เช็กมีดีกว่าที่ท่องเที่ยว

20 มี.ค. 2562 | 09:35 น.

บทความพิเศษ โดย อุรีรัชต์ เจริญโต เอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก

ปราก เมืองหลวงของสาธารณรัฐเช็ก

คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก สาธารณรัฐเช็ก ว่าเป็นประเทศที่สวยงามน่าท่องเที่ยวและต้องแวะไปเยี่ยมเยือนหากเดินทางไปท่องเที่ยวในยุโรป อย่างไรก็ดี การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐเช็ก เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะเป็นโอกาสที่เอกชนเช็กที่ติดตามคณะมาด้วย ได้เรียนรู้ศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย รวมทั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แล้ว ยังนับเป็นโอกาสที่เปิดให้เห็นศักยภาพของเช็กในมิติต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อไทยอีกด้วย ซึ่ง การศึกษา ก็เป็นหนึ่งในนั้น

 

การศึกษาของเช็กไม่ธรรมดา ย้อนไปในปี ค.ศ. 1348 พระเจ้าชาร์ลส์ที่สี่ กษัตริย์และจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ทรงก่อตั้ง มหาวิทยาลัยชาร์ลส์ ที่กรุงปรากเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภูมิภาคยุโรปกลาง และทะยอยตั้งสถาบันด้านวิชาชีพ สถาบันทางเทคนิค และศิลปะต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากมายในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 – 19 การศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐไม่มีค่าเล่าเรียน (ถ้าเรียนเป็นภาษาเช็ก) สถาบันที่เรียกว่า “มหาวิทยาลัย” จะมีการเรียนการสอนทั้งสามระดับปริญญา ขณะที่สถาบันที่ใช้ชื่ออื่นมักจะมีการเรียนการสอนเฉพาะระดับปริญญาตรี ปัจจุบัน มีจำนวน 73 มหาวิทยาลัย วิทยาลัย และสถาบัน โดย 28 แห่ง เป็นของรัฐ (รวม University of Defence ของทหาร และโรงเรียนตำรวจ Police Academy ของตำรวจ) และ 45 แห่ง เป็นของเอกชน

  มหาวิทยาลัยชาร์ลส์

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 นางอุรีรัชต์ เจริญโต เอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก ได้เชิญนักศึกษาไทยที่ศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษาภายในเช็กมาพบปะพูดคุย สอบถามทุกข์สุข ทำให้ทราบว่า ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยมาศึกษาในเช็กประมาณ 20 คน อยู่ระหว่างการศึกษาด้านแพทยศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ มีด้านสังคมศาสตร์บ้างจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่ใช้บริการจากบริษัทเอกชน ในด้านการเตรียมเอกสารการสมัครเข้าศึกษา การจัดให้ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยในเช็กเดินทางไปสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกนักศึกษาจากไทย และการติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเพื่อให้ตรวจสอบและรับรองวุฒิการศึกษาภายหลังการสำเร็จการศึกษา

  เช็กมีดีกว่าที่ท่องเที่ยว

ณัฐณิชา มโนมัยกุล และคุณานนท์ อิทธิไกรเจริญ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยชาร์ลส์ (ภาคภาษาอังกฤษ) ให้ข้อมูลกับสถานเอกอัครราชทูตฯ ว่า ตัดสินใจมาศึกษาที่เช็กเนื่องจากสนใจอยากศึกษาต่อในต่างประเทศ และเห็นว่ามหาวิทยาลัยในเช็กได้รับการจัดอันดับมาตรฐานการศึกษาสูงกว่าหลายมหาวิทยาลัยในยุโรปหลายประเทศ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยชาร์ลส์ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในยุโรปกลางและมีมาตรฐานการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับอย่างสากลทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์

 

อัตราค่าเล่าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในเช็กเฉลี่ยแล้วประมาณ 360,000 คอรูน่า/ปี หรือประมาณ 540,000 บาท ซึ่งถือว่าไม่สูงมากเมื่อเทียบกับการศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในประเทศอื่นๆ ในยุโรปรวมทั้งมหาวิทยาลัยเอกชนในไทย และหากศึกษาต่อด้านสังคมศาสตร์ อัตราค่าเล่าเรียนก็จะต่ำกว่านี้ อย่างไรก็ดี การเรียนการสอนด้านการแพทย์ในเช็กแตกต่างจากไทย ตรงที่เน้นภาคทฤษฎีเป็นหลัก ภาคปฏิบัติเป็นเรื่องรอง โดยหากสนใจก็สามารถสอบถามอาจารย์ผู้สอนได้ นอกจากนี้ หากสอบผ่านได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ก็จะครอบคลุมกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป โดยต้องศึกษาภาษาเพิ่มเติมในประเทศที่ประสงค์จะเข้าไปประกอบอาชีพ 

 

จะเห็นได้ว่า เช็กเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจและไม่ควรมองข้ามสำหรับนักศึกษาไทยที่ต้องการไปเรียนต่อในต่างประเทศ ปัจจุบัน มีนักศึกษาแพทย์จากมาเลเซียและญี่ปุ่นมาศึกษาต่อที่เช็กจำนวนไม่น้อย ด้วยค่าเล่าเรียนที่ไม่สูงมาก ยิ่งถ้ารู้ภาษาเช็กก็ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน มีสภาพความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย (เช็กได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยเป็นอันดับ 6 ของโลก)

 

ค่าครองชีพแม้จะไม่ต่ำนัก แต่ก็พอรับได้ การเดินทางมาเรียนไม่ยุ่งยาก ยิ่งปลายปี 2562 อาจจะมีเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ กับกรุงปราก เมืองหลวงของเช็กด้วยแล้ว ยิ่งสะดวกสบายขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดี ผู้สนใจควรตรวจสอบกับสำนักงาน ก.พ. และแพทยสภา (ในกรณีจะศึกษาคณะแพทยศาสตร์) เกี่ยวกับการรับรองและเทียบวุฒิการศึกษาก่อน เพื่อป้องกันปัญหาการเทียบวุฒิการศึกษาในภายหลังด้วย 

เช็กมีดีกว่าที่ท่องเที่ยว