บี้สอบ‘ไลน์’ PwCชี้ญี่ปุ่นคุม-ส่อนอมินีต่างด้าว

28 ก.ค. 2562 | 02:30 น.

 

นักการเงินจี้ตรวจสอบไลน์ส่อนอมินี พบคนไทยถือหุ้นใหญ่ 50.02% แต่ไม่มีอำนาจบริหาร รายงานผู้ตรวจสอบบัญชี PWC ระบุบริษัทแม่ประเทศญี่ปุ่นมีอํานาจควบ คุมสูงสุด นักวิชาการหวั่นคนไทยหมดอำนาจต่อรอง

Line บริษัททางด้านเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้ใช้บริการในประเทศไทย 44 ล้านรายหรือประมาณ 78% ของจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือทั้งหมดในประเทศไทย ยังคงเดินเกมรุกขยายของเขตการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง นอกจากการเป็นแอพพลิเคชันการสื่อสารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแล้ว ยังมีบริการที่ครอบคลุมและครบวงจร อาทิ LINE PLAY, LINE TODAY, LINE MAN, LINE JOBS รวมถึงบริการยอดนิยม อาทิ LINE Stickers, Rabbit LINE Pay และ LINE Biz-Solution รวมถึง LINE TV

ขณะที่ผู้ประกอบการไทยเห็นว่าการที่ผู้ประกอบการจากต่างประเทศสามารถขยายธุรกิจในประเทศข้ามประเทศ และขยายจากธุรกิจหนึ่งไปอีกอุตสาหกรรม หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องกำหนดกติกาให้มีความเป็นธรรมและเหมาะสม คำนึงถึงผลได้ผลเสีย โดยประเทศไม่เสียเปรียบ ที่สำคัญต้องกำกับการดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายไทยกำหนด เมื่อบริษัทมีกำไรก็ต้องมีนโยบายให้เงินดังกล่าวหมุนเวียนอยู่ในประเทศเพื่อเกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ

 

ต่างชาติคุมอำนาจบริษัท

แหล่งข่าวจากวงการเงินเรียกร้องให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ควรเข้าไปตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ ไลน์ที่ประกอบธุรกิจในไทยภายใต้ชื่อบริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ว่าเป็นไปตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือไม่ เพราะจากการตรวจสอบเอกสารการจดทะเบียนบริษัทพบว่า แม้ว่าบริษัทจะมีคนไทย 2 คนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 2,001 หุ้น มูลค่าการลงทุน 10,005,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 50.02% แต่คณะกรรมการและกรรมการบริษัทกลับเป็นคนสัญชาติเกาหลีทั้งหมด คือ นางสาวอึน จอง ลี และนายอิน จุน ฮวัง โดยที่นางสาวอึน จอง ลี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทเพียงคนเดียว

 

ญี่ปุ่นมีอำนาจควบคุมสูงสุด

นอกจากนี้จากการตรวจสอบรายงานงบการเงินของผู้ตรวจสอบบัญชี ปี 2561 ซึ่งได้รับอนุมัติจากกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 โดยบริษัท PWC ยังระบุประเด็นที่น่าสนใจว่า บริษัทใหญ่ของบริษัท คือ ไลน์ พลัส คอร์ปอเรชั่น ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งในสาธารณรัฐเกาหลี โดยมีบริษัทที่มีอํานาจควบคุมสูงสุดคือ ไลน์ คอร์ปอเรชั่นฯ ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศญี่ปุ่น โดยเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2562 บริษัทไลน์ พลัส คอร์ปอเรชั่นฯ และไลน์ คอร์ปอเรชั่น ได้ออกจดหมายยืนยันให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) เพื่อแก้ปัญหาฐานะการเงินให้บริษัทสามารถดําเนินงาน ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 12 เดือน

“ฐานะการเงินของไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) ณ วันที่ 31 ธันวาคม  2561 มีหนี้สินหมุนเวียนรวมสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวมจํานวน 833.95 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสะสมเกินทุนเป็นจํานวน 756.08 ล้านบาท บริษัทใหญ่และบริษัทที่มีอํานาจควบคุมสูงสุดได้ออก จดหมายยืนยันให้ความช่วยเหลือทางการเงินลงวันที่ 16 มกราคม2562 เพื่อให้บริษัทสามารถดําเนินงานต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 12 เดือน” รายงานผู้ตรวจสอบบัญชีระบุ

 

พาณิชย์ชี้ช่องตรวจสอบ

ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการที่บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) มีคนไทยถือหุ้นใหญ่ แต่อำนาจบริหารเป็นคนเกาหลี นั้นถือว่าไม่เข้าข่ายตัวแทน (นอมินี) แม้ว่าคนไทยจะถือหุ้นมากกว่า แต่อำนาจลงนามเป็นคนอื่นถือว่าไม่เกี่ยวกัน เพราะอาจจะเป็นการจ้างมาบริหารงาน เช่นเดียวกับบริษัทใหญ่ๆ ที่จ้างเชนมาบริหารงานและมีอำนาจในการลงนาม

อย่างไรก็ตามหากมีผู้มาร้องเรียน กรมก็จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบ แต่หากไม่มีผู้มาร้องเรียนกรมไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เพราะกรมใช้หลักสุจริต เพราะในไทยการถือหุ้น 51% ต่อ 49% มีจำนวนมาก กลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องจับตามอง แต่จะให้เข้าไปตรวจสอบโดยที่ไม่มีผู้มาร้องเรียนคงทำไม่ได้เพราะอาจจะถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ