หนุนคุม DSRเคาะ40%มาตรฐานเดียว

11 มิ.ย. 2562 | 11:10 น.

 

เอกชนเห็นพ้องสศช.แนวโน้มหนี้ครัวเรือนน่าห่วง โดยเฉพาะประชาชนระดับล่าง หนุนคุม DSR “ทีเอ็มบี” แจง 3 ขั้น เคาะเพดานสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ตั้งเงื่อนไขทุกแบงก์คำนวณเท่ากันเหมือนต่างประเทศ แนะระดับ 40% เหมาะสมรักษาเสถียรภาพการเงิน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2562 พบว่า หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัว 10.1% สูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2557 แม้อัตราขยายตัวที่ 10.1% นั้น จะเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยถึง 4.6% ซึ่งเร่งขึ้นตัวก่อนมาตรการ LTV จะมีผลบังคับใช้

ขณะที่ยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)ของ สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคมีมูลค่า 1.26 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 2.75% ต่อสินเชื่อรวมและคิดเป็น 27.8% ต่อ NPLรวม สูงสุดในรอบ 13 ไตรมาสและมีสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับ NPL ในธุรกิจประเภทอื่น และกลับมาสูงสุดในรอบ 2 ปีนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี2560 อีกด้วย โดยมูลค่ายอดคงค้าง NPL สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 8 หมื่นล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2557 เป็น 1.2 แสนล้านบาท ในสิ้นปี 2561 โดย NPL รถยนต์เร่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 24.1% ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเพื่อบุคคลอื่นๆ ชะลอตัวลง 8.0% และ 7.2% ตามลำดับ แต่ยังอยู่ในระดับที่สูง

อย่างไรก็ตามหนี้ครัวเรือนสิ้นปี 2561 ไทยอยู่ในอันดับ 5 จาก 10 ประเทศในเอเชีย ซึ่งเป็นรองจากฮ่องกง นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย และสูงสุดเป็นอันดับที่ 13 จากการจัดอันดับโลก

หนุนคุม DSRเคาะ40%มาตรฐานเดียว

วิชิต พยุหนาวีชัย

นายวิชิต พยุหนาวีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซัมมิท แคปปิตอล ลีสซิ่ง จำกัดเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้น ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงลูกค้าระดับล่าง ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า แม้ว่าช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา คุณภาพลูกค้าที่เข้ามายังสมํ่าเสมอ โดยบริษัทใช้เกณฑ์สัดส่วนหนี้ต่อรายได้(DSR)เป็นหนึ่งในเกณฑ์พิจารณาเครดิตลูกค้าและดูประวัติย้อนหลัง 5 ปีด้วย ซึ่งปัจจุบันเอ็นพีแอลอยู่ในระดับตํ่า 0.9-1% จากพอร์ตสินเชื่อเกือบ 4 หมื่นล้านบาทและมีฐานลูกค้าเกือบ 8 แสนราย

“DSR ควรนำมาประกอบพิจารณาคุณภาพลูกค้า แต่ไม่สามารถใช้ดูสถานะแท้จริงของลูกค้าได้ เพราะเมืองไทย DSR ด้านภาระหนี้มีความชัดเจน เพราะสามารถตรวจสอบจากฐานข้อมูลเครดิตบูโรได้ แต่ฝั่งรายได้ยังไม่ชัดเจน วิธีคำนวณแตกต่างกัน บางราย รายได้ไม่สมํ่าเสมอเช่น คอมมิสชันหรือโอที แม้แต่พนักงานประจำ ก็ไม่ชัดเจนเรื่องโบนัส ขณะที่ลูกค้าระดับกลางขึ้นบน จะมีรายได้อื่นๆ ดังนั้นจะพบว่า บางราย DSR สูง 80-100% ถ้าจะกำหนดว่า ห้ามปล่อยกู้ผู้บริโภคจะกระทบมาก โดยส่วนตัวมอง DSR มาตรฐานเดียวเป็นเรื่องดี แต่ก็จะกระทบผู้บริโภคมาก จากประสบการณ์เกือบ 30ปีเราจะดูข้อมูลรอบด้าน เพื่อไม่ให้เขาเสียโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ”

 

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics ธนาคาร ทหารไทย จำกัด(มหาชน)หรือทีเอ็มบีกล่าวว่า ไทยมีแนวคิดจะใช้ DSR ตั้งแต่ปีก่อน เนื่องจากในต่างประเทศใช้มาตรการกำหนด DSR เป็นหลักอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ก็ใช้ DSR ในการพิจารณาสินเชื่ออยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ของธนาคารพาณิชย์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ DSR ของแต่ละธนาคารไม่เท่ากัน โดยเฉพาะเรื่องรายได้ ที่เป็นจุดยากในการตีความอะไรคือรายได้ เช่น หากลูกค้ามีรายได้ค่าคอมมิสชันจะคิดอย่างไร ส่วนภาระหนี้ตรวจสอบผ่านเครดิตบูโรได้อยูู่แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จึงศึกษาการคำนวณรายได้ให้สอดคล้องกันทั้งระบบ

สำหรับการทำ DSR มองว่า จะแบ่งเป็น 3 ขั้นคือ 1.กำหนดเงื่อนไขคำนวณรายได้ให้ใกล้เคียงกัน คาดว่า น่าจะทำได้ทันภายในเดือนมิถุนายนนี้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ทำเรื่อง DSR อยู่แล้ว เพียงแต่ปรับจูนให้ใกล้เคียงกันเท่านั้น 2.ทุกธนาคารจะต้องประเมินรายได้ลูกค้าเท่ากันทั้งหมด ซึ่งเป็นขั้นที่ยาก เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ หรือเอสเอ็มอี จึงยากที่จะประเมินเท่ากันและทำได้ในเร็ววัน เพราะมีเรื่องกฎหมายสิทธิส่วนบุคคลด้วย และ 3. กำหนด DSR เลย แม้ว่าธปท.จะทำได้ แต่จะมีความไม่เท่าเทียมกันเกิดขึ้น ทำให้การกำกับดูแลอาจจะมีปัญหาได้

อย่างไรก็ดี หากต้องการกำหนดสัดส่วน DSR จริง สัดส่วนที่อยู่ในระดับเหมาะสมปลอดภัยและสมดุลทางเศรษฐศาสตร์ และรักษาเสถียรภาพทางการเงินจะอยู่ในระดับ 40% เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่ใช้มาตรการ DSR จะเห็นว่า สิงคโปร์ไม่เกิน 60% ฮ่องกง 50-60% และเกาหลีใต้  40-60% และหากดูเบื้องลึก จะเห็นว่า การคุมจะใช้พื้นที่และรายได้เป็นตัวกำหนด เช่น เกาหลีกำหนด DSR ตามพื้นที่เช่น กรุงโซล จะคุมไม่เกิน 40% แม้กรอบจะให้ 40-60% ก็ตาม หรือฮ่องกง จะคุมตามระดับรายได้

“เรื่อง DSR ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับแบงก์ เพราะแบงก์ทำอยู่ก่อนแล้วและต่างประเทศก็ใช้มานานควบคู่กับมาตรการ LTV และ DSR หากไทยจะทำตามประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้แบบลิมิต DSR โดยไม่ผ่านขั้นที่ 2 คือ ทำให้ทุกธนาคารประเมินรายได้ลูกค้าเท่ากันได้ อาจจะยากและเป็นเรื่องท้าทาย เพราะจะเกิดการเขย่งไม่เท่าเทียมกันในระบบแบงก์ได้ แต่หากจะทำ คิดว่าระดับ 40% เป็นระดับที่ปลอดภัยที่สุด”

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3477 วันที่ 9-12 มิถุนายน 2562

หนุนคุม DSRเคาะ40%มาตรฐานเดียว