ผ่าแผนรับมือ "ฝุ่นพิษ PM 2.5” ครม.ดันเป็นวาระแห่งชาติ

01 ต.ค. 2562 | 10:53 น.

ในที่สุด เจ้าฝุ่นพิษ หรือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ก็ถูกยกระดับการรับมือจากรัฐบาล ให้เป็น “วาระแห่งชาติ” เสียทีตามที่สังคมรอคอย

 

“ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  บอกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)   1 ตุลาคมเห็นชอบ “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” 2562-2567 มีแนวทางแก้ปัญหาใน 3 มาตรการ มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนและในช่วงวิกฤต  มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง แหล่งกําเนิด  ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น 2562 – 2564  และระยะยาว  2565-25667 และสุดท้ายมาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น 2562 – 2564  และระยะยาว 2565-2567

ผ่าแผนรับมือ "ฝุ่นพิษ PM 2.5” ครม.ดันเป็นวาระแห่งชาติ

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบแผนดังกล่าวพบว่า มาตรการที่ 1 มีการแบ่งกลไกลการปฏิบัติตามปริมาณของ PM2.5 เป็น 4 ระดับ ระดับที่ 1 ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร หน่วยงานดำเนินการภารกิจตามสภาวะปกติ ระดับที่ 2 ระหว่าง 51-75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ทุกหน่วยงานดำเนินมาตรการให้เข้มงวดขึ้น ระดับที่ 3 ระหว่าง 76-100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์โดยใช้อำนาจตามกฎหมายควบคุมพื้นที่ แหล่งกำเนิดและกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ และระดับที่ 4 มากกว่า 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเสนอมาตรการให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ

 

หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สํานักงานตํารวจแห่งชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องร่วมกันรับผิดชอบและต้องปฏิบัติตามเมื่อเข้าสู่มาตรการขั้นต่างๆ

 

มาตรการที่ 2 เป็นการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางหรือแหล่งกำเนิดมลพิษ แบ่งเป็น ยานพาหนะ  การเผาในที่โล่ง/ภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การก่อสร้างและผังเมือง และภาคครัวเรือน

 

โดยในส่วนของรถยนต์ 1.จะบังคับให้ใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ยูโร 6 ภายในปี 2565 2.บังคับให้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 3.พัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะ 4.ใช้มาตรการจูงใจ ส่งเสริมการผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้า 5.เปลี่ยนรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ทั้งหมดให้เป็นรถโดยสารไฟฟ้า NGV และไฮบริด และ 6.ปรับปรุง แก้ไขการเก็บภาษีประจำปีสำหรับรถใช้งาน

 

ส่วนภาคการเกษตร   1.ไม่ให้มีอ้อยไฟไหม้ 100% ภายในปี 2565 2.ให้มีการนำเศษวัสดุการเกษตรมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพทดแทนการเผา 3.ส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชหรือไม้ยืนต้นทดแทนพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชที่มีการเผา 4.ห้ามไม่ให้มีการเผาในที่โล่งและเผาขยะโดยเด็ดขาด และ 5. ป้องกันไฟป่าและจัดการไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ

 

อุตสาหกรรม 1.กำหนดมาตรการอากาศเสียในรูป Loading ตามศักยภาพการรองรับมลพิษของพื้นที่ 2.ให้มีการติดตั้ง CEMs โรงงานจำพวก 3  และ 3.ปรับปรุงมาตรฐานอากาศเสียให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล

 

ส่วนการก่อสร้าง ผังเมืองและภาคครัวเรือน ถูกจัดอยู่ในแผนกลุ่มเดียวกันระบุว่า 1.ควบคุมฝุ่นจากการก่อสร้าง บังคับใช้กฎหมาย 2.เพิ่มพื้นที่สีเขียว ส่งเสริม CSR 3.ผลักดันการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4.ใช้พลังงานสะอาดในครัวเรือน และ 5.พัฒนา ส่งเสริมการใช้เตาไร้ควัน และถ่านปลอดมลพิษ

และมาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ แบ่งเป็น 1.การพัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ 2.ทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย มาตรฐาน แนวทางปฏิบัติ 3.ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ ประชาสัมพันธ์ 4.การแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน 5.การจัดทำบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศ  และ 6.พัฒนาระบบฐานข้อมูล ระบบคาดการณ์

 

ซึ่งทั้งหมดของมาตรการนี้ ในแผนระยะยาว 2565-2567 ระบุว่า 1.ขยายเครือข่าย พื้นที่การติดตามตรวจสอบ ครอบคลุม 77 จังหวัด และให้ท้องถิ่นติตดามตรวจสอบในพื้นที่ตนเอง 2. พิจารณาปรับค่ามาตรฐาน PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตาม WHO IT-3  3.เผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ 4. การแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดนภายใต้ ASEAN Haze  Agreement และ 5.พัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบเฝ้าระวังสุขภาพสุขภาพที่เป็นหนึ่งเดียว

ผ่าแผนรับมือ "ฝุ่นพิษ PM 2.5” ครม.ดันเป็นวาระแห่งชาติ