ก.ล.ต.ไฟเขียวส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ระดมทุนเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนได้

02 ส.ค. 2562 | 09:10 น.

ก.ล.ต.เผยมติที่ประชุมเห็นชอบในหลักการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมให้สามารถระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนได้ และเห็นชอบแนวทางกำกับดูแลตลาดตราสารหนี้เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน รวมถึงเห็นชอบแผนการดำเนินงานของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่สอดรับนโยบายหลักในการพัฒนาประเทศของรัฐบาล

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 8/2562 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise : SE) ขายหุ้นแก่ประชาชนได้ โดยจะยกเว้นให้การเสนอขายหุ้นของวิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถกระทำได้เป็นการทั่วไปหรือต่อบุคคลในวงกว้าง เช่นเดียวกับบริษัทประชารัฐ 77 แห่ง ที่ได้เคยได้รับยกเว้นไปให้แล้ว ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้กิจการดังกล่าวสามารถระดมทุน เพื่อใช้ในการดำเนินการเพื่อพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอันเป็นประโยชน์แก่สังคม 

สำหรับพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. วิสาหกิจเพื่อสังคมฯ) ได้มีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562  ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการระดมทุนของกิจการที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งเป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน แก้ไขพัฒนาชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม หรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนร่วมอื่น หรือคืนประโยชน์แก่สังคม โดยนำผลกำไรไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวและแบ่งกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่เกินร้อยละสามสิบของผลกำไรทั้งหมด ก.ล.ต. จึงมีแนวทางที่จะยกเว้นให้การเสนอขายหุ้นของวิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถทำได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากสำนักงาน ทั้งนี้ สำนักงานจะเสนอแนวทางการยกเว้นดังกล่าวต่อคณะกรรมการกำกับตลาดทุนเพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2562 ผู้ประกอบการที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม นอกเหนือจากบริษัทประชารัฐฯ มีจำนวน 29 บริษัท

ขณะเดียวกัน ได้เห็นชอบแนวทางกำกับดูแลตลาดตราสารหนี้ โดยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล และลดจุดเปราะบางในระบบนิเวศ โดยคำนึงถึงความสามารถในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางระดมทุนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ โดยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนเติบโตเกือบ 3 เท่า แต่ยังมีบางประเด็นที่ ก.ล.ต. ต้องเพิ่มการกำกับดูแล อาทิ ปรับประเภทผู้ลงทุนที่จะเข้าถึงช่องทางการเสนอขายวงจำกัดไม่เกิน 10 ราย ซึ่งไม่มีการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (filing) ขาดข้อมูลสำคัญเพื่อตัดสินใจและถูกใช้เป็นช่องทางหลักในการขายตราสารเสี่ยงสู่ผู้ลงทุน

นอกจากนี้ ยังเพิ่มการติดตามผู้ออก โดยเฉพาะตราสารที่มีความเสี่ยงด้านฐานะทางการเงิน จะกำหนดให้มีการอธิบายความเสี่ยงความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงให้ตัวกลางขายตราสารหนี้ใช้ความระมัดระวังในการทำหน้าที่, กำกับดูแลเพื่อยกระดับคุณภาพตัวกลางที่เกี่ยวข้องทั้งระบบเพื่อให้ข้อมูลที่ผู้ลงทุนได้รับถูกต้องเพียงพอเข้าใจได้ เช่น เพิ่มรอบการส่งงบการเงิน มาตรฐานการขายและการดูแลกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มคุณภาพข้อมูลประกอบการตัดสินใจ โดยปรับหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของตราสารหนี้ (factsheet) และผลักดันให้มีเครื่องมือ (tool/application) ที่เข้าใจง่าย สามารถเปรียบเทียบข้อมูลตราสาร, เพิ่มกลไกจัดการเมื่อเกิดการผิดนัดชำระหนี้ เช่น กำหนดระยะเวลาชัดเจนที่ผู้ออกตราสารหนี้ และนายทะเบียนหลักทรัพย์ต้องรายงานการผิดนัดชำระหนี้ พิจารณาแนวทางให้ความรู้ผู้ลงทุนในการรักษาสิทธิ ดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหาย รวมถึงการฟ้องร้องบังคับคดี ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะพิจารณาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นโดยจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านและให้ระยะเวลาในการปรับตัว

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังมีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่สอดรับกับคำแถลงนโยบายหลัก 12 ด้านของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งและมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดย ก.ล.ต. มีแนวทางการดำเนินการหลัก 6 ด้าน ได้แก่ 1) ส่งเสริมการเข้าถึงทุนของกิจการทุกระดับ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจเพื่อชุมชนและสังคม เป็นต้น 2) การปฏิรูปการออมและสนับสนุนการลงทุนระยะยาว เพื่อตอบโจทย์สังคมอายุยืน 3) การปฏิรูปรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีช่วยให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างมั่นใจ 4) ตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน โดยใช้กลไกตลาดทุนสนับสนุนให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามองค์การสหประชาชาติ 5) ความสามารถในการแข่งขันในเวทีต่างประเทศ เพื่อให้ตลาดทุนไทยสามารถดึงดูดเงินลงทุนระยะยาวจากผู้ลงทุนทั่วโลก และ 6) การคุ้มครองผู้ลงทุน และการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อตลาดทุนมากยิ่งขึ้น โดยสำนักงานจะนำแนวทางดังกล่าวไปกำหนดกรอบในการจัดยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม