5G กำลังจะพลิกโฉมการให้บริการด้านสาธารณสุข

31 ส.ค. 2562 | 23:51 น.

บทความพิเศษ

พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

อดีตรองประธาน กสทช. และในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย

   การเข้าถึงการรักษาโรคในอดีตที่เคยมีทางเลือกเพียงทางเดียว คือเมื่อป่วยก็ต้องเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิคเพื่อทำการรักษา แต่สำหรับผู้คนในพื้นที่ชนบทห่างไกล การพบแพทย์ที่อยู่ห่างไกลออกไป อาจเป็นไปไม่ได้หรืออาจต้องใช้เวลานานในการเดินทาง ดังนั้นการเกิดขึ้นของ Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกลด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมไปถึงระบบตรวจสอบติดตามผู้ป่วยจากระยะไกล จึงสร้างโอกาสการเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม และสามารถลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ทำให้ผู้ป่วยสามารถได้รับการดูแลจากจากโรงพยาบาลใกล้บ้าน และในที่สุดจะสามารถดูแลโดยตรงถึงบ้านผู้ป่วยได้เลยโดยแพทย์สามารถให้คำแนะนำผ่านวิดีโอเรียลไทม์และแม้แต่การขอใบสั่งยาจากแพทย์ได้และนำส่งยาถึงบ้านได้เลย

    อย่างไรก็ตามระบบการแพทย์ทางไกลด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Telemedicine) มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาไปสู่เทคโนโลยี 5G ด้วยการใช้อุปกรณ์วิเคราะห์ภาพความละเอียดสูง ดังนั้นจึงต้องส่งข้อมูลด้วยความเร็วในระดับกิกะบิทต่อวินาที (Gbps) อีกทั้งเนื่องจากการใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจำนวนข้อมูลบนเครือข่ายจะเพิ่มมากอย่างมหาศาลด้วย ดังนั้นการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาความท้าทายเหล่านี้ โดย 5G สามารถช่วยให้องค์กรด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลกสามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในด้านการให้บริการสาธารณสุข ดังต่อไปนี้ 

   1. สามารถส่งข้อมูลขนาดใหญ่ได้และวิเคราะห์วินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว

   การวิเคราะห์ MRI และภาพที่ได้จากการสแกนอื่นๆ มักเป็นข้อมูลมีขนาดใหญ่มากและมักจะต้องส่งไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบวินิจฉัย หากเครือข่ายมีแบนด์วิดท์ต่ำ การส่งไฟล์ใหญ่ๆอาจใช้เวลานานหรือไม่สามารถส่งได้สำเร็จ ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยจะต้องรอการรักษานานขึ้นและผู้ให้บริการอาจให้บริการผู้ป่วยได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายโดยใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G จึงจะทำให้การรับส่งข้อมูลทางการแพทย์ขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วและน่าเชื่อถือ ซึ่งจะสามารถปรับปรุงในเรื่องของการเข้าถึงและคุณภาพของการดูแลรักษาได้

    2. 5G กำลังผลักดันให้ธุรกิจเกี่ยวกับ Telemedicine เติบโตแบบก้าวกระโดด

    จากการศึกษาของ Market Research Future คาดว่าตลาด Telemedicine จะเติบโตขึ้น 16.5% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2017 ถึงปี 2023 โดยการศึกษาระบุว่าเหตุผลของการเพิ่มขึ้นก็คือในพื้นที่ชนบทที่มีความต้องการในการดูแลสุขภาพเช่นกัน ซึ่งเป็นไปตามแนวความคิดของรัฐบาลเกือบทุกประเทศทั่วโลก ซึ่ง Telemedicine ต้องการเครือข่ายที่สามารถรองรับวิดีโอคุณภาพสูงแบบเรียลไทม์ ดังนั้นการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G จะทำให้ระบบการดูแลสุขภาพทำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งโดยอาศัยเครือข่าย IoT ที่สามารถติดตามอุปกรณ์การวัดชีพจร อุปกรณ์วัดความดัน อุปกรณ์วัดวิเคราะห์ผลเลือด เป็นต้น  ดังนั้นเมื่อระบบการดูแลสุขภาพนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและสามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทำงานร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

 3. การใช้ AR, VR ทำให้การบริการ Telemedicine สมบูรณ์แบบ

   เทคโนโลยี Augmented Reality (AR), Virtual Reality (VR) ถูกนำมาใช้ในการบริการสาธารณสุขด้วยการสื่อสารเสมือนจริงที่คล้ายกับแพทย์และผู้ป่วยนั่งอยู่ด้วยกัน ทั้งๆ ที่อยู่ห่างกันเป็นร้อยกิโลเมตร แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ยังไม่สามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธภาพเท่าที่ควร แต่ในที่สุดเทคโนโลยี 5G ก็จะเข้ามาทำให้ AR, VR และการคำนวณมีประสิทธภาพมากขึ้น อีกทั้งยังอาจเพิ่มความสามารถของแพทย์ในการวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ได้ โดย 5G จะทำให้เหมือนมีห้องแล็บการแพทย์บนมือผู้ป่วยและบนมือแพทย์ที่เชื่อมโยงกัน ผ่านระบบ AR, VR จึงทำให้ในอนาคตอันใกล้ผู้ป่วยอาจจะไม่ต้องเดินทางไปพบแพทย์โดยไม่จำเป็นอีกต่อไป

   4. การติดตามผู้ป่วยจากระยะไกลแบบเรียลไทม์ตลอดเวลากำลังจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

   การใช้อุปกรณ์ IoT ทำให้ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพสามารถทำการมอนิเตอร์ เพื่อตรวจสอบติดตามอาการผู้ป่วยและรวบรวมข้อมูลที่สามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงการดูแลส่วนบุคคลและการป้องกัน การศึกษาของ Anthem รายงานว่า 86% ของแพทย์ระบุว่าอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้เป็นอุปกรณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในการมอนิเตอร์ผู้ป่วย และยังเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพของพวกเขาเองอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้จะสามารถลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลลง 16% ในอีกห้าปีข้างหน้า  อย่างไรก็ตาม แม้การใช้เทคโนโลยีสำหรับการมอนิเตอร์ระยะไกลจะมีประโยชน์อย่างมาก แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้วยความสามารถของเครือข่ายในการจัดการข้อมูล เนื่องจากความเร็วของเครือข่ายยังไม่ดีพอและการเชื่อมต่อที่ยังไม่น่าเชื่อถือ ที่อาจทำให้แพทย์ไม่สามารถรับข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและทันเวลา ดังนั้นการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ จะทำให้แพทย์สามารถมอนิเตอร์ผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น ทั้งผู้ป่วยและแพทย์จะสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับข้อมูลตามที่ต้องการได้แบบเรียลไทม์และแพทย์จะสามารถให้การดูแลรักษาตามความต้องการและความคาดหวังของผู้ป่วย เนื่องจาก 5G จะมีความหน่วงเวลาที่ต่ำมากและประสิทธิภาพการวิเคราะห์ที่สูงขึ้นอย่างมาก

 

5. ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเกิดขึ้นชัดเจนในยุค 5G และจะเป็นสมองของการแพทย์และ Telemedicine

     ระบบสาธารณสุขทั่วโลกเริ่มนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ เพื่อการวินิจฉัยและตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างที่ AI สามารถช่วยคาดการณ์ว่าผู้ป่วยรายใดมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ได้อีกด้วย ซึ่งในยุค 5G จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการแพทย์ได้ทั่วโลก และมีการประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน วิเคราะห์ข้อมูลด้านการแพทย์ทั่วโลก จนสามารถค้นพบคำตอบในการรักษาโรคต่างๆ ที่ไม่เคยสามารถตอบได้ในอดีตได้อย่างรวดเร็วด้วย AI และทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้อย่างง่ายดาย

5G กำลังจะพลิกโฉมการให้บริการด้านสาธารณสุข