สกัดเก็งกําไรเหลว แบงก์ชี้บาทแข็งต่อ

15 ก.ค. 2562 | 01:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

บาทแข็งต่อเนื่อง 6.1% ครึ่งปีนำโด่งคู่แข่ง แบงก์ฟันธงมาตรการสกัดเก็งกำไรบาทแบงก์ชาติไร้นํ้ายา ฝืนกระแสโลกยาก เหตุเฟดลดดอกเบี้ย ดูดเงินไหลต่อเนื่อง มองบาทยังแข็งต่อ กดดันแบงก์ชาติ ออกมาตรการอีกระลอก

เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีก่อน จนล่าสุดวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 แข็งค่าไปแล้ว 6.1% (คำนวณจาก 30.67-32.55 บาทต่อดอลลาร์) นำโด่งสกุลเงินประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์กับสกุลเงินอื่นๆ ในประเทศภูมิภาค โดยเงินบาทไทยแข็งนำ 6.1% รองลงมาคือ รูเปีย 3.5% เปโซ 2.7% รูปี 2.4% เยน 1.6% ริงกิต 1.1% ดอลลาร์สิงคโปร์ 0.7% และหยวน 0.1% ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาท ส่วนใหญ่เป็นผลพวงจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางต่างประเทศและสงครามทางการค้า รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้ากลุ่มประเทศเกิดใหม่

ขณะที่นักลงทุนยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเงินบาท ทำให้ลงทุนต่างชาติเพิ่มการถือครองเงินบาทและเข้ามาพักเงินระยะสั้นในหุ้นและตราสารหนี้ไทย ยิ่งกดดันให้เงินบาทแข็งค่าเรื่อยๆ และกระทบต่อการส่งออกที่ชะลอลงและมองถึงขั้นติดลบ และลามถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวในประเทศที่มีรายได้ลดลง เพราะนักท่องเที่ยวต้องใช้จ่ายเงินมากขึ้น จากค่าเงินบาทแข็ง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เป็นตลาดใหญ่ของไทย เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้นเกือบ 12% เมื่อเทียบกับหยวน 

และก่อนที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะเข้าไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากผลกระทบที่เกิดขึ้น ล่าสุดธปท.ได้ออกมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ธปท.ปรับเกณฑ์ยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ(non-resident : NR)ทั้ง Non-resident Baht Account for Securities (NRBS) และบัญชี Non-resident Baht Account (NRBA)ให้เข้มขึ้น โดยบัญชี NRBS ซึ่งเป็นบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ ที่เปิดไว้กับสถาบันการเงินในประเทศไทยเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงิน และบัญชี NRBA ซึ่งเป็นบัญชีที่เปิดไว้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น การชำระค่าสินค้าและบริการ ให้มียอดคงค้างสิ้นวันไม่เกิน 200 ล้านบาท จากเดิม 300 ล้านบาทต่อรายต่อประเภทบัญชี  ทั้งนี้เพราะบัญชีเงินบาทดังกล่าวบางครั้งถูกใช้เป็นช่องทางพักเงินระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น

สกัดเก็งกําไรเหลว  แบงก์ชี้บาทแข็งต่อ

นอกจากนั้น ได้ยกระดับการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติให้ลึกขึ้นถึงระดับชื่อของผู้ได้รับผลประโยชน์แท้จริง (Ultimate Beneficiary Owners) โดยเฉพาะเพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์แนวโน้มและกำหนดนโยบายหรือมาตรการเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในระยะต่อไป โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่งวดรายงานเดือนกรกฎาคม 2562 

สกัดเก็งกําไรเหลว  แบงก์ชี้บาทแข็งต่อ

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ธปท. จะติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินมาตรการที่เตรียมไว้เพิ่มเติม หากยังพบพฤติกรรมการเก็งกำไรค่าเงินบาทในระยะต่อไป

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณดูแลเงินไหลเข้ามากขึ้น จะทำให้เก็งกำไรยากขึ้น เพราะต้องระบุเจ้าของบัญชีที่นำเงินเข้ามาและต้องมีธุรกรรมหรือสินทรัพย์ที่จะลงทุนมารองรับ แต่การดูแลเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น อาจจะไม่เพียงพอที่จะฝืนกระแสจากต่างประเทศได้ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กำลังจะลดดอกเบี้ยนโยบายซึ่งครึ่งปีหลัง เงินบาทยังมีโอกาสแข็งและกรอบเคลื่อนไหว ที่ 30.50-31.50 บาทต่อดอลลาร์

 

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบีกล่าวว่า ทั้ง 2 มาตรการ ย่อมทำให้การแข็งค่าของเงินบาทชะลอบ้าง แต่ไม่ถึงกับหยุดการแข็งค่าของบาทลงได้ แต่จะปรับให้อัตราผลตอบแทน (Yield Curve) พันธบัตรระยะสั้น ที่เคยตํ่ากว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กลับมาสู่ระดับปกติได้ ซึ่งเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นหลังจากการลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้น จึงเกิดการบิดเบือนการส่งผ่านนโยบายการเงิน

สกัดเก็งกําไรเหลว  แบงก์ชี้บาทแข็งต่อ

“ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่เน้นฝากเงินกับธปท. เพราะไม่มีแรงจูงใจ ที่จะปล่อยกู้ระยะสั้น เช่น อายุตํ่ากว่า 1 ปี เพราะอัตราดอกเบี้ยตํ่ากว่า 1.75% ต่อปี โดยส่วนตัวมองว่า มาตรการธปท.จะเห็นผลค่อนข้างเร็ว 1-2 เดือนน่าเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่าต่อ ซึ่งมีโอกาสที่ธปท.ทยอยออกมาตรการเพิ่มเติมเกี่ยวกับพันธบัตรระยะสั้น”

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามความเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ระบุว่า ธปท.เริ่มขยับออกมาตรการ เพราะก่อนหน้าธปท.ได้สื่อสารทางวาจาและขอความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องว่า อย่าส่งเสริมการเก็งกำไร โดยหลังจากนี้ไปจะเห็นธปท.ทยอยออกมาตรการเพิ่มเติมอีก ส่วนหนึ่งเพราะธปท.เปิดตำราเล่น โดยมาตรการที่ออกมาไม่แตกต่างจากการแก้ปัญหาในอดีต ขณะที่ตลาดโลกเปลี่ยนแปลง โดยยังไม่มีมาตรการลงโทษ ซึ่งมาตรการนี้ไม่มีนัยส่วนใหญ่มาจากปัจจัยต่างประเทศ ซึ่งเฟดจะผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้าย ดังนั้นมุกต่อไปธปท.อาจขยายวงเงินออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,487 วันที่ 14 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

สกัดเก็งกําไรเหลว  แบงก์ชี้บาทแข็งต่อ