เอกชนผวาหนัก หุ้นร่วงกราว หลังมะกัน-จีนโหมไฟเทรดวอร์

24 ส.ค. 2562 | 09:56 น.

สิ้นคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่รัวผ่านทวิตเตอร์ให้บริษัทเอกชนอเมริกันถอนยวงการลงทุนออกจากจีน ไปหาประเทศอื่นๆเป็นทางเลือกใหม่หรือไม่ก็กลับมาผลิตในสหรัฐฯบ้านเกิด พลันหุ้นของบรรดาบริษัทอเมริกันที่มีฐานการผลิตอยู่ในจีนที่เคยได้ชื่อว่าเป็น “โรงงานของโลก” ก็ร่วงลงตามๆกันเมื่อสุดสัปดาห์ (23 ส.ค.) ไม่ว่าจะเป็นหุ้นในกลุ่มสินค้าคอนซูมเมอร์อย่างแอปเปิ้ล ไนกี้ หรือหุ้นกลุ่มสินค้าหนักอย่างเครื่องจักร รถก่อสร้างและการเกษตร “แคทเตอร์พิลลาร์” ไล่ไปจนถึงหุ้นผู้ค้าปลีกอย่างเบสต์บาย โคห์ลส์ และฮันนีเวลล์  รวมความว่าหุ้นของบริษัทที่พึ่งพาซัพพลายเชนและสร้างรายได้ก้อนใหญ่จากจีน ต่างได้รับผลกระทบกันอย่างทั่วหน้าจากสงครามการค้าที่ยกระดับความรุนแรงขึ้นไปอีกขั้นแล้วในเวลานี้

โรงงานของบริษัทเทสล่าในเซี่ยงไฮ้ยังคงอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

ดัชนีหุ้น China Trade Index ที่รวมกลุ่มหุ้นบริษัทอเมริกันที่ทำรายได้จากตลาดจีนและมีการนำเข้าสินค้าจากจีนในสัดส่วนสูง สะท้อนถึงปัญหาที่บริษัทเอกชนอเมริกันกำลังเผชิญเหมือนตัวประกันที่ใจหายใจคว่ำอยู่ท่ามกลางดงลูกปืนที่รัฐบาลจีนและสหรัฐฯกำลังสาดใส่กันในรูปของมาตรการภาษีที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23 ส.ค.) หลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอเมริกันหลากหลายอัตราตั้งแต่ 5-10% มูลค่ารวม 75,000 ล้านดอลลาร์ มีผล 2 รอบคือ 1 ก.ย. และ 15 ธ.ค.นี้ ทั้งยังจะเรียกเก็บภาษีรถยนต์นำเข้า 25% ชิ้นส่วนรถยนต์ 5% เริ่ม 15 ธ.ค.นี้เช่นกัน เพื่อตอบโต้การที่รัฐบาลสหรัฐฯประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน 10% มูลค่ารวม 300,000 ล้านดอลลาร์เริ่มมีผลในวันที่ 1 ก.ย. ผู้นำสหรัฐฯก็เดือดดาลและโต้กลับทันทีด้วยการสั่งดึงทุนสหรัฐฯกลับออกจากจีน พร้อมจะเรียกเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 30% กลุ่มนี้รวมวงเงิน  250,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป กับอีกกลุ่มจะเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 15% เริ่มในวันที่ 1 ก.ย.นี้ รวมวงเงิน 300,000 ล้านดอลลาร์


 

หุ้นแอปเปิ้ลร่วงลงแล้วกว่า 4%

สื่อต่างประเทศระบุว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯมีอำนาจตามกฎหมายที่จะใช้สั่งการบริษัทเอกชนถอนการลงทุนออกจากจีนหรือไม่ ดูเหมือนว่ากระบวนการดังกล่าวจะต้องอาศัยการลงมติรับรองโดยสภาคองเกรสจึงจะสามารถดำเนินการได้ แต่แม้จะยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวหุ้นของบรรดาบริษัทเอกชนเหล่านี้ก็ร่วงลงมาแล้ว เช่นหุ้นแอปเปิ้ลราคาวูบไป 4.6% ส่วนไนกี้และแคทเตอร์พิลลาร์ร่วงไปกว่า 3% เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าความขัดแย้งของภาครัฐจะทำให้บริษัทซื้อขายสินค้ากับจีนได้ยากขึ้นหรือมีอุปสรรคมากขึ้นทางใดทางหนึ่ง

 

การเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯดำเนินมาเป็นเวลากว่าปีแล้ว ทำให้บางบริษัทอเมริกันเริ่มการชะลอการผลิตในจีนและมีแผนโยกย้ายผ่องถ่ายกำลังการผลิตออกไปยังประเทศอื่นๆ เช่นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเวียดนามที่มีพรมแดนติดกับจีนและได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในการเปิดศึกครั้งล่าสุดนี้ การตั้งกำแพงภาษีจะส่งผลกระทบบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมาก เช่น เสื้อผ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ บทวิเคราะห์ของธนาคารเจพี มอร์แกน ระบุว่า บรรดาแบรนด์เนมอเมริกันที่จะได้รับผลกระทบเนื่องจากมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จำนวนมากจากจีนได้แก่ ราล์ฟ ลอเรน, เวิร์ลพูล, เอชพี และอันเดอร์อาร์เมอร์ เป็นต้น เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หุ้นราล์ฟ ลอเรน และเวิร์ลพูลดำดิ่งลงมากกว่า 3% หลังประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศศึกครั้งใหม่กับจีน


 

เจพี มอร์แกน ประมาณการณ์ว่า มาตรการตั้งกำแพงภาษีจะทำให้ครัวเรือนอเมริกันต้องซื้อสินค้าในราคาสูงขึ้น เฉลี่ยแล้วต้องจ่ายเพิ่มครัวเรือนละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี “ความแตกต่างจากภาคการเกษตรก็คือ รัฐบาลอาจจะช่วยแบ่งเบาผลกระทบจากกำแพงภาษีให้กับภาคการเกษตรด้วยการให้เงินอุดหนุน แต่สินค้าอุปโภคบริโภคที่ราคาสูงขึ้นเพราะภาษีนำเข้าสูงขึ้น ไม่มีวิธีการที่จะชดเชยได้ง่ายๆ” รายงานของเจพี มอร์แกนระบุด้วยว่า เนื่องจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯจะมีขึ้นในปีหน้า (2563) ดังนั้น ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในกระเป๋าของผู้บริโภคน่าจะได้รับการคลี่คลายในเร็ววัน ไม่ว่าจะในรูปการปรับลดภาษีลงมาหรือการหาทางเจรจาเพื่อทำข้อตกลงการค้ากับจีน  

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์อเมริกัน ที่กำลังจะพบกับภาษีนำเข้ารถยนต์อัตรา 25% และภาษีชิ้นส่วนประกอบรถยนต์  5% เริ่มมีผลในวันที่ 15 ธ.ค.นี้

มองทางฝั่งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อเมริกัน ที่กำลังจะพบกับภาษีนำเข้ารถยนต์อัตรา 25% และภาษีชิ้นส่วนประกอบรถยนต์  5% เริ่มมีผลในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ บริษัทเทสล่า ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และบริษัท ฟอร์ด มีแนวโน้มจะเป็นบริษัทอเมริกันที่ได้รับแรงกระทบมากที่สุดจากการส่งออกไปยังตลาดจีนที่มีสัดส่วนสูง ขณะที่เจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) มีฐานการผลิตและบริษัทร่วมทุนอยู่ในจีนแล้วจึงได้รับผลกระทบน้อยกว่า ทั้งนี้ เทสล่าเองกำลังลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในเมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งหากเริ่มผลิตในจีนได้เมื่อไหร่ก็จะลดทอนผลกระทบลงไปได้แต่กว่าจะถึงจุดนั้นก็ยังต้องใช้เวลา(ตามเป้าหมายคือก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มการผลิตได้ในสิ้นปี)   

 

สถิติจากบริษัทวิจัย แอลเอ็มซี ออโตโมทีฟ ชี้ว่า นอกจากเทสล่าและฟอร์ดแล้ว รถยนต์ยุโรปที่ผลิตจากโรงงานในสหรัฐฯเพื่อส่งไปขายในตลาดจีน อาทิ บีเอ็มดับเบิลยูและเดมเลอร์ ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของจีนเช่นกัน  ในปีที่ผ่านมา (2561) รถยนต์ที่ผลิตในสหรัฐฯและมีการส่งออกมายังจีนมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 230,000 คัน ในจำนวนนี้เป็นยอดของบีเอ็มดับเบิลยูและเดมเลอร์ (ซึ่งเป็นแบรนด์เยอรมัน) 57% เป็นสัดส่วนของฟอร์ด 20% และเทสล่า 7%  สัดส่วนที่เหลือเป็นของแบรนด์อื่นๆที่ส่วนใหญ่มีฐานผลิตในจีนแล้ว อาทิ จีเอ็ม

 

จอห์น บอสเซลลา ประธานกลุ่มเฉพาะกิจ “Here for America” ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ผลิตรถยนต์อย่างโฟล์คสวาเก้น เดมเลอร์ และบีเอ็มดับเบิลยู รวมอยู่ด้วย ให้ความเห็นว่า แม้จะเป็นแบรนด์เยอรมันแต่ก็ได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทเหล่านี้ผลิตรถยนต์จากโรงงานในสหรัฐฯเพื่อส่งออกมายังตลาดจีน และขณะนี้สงครามการค้าที่เกิดขึ้นก็กำลังสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกัน “ในปี 2560 จีนเคยนำมาตรการภาษีมาใช้กับรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้า ครั้งนั้นยอดส่งออกรถยนต์จากสหรัฐฯหายวูบไป 50% เราปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับแรงงานอเมริกันไม่ได้อีกแล้ว”

 

ท่ามกลางข่าวร้ายเกี่ยวกับสงครามการค้าเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23 ส.ค.) ราคาหุ้นของเทสล่าดำดิ่งลง 4.8% มาปิดที่หุ้นละ 211.40 ดอลลาร์ ขณะที่หุ้นของฟอร์ด ร่วงลง 3% ปิดที่หุ้นละ 8.77 ดอลลาร์