‘บีโอไอ’จ่อ ปรับสิทธิประโยชน์ใหม่ ส่งเสริมทุน SMEs ต้อนรับปี63

05 ก.ย. 2562 | 07:10 น.

บีโอไอเตรียมปรับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมเอสเอ็มอี หลังมาตรการปัจจุบันหมดอายุลงในสิ้นปีนี้ ล่าสุดเดินสายหารือหน่วยงานภาครัฐ-เอกชนและผู้ประกอบการ หลังโด๊ปยาแรงหนุน SMEs 7 เรื่องสำคัญ ชี้ที่ผ่านมาทุน SMEs กระจุกตัวภาคกลางมากสุด

      แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ล่าสุดบีโอไอกำลังจะปรับ ในเชิงของพื้นที่ให้การส่งเสริมเอสเอ็มอี ที่กำลังจะหมดอายุลงในปลายปี 2562 ที่บีโอไอให้การส่งเสริม ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนมาตรการเหล่านี้  ช่วงนี้บีโอไอต้องหารือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนและผู้ประกอบการเพื่อจะปรับ และดูว่าต้องการอะไรเพื่อมาออกแบบมาตรการใหม่รองรับ และดูให้เหมาะสมและให้เป็นประโยชน์กับเอสเอ็มอีมากขึ้น   

      นอกจากนี้มิติในเชิงพื้นที่ ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายพิเศษเชิงพื้นที่  เช่น อีอีซี กับ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัด  ก็จะไปดูว่าจะทำอย่างไรให้เอสเอ็มอี ในพื้นที่เหล่านี้ได้รับประโยชน์จากนโยบายพัฒนาพื้นที่ของรัฐบาล ซึ่งการพิจารณาจะคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ในการมาปรับปรุงการให้การส่งเสริมใหม่ในพื้นที่อีอีซีและในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัด เหล่านี้จะต้องเร่งดู ควบคู่กับมาตรการอีอีซีเดิม ที่จะสิ้นสุดลงในปลายปีนี้ และมาตรการอีอีซีทั้งชุดจะสิ้นสุดลง บีโอไอจะต้องคุยกับทางอีอีซี และต้องคำนึงถึงเอสเอ็มอีในพื้นที่ให้มากขึ้นว่าสิทธิประโยชน์ในปี 2563 ควรจะเป็นอย่างไร 

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้สอบถามไปยัง นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนหารือร่วมกันทุกฝ่าย คาดว่าน่าจะประกาศได้ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้

‘บีโอไอ’จ่อ ปรับสิทธิประโยชน์ใหม่  ส่งเสริมทุน SMEs ต้อนรับปี63

       รองเลขาธิการบีโอไอกล่าวว่านับตั้งแต่บีโอไอประกาศใช้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่เมื่อปี 2558 จนถึงเดือนมิถุนายน 2562 มีโครงการขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 51% และมีมูลค่าเงินลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท มายื่นขอรับการส่งเสริมจำนวนมากถึง 2,118 โครงการ คิดเป็นสัดส่วน 33% ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด และมีเงินลงทุนรวมกันทั้งสิ้น 97,896 ล้านบาท  ส่วนใหญ่เป็นกิจการด้านดิจิทัล เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ การให้บริการด้านดิจิทัล และอี-คอมเมิร์ซ รองลงมาเป็นกิจการแปรรูปสินค้าเกษตร การผลิตอาหารและเครื่องดื่มจากพืชผักผลไม้ กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และกิจการกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์โลหะ เป็นต้น

ปัจจุบันบีโอไอให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย ที่ได้ดำเนินการไปแล้วมีอยู่ 7 เรื่องสำคัญคือ 1.มาตรการด้านสิทธิประโยชน์ บีโอไอกำหนดเงินลงทุนขั้นตํ่าสำหรับการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพียง 1 ล้านบาท มาตั้งแต่ปี 2536 เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถขอรับการส่งเสริมได้ อีกทั้งยังได้ออกมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริม SMEs ไทยตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา โดยได้มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์เป็นระยะๆ มาตรการปัจจุบันได้ผ่อนปรนเงื่อนไขจากเกณฑ์ปกติสำหรับ SMEs ไทย เช่น ลดเงินลงทุนขั้นตํ่าจาก 1 ล้านบาท เหลือเพียง 5 แสนบาท และอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วในประเทศได้บางส่วน รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อเป็นแต้มต่อให้กับ SMEs ไทย โดยการเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าของเกณฑ์ทั่วไป (200% ของเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)

“มาตรการนี้จะสิ้นสุดในช่วงปลายปีนี้ ในช่วงเวลาที่เหลือ บีโอไอจะหารือกับทั้งผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกแบบมาตรการส่งเสริม SMEs ในระยะต่อไปให้จูงใจและตรงกับความต้องการของ SMEs มากขึ้น”

2.กระตุ้นให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) เพื่อระดมทุนไปพัฒนาศักยภาพและขยายกิจการ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากการเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าของเกณฑ์ทั่วไป 

3. ยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ที่ดำเนินการอยู่เดิม ให้เป็น Smart SMEs ผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตใน 4 กลุ่ม คือ (1) การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (2) การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น นำหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ หรือระบบดิจิทัลมาปรับปรุงกระบวนการผลิต  (3) การวิจัยและพัฒนา หรือออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ และ (4) การยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่มาตรฐานระดับสากล โดยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ของกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิมเป็นเวลา 3 ปี ในวงเงินไม่เกิน 50% ของเงินลงทุนในการปรับปรุง 

4. ส่งเสริมให้พี่ช่วยน้อง ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยรายเล็ก โดยมีทั้งการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับกิจการที่ช่วยพัฒนา Local Suppliers ที่ส่วนใหญ่เป็น SMEs ไทย และการกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก โดยสนับสนุนให้นำผลผลิตทางการเกษตรหรือวัตถุดิบในท้องถิ่นมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนหรือร่วมดำเนินการกับสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

‘บีโอไอ’จ่อ ปรับสิทธิประโยชน์ใหม่  ส่งเสริมทุน SMEs ต้อนรับปี63

 

5. เชื่อมโยงผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนกับผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปต่างชาติ เพื่อช่วยลดการนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากต่างประเทศ และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทย รวมถึงก่อให้เกิดการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี โดยบีโอไอได้จัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมตลาดกลางซื้อขายชิ้นส่วน กิจกรรมผู้ซื้อพบผู้ขาย งานแสดงสินค้าสำหรับอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตไทย Subcon Thailand รวมทั้งการพาผู้ผลิต
ชิ้นส่วนไทยไปออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ โดยในปี 2561 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 2,300 ราย และก่อให้เกิดมูลค่าการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมถึงกว่า 70,000 ล้านบาท

6.  สร้างองค์ความรู้และเครือข่ายให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยในปี 2561 ได้จัดสัมมนาให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อ SMEs จำนวน 23 ครั้งทั่วประเทศ มีผู้เข้าร่วมกว่า 2,400 คน นอกจากนี้ยังมีการจัดคณะพา SMEs ไปศึกษาดูงานกิจการที่ประสบความสำเร็จ เปิดมุมมองใหม่ๆ ด้านการบริหารจัดการธุรกิจและเทคโนโลยีการผลิต สำรวจโอกาสการลงทุน และสร้างเครือข่ายกับนักธุรกิจท้องถิ่นตามภูมิภาคต่างๆ โดยในปี 2561 มีการจัดกิจกรรมในประเทศ 15 ครั้ง และต่างประเทศ 7 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมกว่า 250 คน รวมทั้งมีการจัดฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนานักลงทุนไทยในต่างประเทศ 

7. ทำให้ SMEs สามารถเข้าถึงบีโอไอได้ง่ายขึ้น และสามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยได้เริ่มจัดตั้งศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภูมิภาคแห่งแรกเมื่อปี 2531 ปัจจุบันบีโอไอมีศูนย์ภูมิภาคทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ 2 แห่ง (เชียงใหม่ และพิษณุโลก) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง (นครราชสีมา และขอนแก่น)  ภาคตะวันออก 1 แห่ง (ชลบุรี)  และภาคใต้ 2 แห่ง (สงขลา และสุราษฎร์ธานี) ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ จัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน และบริการอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ในพื้นที่ที่ดูแล

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3502 วันที่ 5-7 กันยายน 2562

‘บีโอไอ’จ่อ ปรับสิทธิประโยชน์ใหม่  ส่งเสริมทุน SMEs ต้อนรับปี63