ไขปม ซีพีเลื่อนเซ็นไฮสปีด

01 ต.ค. 2562 | 06:35 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ระทึกอีกระลอกว่าวันที่ 15 ตุลาคม 2562 กลุ่มกิจการร่วมค้า เจริญโภคภัณฑ์ จะลงนามในสัญญา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตามเส้นตายนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม หรือไม่ หลังเลื่อนลงนามหลายครั้งกระทั่งใกล้ครบ 1 ปี

ปมปัญหาใหญ่กลุ่มซีพีต้องการให้รฟท.เคลียร์พื้นที่ก่อนส่งมอบให้เสร็จสมบูรณ์ 100% พร้อมแจงเหตุผลเกรงก่อสร้างเสร็จไม่ทันตามสัญญา 5 ปี มีภาระดอกเบี้ยผูกพันไม่รู้จบ จากการส่งมอบพื้นที่แต่ละช่วงแต่ละตอนต้องเริ่มนับ 1 สัญญา เชื่อว่าต้องเกินเวลาทั้งเวนคืน ไล่รื้อ ขณะซีก รฟท. ยืนยันในฐานะผู้ร่วมลงทุนคงไม่สร้างปัญหารุกลามบานปลายในลักษณะนั้น ถัดมากลุ่มซีพียังตั้งแง่ โยนภาระทุบเสาตอม่อโฮปเวลล์ ให้เป็นหน้าที่ของรฟท. กระทั่ง “หมอหนู” นายอนุทิน ออกมาประชดจะขอควักเงินส่วนตัว 200 ล้านบาทให้เป็นค่ารื้อถอนซึ่งมองว่าเรื่องแค่นี้ไม่น่าจะนำมาเป็นข้ออ้างเลื่อนลงนาม

 ไขปม ซีพีเลื่อนเซ็นไฮสปีด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยามชิดชอบ ยํ้าข้อมูลคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่แจ้งว่า กลุ่มซีพีสามารถทำตามข้อกำหนดหนังสือแนบท้ายสัญญา ดังนั้นน่าจะลงนามในสัญญาได้ “ในแง่การก่อสร้างที่มีปัญหาก็มีข้อกำหนดชัดเจน หากพื้นที่ใดมีปัญหาก็สามารถขยายเวลาในการก่อสร้างออกไปได้”

มุมวิเคราะห์นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด สะท้อนว่า “ทั้ง 2 ฝ่ายน่าจะบรรลุข้อตกลง กลุ่มซีพีเองอยากลงทุนไม่เช่นนั้นไม่ต่อสู้มาอย่างยาวนานเกือบ 1 ปี เพียงแต่ยังติดปัญหาบางประการที่ต้องเจรจา”

 

ขณะปมลึกแสนเจ็บร้าว กลุ่มซีพีต้องการขอให้กระทรวงการคลัง คํ้าประกันเงินลงทุนดอกเบี้ยตํ่าวงเงิน 2 แสนล้านบาทจากธนาคารต่างชาติในฐานะพันธมิตรซึ่งข้อนี้ถูกคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินตัดออกเป็นข้อแรกๆ มุมผู้รับเหมามองว่า หากกลุ่มซีพีตั้งใจจริงไม่น่าตื่นกลัวล่วงหน้า ทุกโครงการย่อมมีผลกระทบด้านการเวนคืนไล่รื้อแทบทั้งสิ้น แต่ที่น่าจับตาการดัมพ์ราคา ตํ่าๆ ไร้เงื่อนไขพิเศษทำให้กลุ่มซีพี ตกที่นั่งขาดทุน อีกประเด็นใหญ่ที่ เพลี่ยงพลํ้าสะดุดขาตัวเอง คือสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน 2.9 แสนล้านบาท ขุมทรัพย์ทำกำไรต่อยอดไฮสปีด ซึ่งยังลุ้นต่อว่าในที่สุดแล้วศาลปกครองสูงสุดจะพลิกคำพิพากษาจากศาลปกคลองกลางหรือไม่

อย่างไรก็ตาม วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 จะหมดเวลาการยื่นราคาไฮสปีด ที่กลุ่มซีพี เสนอ หาก วันที่ 15 ตุลาคมถูกถ่างเวลาเซ็นสัญญาออกไปเชื่อว่ากลุ่มบีทีเอสจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3509 ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 2 ตุลาคม 2562