พิษเทรดวอร์เขย่าฐานที่มั่น!!! อิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์ไทยเสียหลัก

31 ส.ค. 2562 | 09:04 น.

 

 

      สงครามการค้าระหว่าง 2 พี่เบิ้มจีน-อเมริกากลายเป็นปัญหาที่ลุกลามไปทั่วโลก  ยิ่งยืดเยื้อ ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศ จากผลกระทบที่เชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ พาสะเทือนลงไปถึงภาคการผลิตทั้งระบบ  และฐานการผลิตไทยในเวลานี้หลายกลุ่มอุตสาหกรรมอยู่ในสถานะต้องจับตา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ถูกมองว่าเป็นเครื่องยนต์หรือตัวเร่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย  อย่างอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงอยู่ในลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นที่ส่งออก 

 

-มูลค่าส่งออกติดลบ  

    จากผลกระทบจากสงครามการค้าหนนี้ สะท้อนให้เห็นว่าสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มส่งสัญญาณส่งออกติดลบต่อเนื่อง ดูจากหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าส่งออก 7 เดือนแรกปีที่แล้วอยู่ที่ 455,062.1 ล้านบาท  ช่วงเดียวกันปีนี้ลดลงมาอยู่ที่ 452,398.3 ล้านบาท ส่วนหมวดอิเล็กทรอนิกส์ช่วง 7 เดือนแรกปีก่อน มีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 707,395.5 ล้านบาท  ช่วงเดียวกันปีนี้มูลค่าส่งออกร่วงลงมาอยู่ที่ 635,306.3 ล้านบาท และเมื่อลงไปเจาะรายสินค้าพบว่าส่วนใหญ่เกือบทุกรายการในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่าส่งออกติดลบ โดยตลาดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าฯที่ส่งไปจีน เวียดนาม ขยายตัวลดลง และตลาดส่งออกหลักของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ไปอเมริกา ฮ่องกง  และจีน ก็ขยายตัวลดลงเช่นกัน

 พิษเทรดวอร์เขย่าฐานที่มั่น!!!  อิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์ไทยเสียหลัก  

    นางกนิษฐ์  เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ถึงแม้ว่าภาวะการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะมีแนวโน้มลดลง จากภาวะตลาดโลกที่ชะลอตัว, ปัญหาเทรดวอร์ และความไม่แน่นอนในการสั่งซื้อของตลาดโลก ฯลฯ แต่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และส.อ.ท.ก็ต้องสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อรับกับการค้าที่อยู่บนโจทย์ที่ยากขึ้น

 พิษเทรดวอร์เขย่าฐานที่มั่น!!!  อิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์ไทยเสียหลัก

-ค่ายรถส่งสัญญาณแล้ว

      เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ปี 2561 พบว่าฐานการผลิตไทยเป็นผู้ผลิตยานยนต์ที่มียอดการผลิตอยู่ในลำดับที่ 10 ของโลก ด้วยยอดผลิตที่ 2.16 ล้านคัน เหนือแคนาดา รัสเซีย และอังกฤษ นับจากที่ทุนข้ามชาติแห่เข้ามายึดฐานการผลิตไทยผลิตเพื่อส่งออกและขายในประเทศ จนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยเฟื่องฟูต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีนโยบายพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ดบูมสุดขีด  แต่สงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ยืดเยื้อนานและนับวันจะจบยาก กำลังเขย่าฐานการผลิตยานยนต์ไทยสะเทือนและเสียหลักได้

 พิษเทรดวอร์เขย่าฐานที่มั่น!!!  อิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์ไทยเสียหลัก

      สัญญาณเตือนเริ่มปรากฏมาเป็นระยะ และยิ่งเห็นชัดเจนขึ้น เริ่มจากที่ค่ายรถยนต์ “มิตซูบิชิ”  ปฎิบัติการภายใน ประกาศโครงการเออรี่ รีไทล์ โดยออกประกาศตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2562 ให้พนักงาน ที่สนใจเข้าโครงการ ยื่นเจตจำนงเข้ามาภายในเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา   ค่ายนี้มีโรงงาน 2 แห่งในนิคมอุตสาหกรรมโซนภาคตะวันออก มีพนักงานกว่า 1,400 คน 

 

       ดูจากรายละเอียดตามประกาศแบ่งการเออรี่ รีไทล์  ออกเป็น 2 ส่วน คือ  ส่วนแรก พิจารณาจากอายุงาน และพิจารณาจากอายุพนักงาน ได้รับชดเชยน่าจูงใจตั้งแต่เงินชดเชย 16.5 เดือน ไปจนถึง 27.34  เดือน  รีบปรับตัวรับมือหลังจากที่การส่งออกรถปิกอัพเริ่มชะลอตัว สงครามการค้าจีนอเมริกาส่งผลให้รถปิกอัพขนาด 1 ตันของมิตซูบิชิไปยังตลาดยุโรปชะลอตัว

 

      ตามมาติดๆเจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือ จีเอ็ม  ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอเมริกัน ซึ่งมีปัญหาต่อเนื่องมาตลอด 2 ปี ส่งผลทำให้ยอดขายไม่ได้ตามเป้า มีต้นทุนต่อหน่วยสูงขึ้น การผลิตบางส่วนจำต้องย้ายไปประกอบที่เวียดนามแทน ในขณะที่โรงงานในไทยค่อยๆลดบทบาทลง  กระทั่งมาสู่การเดินแผนลดคนงานในสายการผลิตที่โรงงานจังหวัดระยอง ประกาศเลิกจ้างพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราวกว่า 300 คน  ล่าสุดจีเอ็มรีบออกมาชี้แจงตามแถลงการณ์ว่ายังคงดำเนินธุรกิจในประเทศไทยต่อไป ส่วนการปรับลดคนนั้นเป็นการปรับองค์กรให้เหมาะสมกับสภาพตลาดในปัจจุบันและยังคงเดินหน้าการทำตลาดในประเทศเช่นเดิม

 

ไม่เว้นแม้แต่ยักษ์ใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดในประเทศนำอย่าง“โตโยต้า”ก็มีเสียงแว่วว่าภาพรวมส่งออกไปตลาดเม็กซิโกหายวับไปกับตานับหมื่นคันด้วยพิษเทรดวอร์

 

-เทรดวอร์ทุบดีมานด์โลกปั่นป่วน

    คงต้องรับสภาพไปทุกค่าย เพราะปัจจุบันฐานการผลิตยานยนต์ในประเทศไทยส่วนใหญ่พึ่งพาตลาดส่งออกมากกว่าขายภายในประเทศ  เชื่อว่าโค้งท้ายปีนี้กำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศที่ตั้งเป้าไว้ว่าทั้งปี 2562 จะมีกำลังการผลิตรวมที่ 2.15 ล้านคัน แบ่งเป็นขายในประเทศ 1.05 ล้านคัน และส่งออก 1.10 ล้านคันนั้นไม่ง่าย โดยเฉพาะตัวเลขส่งออก หากยังต้องรับแรงกระแทกจากเทรดวอร์ต่อไปแบบนี้      เพราะไม่เพียงแต่กระทบฐานที่มั่นการผลิตยานยนต์ของไทย  แต่การที่ 2 ประเทศมหาอำนาจออกมาระเบิดศึกกันแบบนี้ ได้ทุบดีมานด์โลกในอุตสาหกรรมยานยนต์ปั่นป่วนแล้ว

        ล่าสุดผู้ผลิตรายใหญ่อย่างจีนที่มีขนาดกำลังผลิตยานยนต์รวมต่อปี 25 ล้านคัน เมื่อโฟกัสเฉพาะครึ่งปีแรกยอดการผลิตรวมร่วงลงแล้ว 12%  เช่นเดียวกับอินเดียที่มียอดการผลิต 5 ล้านคันต่อปี ครึ่งปีแรกยอดการผลิตร่วงลงแล้วราว 20%

 

      ไทยและโลกต้องยืนอยู่บนความเสี่ยง  หลายอุตสาหกรรมยังต้องลุ้นว่าโค้งสุดท้ายปี 2562 นี้ ภาพรวมสินค้าส่งออกสำคัญของไทยจะเป็นเช่นไร  โดยเฉพาะ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ปี 2561 ส่งออกรวมกัน มีมูลค่า 2,008,948 ล้านบาท ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ มีมูลค่าส่งออกรวมกันอยู่ที่ 927,501 ล้านบาท  ทั้ง 2กลุ่มจะรักษาระดับเดิมไว้ได้หรือไม่!  หรือว่าจะเซ จนเสียหลักยังต้องจับตาต่อไป!

 

คอลัมน์ : Let Me Think
โดย       : TATA007

 พิษเทรดวอร์เขย่าฐานที่มั่น!!!  อิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์ไทยเสียหลัก