เอ็นไอเอร่วมสามเสนวิทยาลัยสร้างห้องเรียนนวัตกรรม

29 มี.ค. 2562 | 07:33 น.

NIA ร่วมกับโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย นำร่องเปิดโครงการห้องเรียนนวัตกรรมในหลักสูตร “STEAM4INNOVATOR@SCHOOL” หวังพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมตั้งแต่ระดับเยาวชน ซึเผยเริ่มหลักสูตร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 เวลา 12 สัปดาห์ 

เอ็นไอเอร่วมสามเสนวิทยาลัยสร้างห้องเรียนนวัตกรรม

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การเรียนการสอน จัดเป็นห้องเรียนพิเศษในวันเสาร์ให้กับนักเรียนที่สนใจ นักเรียนสามารถเรียนรู้เรื่องธุรกิจนวัตกรรม พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักพัฒนาโครงการนวัตกรรมจาก NIA นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมส่งเสริมอื่นๆ อาทิ การลงมือออกแบบโมเดลธุรกิจ นวัตกรรรม การศึกษาดูงานต่างประเทศ การทำแผนพัฒนาธุรกิจ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้ถือเป็นการพัฒนาทักษะด้านนวัตกรรมของเยาวชนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปต่อยอดสู่โลกการทำงานในอนาคต

 

ที่ผ่านมา NIA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การสร้างแรงบันดาลใจจนถึงการพัฒนาความสามารถของเยาวชนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดกระบวนการเรียนรู้ การเวิร์กช็อป การฝึกงาน กิจกรรมค่าย ฯลฯ โดยใช้แนวทางจัดการเรียนรู้สมัยใหม่ที่เรียกว่า “STEAM4INNOVATOR” ซึ่งจะนำความรู้ด้านธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการมาบูรณาการเข้ากับความรู้ความเข้าใจทางด้าน STEAM (Science, Technology, Engineering, Art, Mathematics) เพื่อให้เยาวชนสามารถประยุกต์และสร้างสรรค์ผลงานบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีมิติของการประกอบธุรกิจนวัตกรรมอยู่ด้วย

เอ็นไอเอร่วมสามเสนวิทยาลัยสร้างห้องเรียนนวัตกรรม

โครงการห้องเรียนนวัตกรรมในหลักสูตร “STEAM4INNOVATOR@SCHOOL” เป็นการเรียนรู้เรื่องธุรกิจนวัตกรรมตลอด 12 สัปดาห์ ผ่าน 4 กระบวนการของ STEAM4INNOVATOR ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 รู้ลึก รู้จริง (Insight) ในสัปดาห์ที่ 1-3 นักเรียนจะได้ค้นหาแรงบันดาลใจ จากกรณีศึกษา (case study) ต่าง ๆ และทำการค้นหาข้อมูลเชิงลึก (insight) ของกลุ่มเป้าหมายที่สนใจ ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) ขั้นตอนที่ 2 สร้างสรรค์ไอเดีย (Wow Idea) ในสัปดาห์ที่ 4-5 นักเรียนจะนำความคิดที่หลากหลายมาสังเคราะห์เป็นไอเดียที่มีคุณค่า มีการกำหนดปัญหาและเป้าหมายที่ชัดเจนและมีโอกาสทำได้จริง ขั้นตอนที่ 3 แผนพัฒนาธุรกิจ (Business Model) ในสัปดาห์ที่ 6-9 นักเรียนจะได้คิดแผนธุรกิจเบื้องต้น ได้ลงมือทำต้นแบบชิ้นงาน (prototype) ได้นำชิ้นงานไปทดสอบกับลูกค้าจริง และได้หารือการพัฒนาชิ้นงานและการทำธุรกิจกับพี่ผู้เชี่ยวชาญ ที่สำคัญได้เรียนรู้ทักษะการทำงานเป็นทีม เพื่อสร้างผลสำเร็จ ขั้นตอนที่ 4 การผลิตและการกระจาย (Production & Diffusion) สัปดาห์ที่ 10-12 นักเรียนจะได้เรียนรู้วิธีการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ได้เรียนรู้วิธีการเผยแพร่และจำหน่ายสินค้า เรียนรู้เทคนิควิธีการนำเสนอผลงานเพื่อการลงทุน และได้ขึ้นเวที Pitching จริง รับคำแนะนำจากคณะกรรมการและพี่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นและสร้างเป็นธุรกิจได้ต่อไป โครงการนี้ถือว่าเราได้รับความร่วมมือจากทั้ง 4 ภาคส่วน ได้แก่ NIA โรงเรียน ผู้ประกอบการ ผู้ปกครองและนักเรียน

เอ็นไอเอร่วมสามเสนวิทยาลัยสร้างห้องเรียนนวัตกรรม

ดร.สหชัย สาสวน ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในเนื้อหาสาระด้านนวัตกรรม รวมถึงจัดกระบวนการให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิดในการลงมือปฏิบัติตามแนวทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมเบื้องต้น ซึ่งเยาวชนจะได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องรวมถึงนักพัฒนาโครงการนวัตกรรมจาก NIA ทั้งนี้ โรงเรียนสามเสนจะจัดเตรียมสถานที่และบุคลากร เพื่อร่วมจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการร่วมมือกับสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสามเสนฯ สนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนที่อาจเกิดขึ้น เพื่อการส่งเสริมให้นักเรียนสามารถผลิตชิ้นงานต้นแบบเพื่อการทดสอบนำร่อง หรือการเพิ่มประสบการณ์ที่มีคุณค่าใหม่ที่เป็นโอกาสในการเรียนรู้ที่กว้างขึ้น เช่น การศึกษาดูงานด้านนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศ