ประกันหนีตาย โขกเบี้ยรถ10%

29 ก.ย. 2562 | 23:00 น.

ธุรกิจประกันวินาศภัยน็อกยาว หลังประกันรถยนต์ยังไม่ฟื้น ขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน พิษหั่นเบี้ยแข่งเดือด ชิงพอร์ตโต ดันตัวเลขค่าใช้จ่าย Combine Ratio ทะลุ 106.7% “นายกสมาคม” หวังสิ้นปีตัวเลขเบี้ยพลิกกลับมาโตดีขึ้น หลังประกันตบเท้าขึ้นเบี้ย  5-10%

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยและผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด(มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยอมรับว่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ (AUTO) ช่วงครึ่งแรกปี 2562 ยังคงมีผลขาดทุน หลังจากผลประกอบการบริษัทประกันภัยขาดทุนต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2561 โดยปี​ 2561 ขาดทุนราว 3,000 ล้านบาท เนื่อง จากตัวเลขค่าใช้จ่ายในการรับประกันทั้งหมด (Combine Ratio) ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 106.7% สะท้อน
ว่า บริษัทประกันทั้งอุตสาห กรรมยังมีผลขาดทุนอยู่ที่ 6.7% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงก่อนหน้านี้ ทำให้มีผลขาดทุน โดยจากบริษัทประกันที่มี 26 บริษัท มีเพียง 2 บริษัทเท่านั้นที่กำไร และหากดูเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ 12 บริษัท มีผลขาดทุน 3 บริษัท

 

ปรับเบี้ยประกันเพิ่ม10%

อย่างไรก็ดี บริษัทประกันส่วนใหญ่ทยอยปรับเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะเบี้ยประกันรถยนต์อู่ซ่อมห้าง(ศูนย์บริการ) ปรับขึ้นเฉลี่ย 5-10% เพราะมีผลขาดทุนค่อนข้างเยอะ ซึ่งสมาคมฯ อยู่ระหว่างประเมินภาพรวมตลาดหลังจากนี้ แต่คาดว่า Combine Ratio น่าจะทรงตัวหรือลดลงได้จากการปรับเบี้ยขึ้นทั้งระบบ 

ดังนั้น ภาพรวมช่วงที่เหลือปีนี้ อัตราการเติบโตเบี้ยประกันจะดีขึ้น น่าจะขยายตัวได้ 6-7%  จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3-4% จากการปรับเบี้ยขึ้น แต่สภาพตลาดที่ยังไม่สดใส ยังคงเป็นแรงกดดันการเติบโตอยู่ โดยตัวเลขเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งระบบประมาณ 2.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นพอร์ตเบี้ยประกันรถยนต์ 1.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 57-58% ที่เหลือเป็นพอร์ตประกันที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non Motor) ราว 1.1 แสนล้านบาท

“ภาพรวมที่เห็นตัวเลขเบี้ยประกันภัยรถยนต์ลดลงไม่ได้เกิดจากบริษัทประกันตั้งเป้าลดพอร์ตประกันรถยนต์แล้วหันไปเพิ่มพอร์ตเบี้ยประกันภัย Non Motor แต่เป็นผลจากบริษัทประกันทยอยปรับเบี้ยประกันภัยขึ้น ทำให้บริษัทที่เคยใช้นโยบายด้านราคาในการแข่งขันและเพิ่มพอร์ตด้วยราคา มีสัดส่วนพอร์ตลดลง หรือเบี้ยประกันไหลไปในบริษัทที่เบี้ยราคาถูกหรือยังไม่ได้ปรับเบี้ยขึ้น จากนี้ไปเราต้องมาดูว่า ตัวเลข Combine Ratio จะต้องดีขึ้น” 

นายสมบุญ ฟูศรีบุญ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน)หรือ NSI กล่าวว่า ตลาดประกันภัยตอนนี้ได้รับผลกระทบทั้งจากค่าขาดประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นและตัวเลขอัตราความเสียหายและค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ที่สูงอยู่แล้ว โดยจะเห็นว่า Loss Ratio ของรถยนต์ภาคสมัครใจสูงถึง 63-65% ส่งผลให้ทุกบริษัทหันกลับมาพิจารณาพอร์ตธุรกิจตัวเอง เพราะปัจจุบันตัวเลข Combine Ratio สูงเกิน 100% หากปล่อยไว้ให้อยู่สูงจะกระทบกับลูกค้าและบริษัทได้

ประกันหนีตาย  โขกเบี้ยรถ10%

ดังนั้นช่วงที่ผ่านมา จะเห็นบริษัทประกันต่างๆ ทยอยปรับเพิ่มเบี้ยประกันขึ้นเฉลี่ย 10% ขึ้นกับรุ่นและยี่ห้อรถ แต่ NSI ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากไม่ได้เน้นตลาดรถยนต์เล็กที่ทำธุรกิจค่อนข้างยากในภาวะนี้ เพราะการแข่งขันสูง
และเบี้ยราคาถูกลง ขณะที่ประกันรถบรรทุก มีโอกาสทำกำไรมากกว่า ซึ่งบริษัทมีความชำนาญประกันรถบรรทุก จึงทำตลาดนี้ได้ค่อนข้างดี ขณะที่ตัวเลข Combine Ratio ปัจจุบันอยู่ที่ 102% แม้จะสูง แต่เป็นการลงบัญชีทางเทคนิค จากการขยายตัวประกันรถค่อนข้างเยอะ จึงถูกบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด คาดว่าสิ้้นปี ตัวเลขจะปรับลงมาอยู่ที่ 99% 

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ประกันภัย ไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) หรือ TVI กล่าวว่า ธุรกิจประกันภัยรถยนต์มีปัจจัยทั้งบวกและลบ มีทั้งตลาดที่ดีและไม่ดี ขึ้นกับการบริหารพอร์ตและความเสี่ยงโดยรวมของบริษัท ที่จะต้องพยายามหาตลาดที่ถูกและความเสี่ยงที่ใช่ โดยการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และดึงเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจะทำให้พอร์ตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันบริษัทไทยวิวัฒน์สามารถบริหาร Loss Ratio ที่ 60% ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

 

รับตลาดรถเปลี่ยนเร็ว

“ตลาดรถยนต์เปลี่ยนแปลงเร็ว เราจึงมีทั้งที่ปรับเบี้ยขึ้นและปรับเบี้ยลง เฉลี่ยในกรอบ 5-20% ขึ้นกับความเสี่ยง เฉพาะรุ่นหรือที่มียอดเคลมบ่อยครั้ง แต่ไม่มีนโยบายปรับพอร์ตรถยนต์ลง โดยยังคงสัดส่วน 70-75% และปีนี้มองว่า ภาพรวมเบี้ยประกันน่าจะขยายตัวเล็กน้อย 3-5%”  

ด้านบมจ.ทิพยประกันภัย ก่อนหน้านายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ออกมาประกาศกลับมาทำตลาดประกันภัยรถยนต์ โดยตั้งเป้าเบี้ยปี 2563 ที่ 6,000 ล้านบาท หลังจากชะลอการเติบโตช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และลดสัดส่วนพอร์ตเบี้ยประกันที่มี 5,000 ล้านบาท เหลือ 3,000 ล้านบาท คิดเป็น 13% ของพอร์ตเบี้ยประกันรับรวม 2 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากอัตรา Loss Ratio ค่อนข้างสูงที่กว่า 70% เพราะเข้าทุกตลาด ทั้งในส่วนของรถแท็กซี่ รถบรรทุก จึงปรับพอร์ตลงต่อเนื่อง จนปัจจุบันอัตรา Loss กลับมาอยู่ที่ระดับ 65% ถือเป็นระดับที่น่าพอใจ จึงเริ่มกลับมาปรับปรุงพัฒนาระบบทั้งหน้าบ้านหลังบ้านใหม่ ลงระบบไอทีใหม่ พัฒนาระบบรับสินไหมในทุกมิติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3509 วันที่ 29 กันยายน - 2 ตุลาคม 2562

ประกันหนีตาย  โขกเบี้ยรถ10%