ไอพีโอ Q1 กอดคอร่วง! ตั้งราคาเปิดสูงเกินเอื้อม ไม่ดึงดูดนักลงทุน

07 เม.ย. 2562 | 03:34 น.


'ไอพีโอ' ไตรมาสแรกกอดคอร่วง! โบรกฯ ชี้! เหตุตั้งราคาซื้อขายสูง นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังลงทุน กลุ่มบริษัทที่เข้าระดมทุนยังไม่ตอบโจทย์ ขณะที่ ภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้อ-เกณฑ์ทำกำไรต่อเนื่อง 3 ปี โจทย์ท้าทายทำให้จำนวน บจ. ที่เข้าระดมทุนน้อย

จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงรอความชัดเจนจากเสถียรภาพทางการเมืองหลังเลือกตั้ง ทำให้บริษัทที่เข้าระดมทุน (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้นปี 2562 ไม่คึกคักเหมือนอดีตที่ผ่านมา มีมูลค่าการระดมทุน 1,584 ล้านบาท และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 5,957 ล้านบาท โดยไตรมาสแรก 4 บริษัทที่เข้าระดมทุน ต่างตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน คือ ราคาล่าสุดตํ่ากว่าราคาซื้อขายวันแรก จากเหตุกำหนดราคาซื้อขายสูง ไม่มีส่วนลดให้นักลงทุน และนักลงทุนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นจากความไม่แน่นอนทางการเมือง

โดย 4 บริษัทที่เข้าระดมทุนไตรมาสแรก ประกอบด้วย บริษัท เอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) (SAAM) เข้าตลาดวันที่ 7 ม.ค. 2562 ด้วยจำนวนหุ้นกู้ที่เสนอขาย 80 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 144 ล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 540 ล้านบาท ราคาซื้อขายวันแรกอยู่ที่ 1.52 บาท ราคาล่าสุดอยู่ที่ 1.48 บาท เปลี่ยนแปลง -2.63%

 

ไอพีโอ Q1 กอดคอร่วง! ตั้งราคาเปิดสูงเกินเอื้อม ไม่ดึงดูดนักลงทุน

 

ถัดมาเป็น บมจ.ซี เอ แซด (ประเทศไทย) (CAZ) เข้าตลาดวันที่ 22 ม.ค. 2562 ด้วยจำนวนหุ้นกู้ที่เสนอขาย 80 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 312 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,092 ล้านบาท โดยราคาซื้อขายวันแรกอยู่ที่ 3.90 บาท ราคาล่าสุดอยู่ที่ 3.02 บาท เปลี่ยนแปลง -22.56%

ด้าน บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) เป็นอีกบริษัทที่เข้าตลาดไตรมาสแรก ในวันที่ 20 ก.พ. 2562 ด้วยจำนวนหุ้นกู้ที่เสนอขาย 75 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 975 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 3,900 ล้านบาท โดยราคาซื้อขายวันแรกอยู่ที่ 15.20 บาท ราคาล่าสุดอยู่ที่ 14.80 บาท คิดเป็นอัตราเปลี่ยนแปลง -2.63%

สุดท้าย คือ บมจ.โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ (GSC) เข้าตลาดวันที่ 13 มี.ค. 2562 ด้วยจำนวนหุ้นกู้ที่เสนอขาย 90 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 153 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 425 ล้านบาท โดยราคาซื้อขายวันแรกอยู่ที่ 2.50 บาท ราคาล่าสุดอยู่ที่ 1.64 บาท คิดเป็นอัตราเปลี่ยนแปลง -34.4%

จากตัวเลขการซื้อขายทั้ง 4 บริษัท พบว่า ราคาล่าสุด ณ วันที่ 4 เม.ย. 2562 มีราคาตํ่ากว่าราคาซื้อขายวันแรกทั้งสิ้น เรื่องดังกล่าว นายกิจพล ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สาเหตุที่การซื้อขายปรับตัวลดลงมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ การกำหนดราคาซื้อขายของบริษัทที่เข้าจดทะเบียน (บจ.) นับตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา อยู่ในระดับสูง เพราะต้องการได้เงินระดมทุนมาก แต่ต้องยอมรับว่า ราคาเปิดตัวที่สูงไม่ได้ดึงดูดนักลงทุนเท่าไหร่ โดยเฉพาะนักลงทุนทั่วไปที่เน้นผลกำไรระยะสั้น อีกทั้งราคาดังกล่าวมักไม่มีส่วนลดให้นักลงทุนมากนัก

อีกหนึ่งปัจจัย คือ การเพิ่มความระมัดระวังของตัวนักลงทุนเอง โดยเลือกลงทุนกลุ่มบริษัทที่น่าสนใจมากขึ้น เพราะเมื่อมองบริษัทที่เข้าระดมทุนไตรมาสแรก พบว่า เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจวิศวกรรม ศูนย์บริการข้อมูล และธุรกิจร้านอาหาร อาจยังไม่ตอบโจทย์มากนัก

ทั้งนี้ เมื่อเทียบจำนวนบริษัทที่ระดมทุนในไตรมาสแรกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนบริษัทที่เข้าระดมทุนลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยไตรมาสแรกปี 2560 มีบริษัทเข้าระดมทุน 6 บริษัท ปี 2561 มีจำนวน 5 บริษัท และปีนี้ลดเหลือ 4 บริษัท ซึ่งจำนวนที่ลดลงมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ก่อนประเมินทิศทางหลังการเลือกตั้งในปีนี้ ว่า จะเป็นไปในทิศทางใด ส่งผลให้การเข้าตลาดเพื่อระดมทุนช่วงนี้อาจยังไม่ตอบโจทย์มากนัก และภาวะที่ผันผวนก็เป็นอีกปัจจัยทำให้เจ้าของบริษัทกลัวสูญเสียความเป็นเจ้าของ จึงชะลอแผนการเข้าตลาดไปก่อนเพื่อให้ได้ราคาเปิดตัวที่ดีที่สุด

อีกทั้งเกณฑ์ที่ต้องทำผลกำไรต่อเนื่อง 3 ปี เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ส่วนการเปิดระดมทุนของบริษัทในช่วงที่เหลือในปี 2562 ยอมรับว่า ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ชัดเจนนักว่า มีแนวโน้มสดใสมากน้อยเพียงใด เนื่องจากยังต้องจับตาดูสถานการณ์ในประเทศอย่างทิศทางหลังการเลือกตั้งเป็นสำคัญ


หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,459 วันที่ 7-10 เมษายน 2562
 

ไอพีโอ Q1 กอดคอร่วง! ตั้งราคาเปิดสูงเกินเอื้อม ไม่ดึงดูดนักลงทุน