แบงก์ชาติขู่ออกมาตรการสกัดเงินร้อน

26 มิ.ย. 2562 | 09:07 น.

ธปท. ส่งสัญญาณออกมาตรการสกัดเงินร้อน หลังเห็นเงินทุนระยะสั้นเข้ามาพักในตลาด ลั่นนักลงทุนมองไทยเป็นหลุมหลบภัย-เก็งกำไร กระทบค่าเงินบาทแกว่งเร็วไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานประเทศ ด้านเศรษฐกิจหั่นโตเหลือ 3.3% จาก 3.8% จับตาสงครามการค้าโลกกดส่งออกไทยมีโอกาสติดลบ จากประมาณการอยู่ที่ 0% 
ทิตนันท์ิ มัลลิกะมาส  

นายทิตนันท์ิ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้มีความกังวลได้มีการหารือในเรื่องของสถานการณ์ค่าเงินและเหตุการณ์ที่ทำให้เงินบาทแข็งค่านำในประเทศภูมิภาค โดยมีการพูดคุยถึงแนวทางการบริหารจัดการค่าเงินบาทและเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น เนื่องจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีกลไกการที่ดูแลบริหารจัดการที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งการดูแลนั้นอาจจะเห็นได้ในไม่ช้านี้  
 

อย่างไรก็ดี มาตรการหรือกลไกที่จะมาดูแลนั้น จะเห็นว่าธปท.มีเครื่องมือในการดูแลอยู่แล้ว แต่จะนำอะไรมาใช้นั้นอาจจะต้องดูอีกครั้ง โดยหลักๆ เพื่อมาดูแลเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น เช่น การลงทุนในตราสารหนี้ต่างๆ ที่มีเงินเข้ามาพักสั้นๆ ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าการเข้ามาลงทุนระยะสั้นของนักลงทุน เนื่องจากมองประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความปลอดภัย หรือ หลุมหลบภัย (Safe Haven) นอกเหนือจากประเทศญี่ปุ่น เพราะไทยมีปัจจัยพื้นฐานค่อนข้างดี ทั้งในส่วนของเงินสำรองรองระหว่างประเทศ และดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นต้น    
 “มาตรการต่างๆ ก็มีอยู่ในกระเป๋าอยู่แล้ว ต้องดูแลต่อไปว่าจะจัดการเงินทุนระยะสั้นอย่างไร เพราะเราเห็นตัวเลขหลายตัวว่าเป็นเงินทุนระสั้น เข้ามาลงทุนในบอนด์ระยะสั้น มาพักสั้นๆ ประกอบกับค่าเงินระยะสั้นที่เคลื่อนไหวเร็วไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของไทย ซึ่งเราจะจัดการตรงนี้อย่างไร ซึ่งคณะกรรมการฯ ก็ให้ติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนมาตรการดูแลก็คงไม่ช้า ภายในเร็วๆ นี้”
 

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจ กนง.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 3.8% ลดลงเหลือ 3.3% และในปี 2563 ปรับจาก 3.9% เหลืออยู่ที่ 3.7% ซึ่งการชะลอตัวเศรษฐกิจไทยมาจาก เป็นผลจากอุปสงค์ด้านต่างประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยสงครามการค้าที่กดดันภาคการส่งออกลดลง จึงปรับตัวเลขประมาณการส่งออกเหลือ 0% จากเดิมอยู่ที่ 3% และมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นปัจจัยที่ท้าทาย เพราะหากต้องการให้ส่งออกขยายตัวเป็นบวก ในช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกจะต้องขยายตัวมากพอสมควร เพราะตัวเลขล่าสุดยังคงติดลบอยู่   
 

ขณะเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวก็ปรับลดลงทั้งสินค้าและบริการ และมีการปรับการลงทุนภาครัฐลงจาก 6.1% เหลือ 3.8% ส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณปี 2563 มีความช้าลง ทำให้การเบิกจ่ายรัฐวิสาหกิจชะลอลง จึงต้องติดตามนโยบายและการใช้จ่ายงบประมาณต่างๆ นอกจากนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุลอยู่ที่ 2.91 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ชะลอตัวจาก 2.63 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากเทียบกับประมาณการครั้งก่อน รวมถึงจะมีการปรับสถิติ และกาปรับลดของรายได้การชำระเงิน และการปรับปรุงตัวเลขสถิติ การท่องเที่ยวและดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้ตัวเลขปรับลดลงเยอะ 

 

 “การส่งออกเป็นอะไรที่ท้าทาย เพราะตอนนี้ตัวเลขก็ปรับเป็น 0% ซึ่งมีโอกาสทั้งที่จะติดลบและเป็นบวกได้ แต่แนวโน้มครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก แต่การขยายตัวจะต้องสูงพอสมควร เพราะสงครามการค้าไม่ใช่แค่สหรัฐฯ และจีนเท่านั้น แต่ยังกระทบประเทศอื่นๆ ด้วย และหากเหตุการณ์รุนแรงกว่าที่คาดเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะเป็นขาเบ้ลง หรือมีความเสี่ยงมากขึ้น จากปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ”