ตายเกลื่อน แผนดันราคา  JAS สะดุด

24 ก.ค. 2562 | 05:35 น.

JAS ดันราคาปล่อยของ บล.กสิกรไทย จับสัญญาณดีลซื้อขายกิจการ ชี้เป็นไปได้ยาก เชื่อ โคเรีย เทเลคอมฯเมินธุรกิจบรอดแบรนด์ แถมไม่มีใบอนุญาต 5 G มองไม่คุ้ม คาดราคาหุ้น JAS ยังไปต่อจากเงินปันผลได้ หลังขายสินทรัพย์ เข้ากอง JASIF

        ราคาหุ้นบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) (บมจ.) หรือ JAS ได้ปรับต่อเนื่องจากกว่า 4 บาทเมื่อปลายปีที่แล้วขึ้นมาอยู่ระดับสูงสุดที่ 8 บาท เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา สูงสุดในรอบ 1 ปี หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว หลังมีข่าวแพร่สะพัดว่ายักษ์สื่อสารทั้งไทยและต่างประเทศ  DTAC  ADVANC และ Korea Telecommunication (KT) สนใจซื้อกิจการ JAS โดยอยู่ระหว่างเจรจา ก่อนที่หุ้น JAS จะปิดวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ที่ 7.60 บาท ลดลง 0.25 บาทหรือ -3.18% และวันที่ 23 กรกฏาคม 2562 ปิดที่ 6.30 บาท ลดลง 1.30 บาท หรือ-17.11% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 4,350.86 ล้านบาท    

 

ตายเกลื่อน แผนดันราคา   JAS สะดุด    

 

การที่ราคาหุ้น JAS ปรับย่อตัว เพราะถึงวันนี้ยังไม่ข้อมูลยืนยันดีลเจรจาจะเกิดขึ้นหรือมีความน่าจะเป็น  แหล่งข่าวระดับสูงจาก บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC  เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจว่า กระแสข่าว DTAC จะรวมโครงข่ายกับ JAS ไม่น่าจะเป็นไปได้ ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวมาแล้วครั้งหนึ่งแต่  DTAC ได้ปฏิเสธออกไป

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทยฯ จับข้อสังเกต 3 ประการคือ 1. สัญญาณราคาหุ้น 3 ตัวที่เกี่ยวข้องในตลาด (JAS DTAC ADVANC) ไม่สะท้อนข่าวดังกล่าว กล่าวคือราคาหุ้นทั้ง 3 ต่างปรับขึ้น ผิดอาการของหุ้นทั่วไป หากมีการเจรจาซื้อกิจการ เพราะผู้ที่ถูกซื้อ หุ้นจะปรับขึ้น ส่วนฝ่ายที่จะซื้อ ราคาหุ้นต้องปรับลง เพราะต้องเสียเงินซื้อ แต่อาการหุ้นทั้ง 3 กลับปรับขึ้นพร้อมกัน  

2. ชื่อ Korea Telecommunication  (KT) ที่ถูกปล่อยภายหลัง  KT เป็นรัฐวิสาหกิจแม้จะสนใจตลาดหุ้นไทย แต่ไม่สนใจการลงทุนที่ต้องใช้วงเงินครั้งเดียว 5-6 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญคือไม่มีโอเปอเรเตอร์รายใดจะเข้าตลาดหุ้นโดยการซื้อ บริษัทบรอดแบรนด์เพราะอนาคตธุรกิจสื่อสารคือโมบาย, 5 G และการซื้อ JAS แต่ไม่มีใบอนุญาต 5 G ทำได้เพียงบรอดแบรนด์อย่างเดียวไม่คุ้มแน่นอน 3. จนถึงขณะนี้ ทั้ง 3 รายชื่อที่เป็นข่าว ยังไม่มีการเปิดเผยหรือชี้แจงข้อเท็จจริงซึ่งผิดสังเกตุหากมีการเจรจาซื้อจริง

หุ้น JAS เริ่มปรับขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา หลังมีข่าวว่าการขายทรัพย์สินให้กอง JASIF คนก็เริ่มกลับมาซื้อ เพราะเชื่อว่าอย่างไร พิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซึ่งถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 56.18% หรือจำนวน 4,572 ล้านหุ้น  ก็ต้องขายสินทรัพย์เข้ากอง JASIF และจ่ายปันผลอย่างน้อยหุ้นละ 1 บาท  เพราะพิชญ์ ต้องนำเงินปันผลไปจ่ายหนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ หลังจากกู้ยืมมาเพื่อเพิ่มสัดส่วนหุ้นที่ถือใน JAS เป็น 72.35% เมื่อปลายปี 2559 วงเงิน 4.25 หมื่นล้านบาท (เบิกจ่ายจริง 2.2 หมื่นล้านบาท) แต่แผนการขายสินทรัพย์เข้ากอง JASIF ล่าช้ากว่า 2 ปี        

หุ้น JAS เริ่มมีการเก็งกำไรดันราคาหุ้นมาตั้งแต่ 4 บาทกว่าจนราคามาถึงระดับ 7 บาทกว่าเริ่มนิ่ง บล.กสิกรไทยฯ ให้ราคาเป้าหมาย JAS ที่ 6.70 บาท แต่มองว่าหุ้นยังมีโอกาสปรับขึ้นไปที่ 8.50 บาท เนื่องจากคาดว่า JAS จะจ่ายปันผลที่หุ้นละ 1.70 บาท  หลังจ่ายปันผลหุ้นจะปรับลง

ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุ คาดการซื้อสินทรัพย์เข้า JASIF ซึ่งถือเป็นเฟส 2 จะเสร็จภายในปี 2562 และเริ่มรับรู้รายได้จากสินทรัพย์ใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2563 คาดว่า ราคาขายเฟส 2 อยู่ที่ 35,000 ล้านบาท โดยสินทรัพย์เป็นไฟเบอร์ ออพติกที่ 6.5 แสนคอร์กิโลเมตร หากอ้างอิงอัตรากำไรที่ได้รับจากการขายสินทรัพย์เฟส 1 คาดว่ากำไรก่อนและหลังภาษีเป็น 11,600 และ 9,200 ล้านบาทตามลำดับ ทำให้กำไรสุทธิปี 2562 สูงไปถึง 11,400 ล้านบาท โตกระโดดถึง 104% YoY และด้วยอัตราการจ่ายปันผล (Payout Ratio) ที่ 80% จึงคาดว่าเงินปันผลต่อหุ้นปี 2562 ถึง 1 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนปันผลสูงถึง 13.7%  โดยแนะซื้อเก็งกำไร ราคาเป้าหมายที่ 9.78 บาท

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 วันที่ 25-27 กรกฎาคม 2562

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

● สะพัด!! ควบโครงข่าย JAS DTAC

● ตลท.จับตา JAS รอตรวจสอบข้อมูลหลังข่าวลือดันราคาพุ่ง

● "ชาญ บูลกุล"ยัน JAS ไม่รีบร้อนหาพันธมิตรธุรกิจ

 

 

ตายเกลื่อน แผนดันราคา   JAS สะดุด