ไม่ต้องรอนานสนามบิน "ปักกิ่งต้าชิง" เสร็จก่อนกำหนด 1 ปี

26 ก.ย. 2562 | 00:29 น.
  • ใช้งบประมาณสร้างมากที่สุดในโลกด้วยอาคารผู้โดยสารเพียงหลังเดียว
  • อาคารผู้โดยสารใหญ่เท่ากับสนามฟุตบอล 97 สนามและจะขยายอีกในอนาคต
  • จีนต้องการลดความแออัดที่เกิดขึ้นในสนามบินปักกิ่ง เป็นเหตุให้การบริการหลายอย่างเกือบหลุดเกณฑ์มาตรฐาน  
  • จีนประกาศว่านี่ไม่ใช่แค่สนามบินแต่จะกลายเป็นศูนย์การของการคมนาคมของโลก

เปิดสนามบินต้าชิงอย่างเป็นทางการ

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเปิดตัวสนามบินนานาชาติปักกิ่งต้าชิงมูลค่า 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งพร้อมให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว ก่อนหน้าวันครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

สนามบินแห่งใหม่ถูกยกย่องว่าเป็น "แหล่งการพัฒนาแห่งใหม่ที่ทรงพลัง" ในพิธีเปิดซึ่งประธานาธิบดีสีและข้าราชการระดับสูง อาทิ นายฮี ลิเฟ็ง ประธานคณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูป และนายหาน เจิ้ง รองนายกรัฐมนตรี นาย เข้าร่วมงาน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เปิดทำการสนามบินเพื่อใช้งานจริงไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห

โครงการแห่งนี้มีมูลค่า 4.5 แสนล้านหยวน (6.3 หมื่นล้านดอลลาร์) และเสร็จสมบูรณ์ภายในระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของโครงสร้างพื้นฐาน ท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ในขณะที่จีนและสหรัฐยังคงมีข้อพิพาททางการค้า

สนามบินปักกิ่งต้าชิง (PKX)

จีนเปิดให้บริการสนามบินต้าชิงที่จะกลายเป็นสนามบินที่รองรับผู้คนมากที่สุดในโลกอันดับที่สอง ตั้งอยู่ทางทางใต้ของกรุงปักกิ่ง ก่อนหน้าวันครบรอบ70ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ เริ่มให้บริการในวันที่ 20 กันยายนนี้ โดยจะประเดิมเครื่องบินที่จะบินออกจากสนามบินไฟล์แรกด้วยเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก แอร์บัสเอ380  

จีนมีความต้องการสร้างให้สนามบินต้าชิง หรือ Beijing Daxing International Airport (PKX) กลายเป็นศูนย์กลางของการเดินทางอากาศยาน ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการเดินทาง หลังจากที่สนามบินปักกิ่ง (PEK) ไม่สามารถเพิ่มการรองรับผู้โดยสารได้อีกต่อไป โดยในปี 2018 กลายเป็นสนามบินที่พลุกพล่านมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจาก ฮาร์ดฟิล แจ็กสันที่แอตแลนต้า โดยจีนคาดการณ์ว่าสถานที่แห่งนี้จะสามารถโค่นแชมป์และจะกลายเป็นสนามบินที่มีผู้โดยสารมากที่สุดในโลกในปี 2022

การออกแบบและให้บริการ

สนามบินต้าชิงถูกออกแบบโดยสถาปนิกหญิงชื่อดังของโลก ซาฮา ฮาดิด ชาวอิรัก-อังกฤษ มีรางวัลพริตซ์เกอร์ (รางวัลที่มอบให้สถาปนิกของโลก)เป็นเครื่องการันตี ในปี 2004 และได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน 100 บุคคลที่มีอิทธิพลในหมวดหมู่นักคิดจากนิตยสารไทม์ในปี ค.ศ. 2010 แต่เธอเสียชีวิตแบบกะทันหันในวันที่ 31 มีนาคม ปี 2016 ด้วยวัยเพียง 65 ปี  สนามบินแห่งนี้เธอออกแบบร่วมกับสถาปนิกชาวจีน มีแนวคิดสร้างเพื่ออนาคต ประกอบไปด้วย 4 รันเวย์ และตัวอาคารผู้โดยสารที่มีขนาดเท่ากับสนามบอล 97 สนาม พร้อมที่จะเปิดในเฟสแรกเท่านั้น และยังมีหุ่นยนต์ที่ให้บริการผู้โดยสารทั้งข้อมูลการเดินทางและรายละเอียดของสนามบิน มีเป้าหมายรองรับผู้โดยสารมากถึง 72 ล้านคน และขนส่งสินค้าที่มากถึง 2 ล้านตันภายในปี 2025  อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงแค่เริ่มต้นเท่านั้น ความตั้งใจจริงของจีนต้องการสร้างมากถึง 7 รันเวย์ เพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้มากถึง 100 ล้านคน และขนส่งสินค้าได้มากถึง 4 ล้านตัน/ปี

ซาฮา ฮาดิด สถาปนิกหญิงชาวอิรัก-อังกฤษผู้ออกแบบสนามบิน

การก่อสร้าง

สนามบินต้าชิงเริ่มก่อนสร้างในปี 2014 งบลงทุน 1.15 หมื่นล้านเหรียญฯ ใช้แรงงานมากถึง 4หมื่นคน ตัวอาคารผู้โดยสารถูกออกแบบลายเส้นซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของสถาปนิกหญิงคนนี้ พร้อมๆกับความตั้งใจใช้แสงจากธรรมชาติ โดยการติดตั้งแผ่นกระจกบนหลังคามากกว่า 8 พันจุด

“ปลาดาว” หรือ “สตาร์ฟิช” เป็นชื่อเล่นที่ถูกตั้งขึ้นกับสนามบินแห่งนี้ แต่จีนบอกว่านี่คือนกฟินิกส์ที่เป็นอมตะ สามารถมองเห็นได้เมื่ออยุ่บนท้องฟ้า มีหลุมจอดเครื่องบินที่แยกออกไปเป็น 5 แฉก และมาบรรจบรวมกันที่โถงกลาง  ความตั้งใจของสนามบินแห่งนี้คือต้องการลดระยะเวลาการเดินทางของผู้โดยสาร จากที่ผ่านมามักมีเสียงบ่นเมื่อผู้โดยสารเดินทางในสนามบินใหญ่ๆของโลกและเสียเวลาไปกับการเดินจากหลุมจอดหนึ่งไปยังอีกหลุมจอดหนึ่ง โดยสนามบินต้าชิงให้ความมั่นใจกับผู้โดยสารว่าจากจุดตรวจสัมภาระไปถึงประตูขึ้นเครื่องจะไม่ไกลเกินกว่า 600 เมตร และใช้เวลาเดินเพียงแค่ 8 นาทีเท่านั้น      

ส่วนสถานที่ตั้งของสนามบินแห่งนี้  ห่างออกไปทางใต้ของกรุงปักกิ่ง 50 กิโลเมตร และออกจากพื้นที่ย่านธุรกิจทั้งทางเหนือและตะวันออกของปักกิ่ง ซึ่งเป็นการวางแผนมาเพื่อให้ผู้ที่ใช้สนามบินไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาการจราจร รัฐบาลปักกิ่งเผยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นมากกว่าสนามบิน แต่จะเป็นการรวมศูนย์ของการคมนาคมขนส่ง โดยจะเห็นรถไฟความเร็วสูง 160 กม./ชม. ให้บริการระหว่างเมือง รวมถึงการเดินทางจากเมืองมาสนามบิน โดยสถานีจะจอดใต้ตัวอาคารผู้โดยสาร และใช้เวลาจากเมืองมาที่สนามบินไม่เกิน 20 นาที   

การออกแบบรันเวย์จะทำให้เกิดไฟล์ทล่าช้าน้อยลง เมื่อเทียบกับสนามบินปักกิ่งที่อาจจะถือได้ว่ามีมาตรฐานในเรื่องนี้เกือบจะต่ำกว่าเส้นมาตรฐาน รวมถึงที่ตั้งของต้าชิงจะทำให้สายการบินไม่ต้องบินอ้อมจากเขตห้ามบินเหมือนสนามบินปักกิ่ง  

ที่ตั้งของสนามบิน

สายการบิน

เบื้องต้นสายการบินของจีน 3 สายหลัก ไชนา เซาท์เทิร์น ไชนา อีสเทิร์น จะมีเที่ยวบินประมาณ 40% ผ่านสนามบินแห่งนี้  ย้ายจากสนามบินปักกิ่งมาที่สนามบินต้าชิงโดยคำสั่งของรัฐบาลจีน รวมถึงสายการบินพันธมิตรอย่าง เดลต้า โคเรียน แอร์ฟราน เคเอ็มแอล จะทยอยให้บริการเป็นลำดับ  

นอกจากนี้ยังมีแอร์ไชนาสายการบินแห่งชาติที่เตรียมย้ายมาทำการที่ต้าชิงประมาณ 10 % แม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มของสตาร์อลิอันซ์ ขณะที่สนามบินประกาศว่าภายในปีหน้าสนามบินแห่งนี้จะให้บริการครอบคลุมจุดกมายปลายทางที่มากถึง 112 แห่งทั่วโลก