ระทึก! ศึกการค้าจีน-มะกัน เอกชนจ้องอพยพฐานผลิตหนีตาย

10 พ.ค. 2562 | 05:59 น.

คณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ตัดสินใจปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน วงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์จากระดับ 10% สู่ 25% แล้ว มีผลเวลา 00.01 น. ของวันที่ 10 พ.ค. 2562 (เวลาท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกา) ซึ่งตรงกับเวลาประมาณ 11.01 น. ตามเวลาไทย ท่ามกลางความตึงเครียดด้านการค้าที่สูงขึ้นระหว่างสหรัฐฯและจีน ซึ่งเป็นสองชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก โดยฝ่ายจีนได้ประกาศไว้แล้วว่าหากสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน จีนก็จะตอบโต้ด้วยมาตรการเดียวกันกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯในทันที

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่จริง ทำจริง

กระทรวงพาณิชย์จีนไม่ได้ให้รายละเอียดของมาตรการตอบโต้ แต่กล่าวว่าการตัดสินใจของสหรัฐฯนั้นเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างที่สุด ขณะที่ผู้แทนจีน ซึ่งเตรียมเข้าร่วมการเจรจารอบที่ 11 กับฝ่ายสหรัฐฯ ระบุอย่างมีความหวังว่า การเจรจายังไม่สิ้นสุดลง จีนหวังว่า สหรัฐฯจะพบกับจีนครึ่งทาง และทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้ความพยายามร่วมกัน เพื่อคลี่คลายปัญหาที่ยังค้างคาผ่านการร่วมมือและการปรึกษาหารือกัน

 

ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีครั้งนี้ คือสินค้ากลุ่มที่สหรัฐฯปรับขึ้นภาษีมาแล้วรอบแรก 10% เมื่อเดือนกันยายน 2561 ผู้นำสหรัฐฯให้เหตุผลก่อนหน้านี้ว่าจำเป็นต้องขึ้นภาษีสินค้าจีนเนื่องจากการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีความคืบหน้า ช้ามากเกินไปและจีนเป็นฝ่าย กลับลำหาเรื่องเจรจารื้อสิ่งที่เคยตกลงกันไปแล้ว

  

การปรับขึ้นภาษีครั้งนี้ มีขึ้นทั้งที่คณะเจรจาของจีนนำโดยนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรี กำลังนำคณะเจรจาหารือรอบที่ 11 กับฝ่ายสหรัฐฯที่นำโดยนายโรเบิร์ท ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) และนายสตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีคลัง อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี โดยทั้งสองฝ่ายมีกำหนดเจรจากัน 2 วันระหว่างวันที่ 9-10 พ.ค.นี้ บรรยากาศการเผชิญหน้าจึงเพิ่มความตึงเครียดและสถานการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่ผลกระทบในวงกว้างที่จะมีต่อผู้ส่งออกและผู้นำเข้าของทั้งสองฝ่าย

คณะเจรจาของทั้งสองฝ่ายยังเดินหน้าต่อ จากซ้ายไปขวา นายสตีเว่น มนูชิน นายหลิว เหอ และนายโรเบิร์ท ไลท์ไฮเซอร์

ผู้นำเข้าของสหรัฐฯต้องเผชิญกับต้นทุนการนำเข้าสินค้าจากจีนที่พุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับโรงงานผลิตของสหรัฐฯเองที่ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตสูงขึ้นด้วย ขณะที่บริษัทอเมริกันที่เข้าไปตั้งฐานการผลิตในจีนเพื่อหวังส่งออกสินค้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯก็ต้องเจ็บอกกับกำแพงภาษีอัตราใหม่ ส่วนผู้ส่งออกของจีนที่ส่งสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ ก็ต้องกล้ำกลืนกับการจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น 15%

 

สื่อต่างประเทศรายงานว่า การเจรจามีกำหนดเดินหน้าต่อไปในวันที่ 10 พ.ค.นี้ แต่ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ออกมาระบุว่า ฝ่ายจีนได้ขอเลื่อนการเจรจาออกไป ปฏิกริยาของภาคธุรกิจเอกชนเกี่ยวกับเรื่องนี้เต็มไปด้วยความผิดหวังและบางส่วนก็ไม่พอใจที่การเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายดูจะมีความคืบหน้ามาเป็นลำดับจนหลายฝ่ายคิดว่าการบรรลุข้อตกลงนั้นใกล้เข้ามาแล้ว แต่จู่ๆ ทุกอย่างก็คว่ำไม่เป็นท่า ผู้บริหารบริษัท นิวไทม์ส ดิเวลลอปเมนท์ ผู้ส่งออก-นำเข้าเสื้อผ้าในฮ่องกง กล่าวว่า ในมุมมองของเจ้าของโรงงาน สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ ความไม่แน่นอน “ในพื้นที่เทาๆ มันยากที่จะวางแผนธุรกิจ คุณวางแผนงานต่างๆเอาไว้ดิบดี แล้วจู่ๆก็มีใครบางคนทวีตข้อความที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมด” พอล วอลช์ ซีอีโอของนิวไทม์สฯกล่าว และให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การขึ้นภาษีเป็น 25%  เป็น Game-changer หรือตัวแปรที่จะเปลี่ยนทุกสิ่งอย่างในอุตสาหกรรม เชื่อว่าหลังจากนี้คงได้เห็นหลายโรงงานอพยพฐานการผลิตออกจากประเทศจีน

ระทึก! ศึกการค้าจีน-มะกัน เอกชนจ้องอพยพฐานผลิตหนีตาย

ผู้ประกอบการบางรายเชื่อว่า ผู้บริโภคของสหรัฐฯเองจะเป็นผู้แบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ฟารุค เมอร์โซกีย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัท เนทีฟ ยูเนี่ยน ผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับตกแต่งโทรศัพท์ไอโฟน ซึ่งมีโรงงานผลิตอยู่ในประเทศจีนและส่งออกไปยังประเทศตะวันตก ให้ความเห็นว่า เมื่อต้นทุนนำเข้าสินค้าสูงขึ้น ผู้บริโภคชาวอเมริกันก็จะต้องแบกรับไป นอกจากนี้ ภาคธุรกิจเองก็จะมีภาระสูงขึ้นมาก เชื่อว่าหลายรายจะอยู่ไม่ได้ และหลายรายต้องปรับขึ้นราคาสินค้า สำหรับบริษัท เนทีฟ ยูเนี่ยน เอง ก็กำลังมองหาลู่ทางโยกย้ายฐานการผลิตไปในประเทศอื่นๆแถบอาเซียน

  

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผลกระทบเชิงบวกก็มีต่อบางภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน เช่นกรณีของผู้ผลิตในภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ผู้บริหารของบริษัท คริสโตเฟอร์ แรนช์ หนึ่งในผู้ผลิตกระเทียมรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ออกมาเปิดเผยว่า การขึ้นภาษีกระเทียมนำเข้าจากจีนเป็น 25% อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาให้เกษตรกรสหรัฐฯในระยะยาวและอาจจะไม่ได้ดีเลิศนักต่อภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐฯ แต่ผู้ปลูกกระเทียมของสหรัฐฯก็ขอบคุณที่รัฐบาลเดินหน้ามาทิศทางนี้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้วก็คือ การขายทุ่มตลาดสหรัฐฯของกระเทียมจีน ที่ทำให้กระเทียมราคาถูกล้นตลาด 

 

ความวิตกเกี่ยวกับการสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนยังคงหลีกเลี่ยงความเสี่ยง(Risk-off)ต่อเนื่อง พร้อมกับเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยทั้งเงินเยน สวิสฟรังก์ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ  รวมไปถึงทองคำ  แม้ปัจจัยดังกล่าวจะพยุงราคาทองคำไว้  แต่ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวในกรอบแคบเพื่อรอความชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ  ส่วนค่าเงินหยวนถือว่าอยู่ในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่า จีนและสหรัฐฯจะสามารถหาทางบรรลุข้อตกลงกันได้ในที่สุดซึ่งอาจต้องใช้เวลา แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น และทั้งสองฝ่ายต่างขึ้นภาษีตอบโต้กัน นักลงทุนก็จะหันไปโฟกัสตัวเลขหลักๆทางเศรษฐกิจประกอบการตัดสินใจ เช่น ยอดขายในธุรกิจค้าปลีกและดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

 

ด้าน นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานสภาธุรกิจไทย-จีน ให้ความคิดเห็นผ่านแฟนเพจส่วนตัวเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2562 สรุปเกี่ยวกับผลกระทบต่อประเทศไทยของการเปิดศึกการค้าอีกครั้งระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาว่า หนึ่ง จะทำให้กำลังซื้อของจีนลดลง สอง ในแง่ของธุรกิจการท่องเที่ยว เมื่อเศรษฐกิจจีนไม่ดี นักท่องเที่ยวจีนที่จะมาเที่ยวเมืองไทยก็อาจจะลดน้อยลง และกำลังซื้อที่ลดลงก็จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายเงินน้อยลงด้วย และสาม ในแง่การลงทุนจากจีนก็อาจจะชะลอตัวหรือลดลง ทั้งนี้ จีนมีงบสำหรับการพัฒนาโครงการต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative ถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการค้ากับอาเซียนโดยรวมก็เติบโตกว่า 10% แต่หากเศรษฐกิจของจีนมีอันเป็นไป (จากการเปิดศึกการค้ากับสหรัฐฯ) ก็จะมีปัญหากับกำลังการซื้อขายของจีนรวมทั้งการลงทุน อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อาจจะทำให้สหรัฐฯขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น เพราะก่อนที่การประกาศขึ้นภาษีจะมีผลบังคับใช้ บรรดาผู้ส่งออก-นำเข้าก็เร่งสั่งซื้อสินค้าไปสต๊อคไว้ปลายทาง(ในสหรัฐฯ)ก่อนแล้ว เพราะยอมเสียค่าจัดเก็บสินค้าในโกดังยังมีต้นทุนถูกกว่าค่าภาษีที่จะถูกเรียกเก็บเพิ่ม   

ระทึก! ศึกการค้าจีน-มะกัน เอกชนจ้องอพยพฐานผลิตหนีตาย