ร.ฟ.ท. หัก 'ซีพี' ยืดจ่ายค่าเช่าที่ดินไฮสปีด

01 ก.พ. 2562 | 04:30 น.
010262-1124

เบื้องลึกประมูลรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ไม่ลื่น! บิ๊ก ร.ฟ.ท. รับไม่ได้ ขอจ่ายค่าเช่าที่ดินรถไฟเมื่อมีผลตอบแทน ปรับโครงสร้างจากลอยฟ้าเป็นระดับดิน ลดต้นทุน เอกชนแปดริ้วโวยเปิดช่องปรับย้ายสถานี

ลุ้นกันมากสำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน จากเดิมที่กำหนดจะต้องได้ผู้ชนะการประมูลและส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติภายในเดือน ม.ค. 2562 ซึ่งช่วงแรกของการประมูลค่อนข้างไหลลื่น นั่นคือ กลุ่มซีพีเสนอขออุดหนุนต่ำกว่ากรอบราคาที่รัฐกำหนด 1.19 แสนล้านบาท แต่เมื่อถึงขั้นตอนเจรจา ปรากฏว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รับข้อเสนอของกลุ่มซีพีเพียง 3 ข้อ จากที่เสนอมา 11 ข้อ

 

[caption id="attachment_382717" align="aligncenter" width="503"] ** ภาพประกอบข่าว ** ** ภาพประกอบข่าว **[/caption]

ส่วนอีก 8 ข้อนั้น อยู่นอกเงื่อนไขทีโออาร์ ซึ่งผู้สังเกตการณ์ในวงการธุรกิจประเมินว่า ยากที่จะตกลงกันได้ แม้วันที่ 1 ก.พ. นี้ จะนัดถกใหญ่กันอีกครั้ง ทำให้การเซ็นสัญญาเพื่อได้ตัวผู้รับสัมปทานอาจถูกเลื่อนออกไปหลังการเลือกตั้ง เพราะเงื่อนไขที่ว่าผิดทั้งเงื่อนไขทีโออาร์ รัฐเสียประโยชน์ และเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี ขณะโครงการรถไฟความเร็วสูงจำเป็นต้องเดินหน้า เนื่องจากเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เพื่อเรียกความเชื่อมั่นสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มองว่าเรื่องนี้เป็นเกม ที่ซีกเอกชนผู้ประมูลประเมินว่า อาจจะถือไพ่เหนือกว่า

สำหรับข้อเสนอที่คณะกรรมการไม่ตอบรับ 8 ข้อ หนึ่งในหลายข้อที่ทำให้ ร.ฟ.ท. รับไม่ได้ นั่นคือ ข้อเสนอขอชำระค่าเช่าที่ดินรถไฟ (ที่ดินมักกะสัน-ศรีราชา) จนกว่าจะถึงจุดที่มีผลตอบแทน นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้รัฐการันตีผลตอบแทน 6.75% เพื่อช่วยรับความเสี่ยง ทั้งดอกเบี้ยที่อาจวิ่งไปเท่าตัว 8-9% จากปกติ 5% อีกทั้งให้รัฐจัดหาสินเชื่อราคาถูกไม่เกิน 2% เพื่อลงทุนโครงการนี้ เนื่องจากกลุ่มซีพีไม่ต้องการให้ดอกเบี้ยดันต้นทุนขยับเกินกรอบที่กำหนดไว้ คือ 1.2 แสนล้านบาท 10 ปี ดอกเบี้ย 2% อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท แต่อัตราดอกเบี้ยปกติ 5% ทำให้ต้นทุนวิ่งไปที่ 2 แสนล้านบาท ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของกูรูวงการก่อสร้าง ระบุว่า วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท สำหรับรถไฟความเร็วสูงไม่มีใครสามารถทำได้ ยกเว้นจีน

 

[caption id="attachment_382719" align="aligncenter" width="500"] ร.ฟ.ท. หัก 'ซีพี' ยืดจ่ายค่าเช่าที่ดินไฮสปีด เพิ่มเพื่อน [/caption]

นอกจากนี้ ในระหว่างก่อสร้าง กลุ่มซีพียื่นข้อเสนอว่า รัฐต้องจ่ายค่างวดงาน โดยไม่รอให้จบโครงการ เท่ากับว่า กลุ่มซีพีเป็นได้แค่ผู้รับเหมาที่รับงานภาครัฐเท่านั้น ซึ่งกระทรวงคมนาคมระบุว่า หากเป็นเช่นนี้ รัฐสามารถลงทุนเอง โดยไม่จำเป็นต้องให้สัมปทานกับเอกชน

อีกประเด็นที่เป็นที่กังวลของคนในพื้นที่ที่ "รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน" ผ่าน นั่นคือ การขอปรับแบบก่อสร้างจากยกระดับตลอดแนวเป็นเหลือระดับดิน ซึ่งเข้าใจว่า กลุ่มซีพีต้องการลดต้นทุนจากการก่อสร้างโครงการ ส่วนการย้ายสถานี ย้ายแนวเส้นทาง กระทรวงคมนาคมอธิบายว่า ไม่ผิดเงื่อนไขทีโออาร์ แต่กลุ่มซีพีจะต้องศึกษาและทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ 'อีไอเอ' ใหม่

 

[caption id="attachment_382716" align="aligncenter" width="335"] วรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และรักษาการ ผู้ว่า ร.ฟ.ท. วรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และรักษาการ ผู้ว่า ร.ฟ.ท.[/caption]

ด้าน นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และรักษาการ ผู้ว่า ร.ฟ.ท. ออกมาชี้แจงว่า 11 ข้อเสนอนั้นจบการเจรจาไปแล้ว ขณะนี้เน้นเรื่องการเจรจารายละเอียด 30-40 หัวข้อสำคัญ ที่จะนำไประบุในสัญญาเท่านั้น สำหรับข้อกังวลว่า รัฐบาลใหม่จะมาทบทวนการประมูลโครงการต่าง ๆ นั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะหากมีการประกาศผู้ชนะไปแล้ว คงไม่สามารถย้อนกลับมารื้อการประมูลโครงการให้ล่าช้าอีก นายวรวุฒิ ย้ำชัดว่า ภายในเดือน ก.พ. นี้ จะเร่งสรุปแล้วนำรายงานคณะกรรมการอีอีซี เร่งเสนอ ครม. ภายในเดือน มี.ค. 2562

สำหรับ นายวัชระ ปิ่นเจริญ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า หากกลุ่มซีพีย้ายแนว หรือ สถานีรถไฟความเร็วสูงใหม่ คนพื้นที่ไม่เห็นด้วย เพราะเอกชนต่างก็ซื้อที่ดินไว้รอพัฒนาเช่นเดียวกัน


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,440 วันที่ 31 ม.ค. - 2 ก.พ. 2562 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ตีกันทุนใหญ่! ขีดวง 1 พันไร่รอบไฮสปีด
กังขา "เงื่อนไขพิสดาร" ไฮสปีด! หวั่นรัฐเสียค่าโง่-เอื้อประโยชน์เอกชน


เพิ่มเพื่อน
บาร์ไลน์ฐาน