รัฐนาวาล่ม อิตาลีป่วนหลังนายกฯ “จูเซปเป” ลาออก

21 ส.ค. 2562 | 08:46 น.

นายจูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีอิตาลี ประกาศลาออกในวันอังคาร(20ส.ค.2562) หลังแตกคอกับผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลอย่างยากที่จะประสาน โดยเขากล่าวหานายมัตเตโอ ซัลวินี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในประเทศ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคขวาจัด “นอร์ทเธิร์น ลีก” หรือ “เดอะ ลีก”ว่าเป็นตัวการที่ทำให้รัฐบาลผสมพังครืนและทำให้เศรษฐกิจของประเทศอิตาลีตกอยู่ในอันตรายเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ทางการเมืองของนายซัลวินีเอง 

นายจูเซปเป (ยืนกลาง) ประกาศลาออกโดยมีนายซัลวินี คู่ปรับทางการเมืองนั่งฟังอยู่ด้านข้าง (ซ้ายมือของภาพ)

การลาออกของนายจูเซปเปเปิดทางให้ ประธานาธิบดีเซอร์จิโอ แมตตาเรลลา ในฐานะประมุขแห่งรัฐ ปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการกับพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อดูว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมใหม่ขึ้นมาได้หรือไม่ ซึ่งหากทำไม่ได้ ประธานาธิบดีก็จะต้องมีคำสั่งยุบสภาเป็นลำดับถัดไป โดยจะเป็นการยุบสภาก่อนกำหนด 3 ปีครึ่ง และน่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ในฤดูใบไม้ร่วงหรือช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

 

+ความขัดแย้งสุมไฟในรัฐบาลผสม

นักวิเคราะห์มองว่า การตัดสินใจของนายจูเซปเปเป็นการ ‘ชิงลาออก’ ก่อนที่จะมีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในตัวเขาในฐานะผู้นำรัฐนาวา เนื่องจากเขาเองนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่มีฐานเสียงที่แน่นหนา ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีเมื่อเดือนมีนาคม 2561 คะแนนเสียงของ 2 พรรคการเมืองหลักๆ คือ พรรคไฟฟ์สตาร์ มูฟเมนท์ ของนายลุยจิ ดิ มาโย รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และพรรคนอร์ทเธิร์น ลีก ซึ่งเป็นพรรคนิยมขวาจัดของนายมัตเตโอ ซัลวินี (ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อปีที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนชื่อเรียกพรรคเป็น ลีก้า (Lega) ในภาษาอิตาเลียน หรือ เดอะ ลีก (The League)ในภาษาอังกฤษโดยไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อพรรคอย่างเป็นทางการ )ไม่มีฝ่ายใดครองเสียงข้างมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ จึงต้องตั้งรัฐบาลผสม จากนั้นก็มีการเสนอชื่อ ‘คนกลาง’ คือนายจูเซปเป คอนเต ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะรัฐบาลผสม ส่วนหัวหน้าพรรคของทั้งสองพรรคหลักได้ครองเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีร่วมกัน แต่ทั้งสองพรรคก็ยังมีความคิดเห็นไม่ลงรอยกันในหลายๆประเด็น เช่น การผ่านร่างงบประมาณ เศรษฐกิจของอิตาลีที่ยังคงถดถอยที่สุดในสหภาพยุโรป (อียู) นโยบายผู้อพยพ และล่าสุดเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในภาคเหนือ

นายมัตเตโอ ซัลวินี รองนายกฯจากพรรคเดอะลีก

ความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆหลังรัฐบาลจัดตั้งขึ้นมาได้ราว 18 เดือนได้นำไปสู่การที่นายซัลวินี ในฐานะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อการทำงานของนายจูเซปเปเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งในกรณีที่นายจูเซปเปถูกลงมติไม่ไว้วางใจ อิตาลีก็จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45-70 วัน ความล่อแหลมต่อการล่มสลายของรัฐบาลอิตาลีนั้น ไม่ต้องรอถึงการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เพราะนายซัลวินีออกมาระบุเองว่า เพียงแค่รัฐมนตรี 7 คนจากพรรคลีกของเขาซึ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายของนายจูเซปเปลาออก รัฐบาลชุดนี้ก็อยู่ไม่ได้แล้ว

 

+เศรษฐกิจวูบไหว อ่อนวินัยการคลัง

สื่อท้องถิ่นของอิตาลีรายงานว่า ความยุ่งเหยิงทางการเมืองซึ่งก่อให้เกิดความไม่มั่นใจในหมู่นักลงทุน จะสร้างภาระทางการเงินแก่ประเทศราว 5,000 ล้านยูโรในระยะ 2 ปีข้างหน้า ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นมูลค่าดอกเบี้ยที่คำนวณจากหนี้สาธารณะของอิตาลีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ นอกจากกรีซที่มีหนี้สาธารณะมากเป็นอันดับ 1 ในประเทศกลุ่มยูโรโซนแล้ว ก็มีอิตาลีนั่นเอง ที่ตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยมูลค่าหนี้สาธารณะมากกว่า 2.3 ล้านล้านยูโร หรือคิดเป็นสัดส่วน 134% ของจีดีพีของประเทศ

รัฐนาวาล่ม อิตาลีป่วนหลังนายกฯ “จูเซปเป” ลาออก

แม้ว่าอิตาลีจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจบ้างเล็กน้อยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ แต่ไตรมาส2 ก็แทบจะไม่มีการเติบโตเลย นายมัตเตโอ ซัลวินี รองนายกรัฐมนตรีจากพรรคนอร์ทเธิร์นลีก ซึ่งเป็นพรรคการเมืองชาตินิยมขวาจัด ได้พยายามชูนโยบายเศรษฐกิจแบบทุ่มงบไม่อั้น เช่น เขาเคยให้คำมั่นสัญญาว่า ถ้าประชาชนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้วพรรคของเขาได้รับชัยชนะ ก็จะจัดแพ็คเกจงบกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 50,000 ล้านยูโรให้กับประเทศอิตาลี แต่มาตรการในลักษณะนี้ก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้อิตาลีต้องขาดดุลงบประมาณเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากจะว่ากันตามเงื่อนไขของคณะกรรมาธิการยุโรปแล้ว รัฐบาลอิตาลีไม่ควรตั้งเป้าการขาดดุลงบประมาณของปีหน้า ( 2563) เกินระดับ 2.04% ของจีดีพี เมื่อเป็นเช่นนี้ การเดินหน้าใช้มาตรการทุ่มงบกระตุ้นเศรษฐกิจของนายมัตเตโอ ผนวกกับนโยบายลดภาษีเพิ่ม  จึงเป็นนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางควบคุมวินัยทางการคลังของอียู  

 

หลังจากที่มีข่าวการลาออกของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันอังคาร (20 ส.ค.) ดัชนี FTSE MIB ของตลาดหุ้นอิตาลีก็ดิ่งลง 1% นำโดยหุ้นของ 2 ธนาคารใหญ่ของอิตาลีคือ ธนาคาร Ubi Banca และธนาคาร Banco BPM ที่ราคาร่วงลงมากกว่า 2%  

 

การสลับขั้วการเมืองจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาลใหม่ หรือแม้แต่การยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ก็ยังไม่อาจสร้างสเถียรภาพทางเศรษฐกิจให้กับอิตาลีได้  เพราะเห็นได้ชัดเจนว่าหากพรรคนอร์ทเธิร์น ลีกของนายมัตเตโอที่เป็นพรรคเต็งหนึ่ง ได้คะแนนนำมาอีกครั้งและสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียว (โดยนายมัตเตโอพยายามจะให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนตุลาคมนี้ก่อนที่รัฐบาลใหม่จะต้องยื่นเสนอร่างงบประมาณประจำปี)  นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของอิตาลีก็จะไปในแนวที่สร้างความขัดแย้งให้กับอิตาลีกับคณะกรรมาธิการยุโรปที่พยายามจัดระเบียบให้ประเทศสมาชิกมีวินัยทางการคลัง แต่ถ้าพรรคของเขาได้คะแนนเสียงไม่เพียงพอก็จะต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมาอีก แล้วก็พบกับปัญหาที่วนวงจรเดิมๆ เวียนไปไม่รู้จบ