 โดยมีกรอบดำเนินการระหว่างวันที่ 27 กันยายน-1 ตุลาคม 2562 จากนั้นจะได้มีการจัดประชุมร่วมกับภาครัฐ เอกชน และวิชาการ ของมาเลเซีย เพื่อจับคู่ความร่วมมือ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์และโกตาบารู และกับประเทศอินโดนีเซียอีก 2 คร้ั้งเช่นกัน ที่ปาเล็มบังและจาการ์ตา

วงหารือสรุปประเด็นที่จะนำไปประชุมร่วมกับประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ดังนี้

1.ประเด็นหารือกับทางมาเลเซีย ประกอบด้วย 1.1 การเชื่อมโยงทางการขนส่งและโลจิสติกส์โดยรถไฟทางคู่ เส้นทางจาก โคกโพธิ์-สุไห-โกลก-กัวลาลัมเปอร์ เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว 1.2 เรื่องจุดผ่อนปรนบริเวณด่านการค้าชายแดนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส) กับประเทศมาเลเซีย พื้นที่จังหวัดนราธิวาส 3 จุด

ระเบียงเศรษฐกิจที่ 6  บูม‘ใต้ตอนล่าง’

1.3 เรื่องการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร โดยนำเสนอจุดแข็งของฝั่งประเทศไทยทั้งในเรื่องของความพร้อมด้านทรัพยากรและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อชักจูงนักลงทุนในมาเลเซียเข้ามาลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัด และร่วมแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศในเรื่องการเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร

2.ประเด็นหารือกับอินโดนีเซีย ประกอบด้วย 2.1 ด้านการศึกษา ชักชวนให้อินโดนีเซียเข้ามาเรียนในประเทศไทยมากขึ้น และการศึกษาร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ

2.2 เรื่องการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร โดยนำเสนอจุดแข็งและความพร้อมทางด้านเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรในพื้นที่ 3 จังหวัด เพื่อชักจูงให้เกิดการค้าการลงทุนร่วมกัน รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีร่วมกันในวงประชุมตั้งโจทย์ว่า การขับเคลื่อนแผนงาน EC6 ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน เช่น ไทยผลิตวัตถุดิบแล้วให้มาเลเซียนำไปแปรรูป หรือชักจูงนักลงทุนมาเลเซียมาตั้งโรงงานแปรรูปยาง
พาราในไทยที่เป็นแหล่งผลิตใหญ่สุด เป็นต้น

ขณะที่ไทยต้องการเชื่อมโยงเพื่อนบ้านเพื่อให้เกิดการขนส่งสินค้าโลจิสติกส์ที่รวดเร็ว โดยมีแผนจะทบทวนการทำ Single Checkpoint การเจรจาการส่งออกเนื้อแพะสดและแปรรูปไปมาเลเซีย การยกระดับโรงงานในด้านการผลิตให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับร่วมกับกันมาเลเซียและอินโดนีเซีย และการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟ สุไหง-โกลก-ปาเสมัส-ตุมปัต เป็นต้น

พื้นที่การพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจที่ 6 ประกอบด้วย จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส ของไทย รัฐเปรัก กลันตัน ของมาเลเซีย และสุมาตราใต้ ของอินโดนีเซีย 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3510 วันที่  3-5 ตุลาคม 2562

ระเบียงเศรษฐกิจที่ 6  บูม‘ใต้ตอนล่าง’