'อมตะ' ส้มหล่น! ทุนจีนย้ายฐานผลิต หนีสงครามการค้า

29 ม.ค. 2562 | 03:57 น.
'อมตะ' ชี้! ได้อานิสงส์พิษสงครามทางการค้า นักลงทุนจีนแห่ย้ายฐานการผลิต ใช้ไทยเป็นฐานส่งออกสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ เล็งปรับเป้ายอดขายที่ดินใหม่ทะลุ 1 พันไร่ ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ยอมรับอานิสงส์ 'อีอีซี' ยังไม่ดึงดูดนักลงทุนเข้าพื้นที่มากนัก

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่นับวันรุนแรงขึ้น กำลังส่งผลให้นักลงทุนจากจีนเริ่มที่จะขยับการลงทุน หรือ ย้ายฐานการผลิตเข้ามาสู่ประเทศไทยมากขึ้น เห็นได้จากช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา ยอดการขายที่ดินของนิคมอุตสาหกรรม "อมตะ ซิตี้" ใน จ.ชลบุรีและระยอง พุ่งไปถึง 1,040 ไร่ จากเป้าหมายที่ตั้งไว้เพียง 800 ไร่ ซึ่งได้มีการจ่ายเงินจัดซื้อที่ไปเรียบร้อยแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากจีนกว่า 80% ที่เข้ามาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อรถยนต์ และอะไหล่รถยนต์ เป็นหลัก ขณะที่ อีก 20% จากนักลงทุนญี่ปุ่น ยูโรป และเกาหลี เป็นต้น ในกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน การซ่อมบำรุงเครื่องบิน

TP5-3439-A

ขณะที่ ยอดขายในปี 2562 ตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้น 10% หรือราว 880 ไร่ แต่อาจจะมีการปรับเป้าหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังใหม่ เนื่องจากปัจจุบันมียอดการเจรจาที่อยู่ระหว่างการต่อรองซื้อขายพื้นที่ในมือเกือบ 1 พันไร่แล้ว ในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนประกอบแบตเตอรี่ และส่วนประกอบรถยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอากาศยาน เป็นต้น

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การตั้งเป้าหมายการขยายที่ดินที่เติบโตอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นผลจากสถานการณ์ของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้น ทำให้นักลงทุนจีนเร่งตัดสินใจที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งสินค้าออกไปทั่วโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย จึงทำให้ยอดการซื้อขายที่ดินในปี 2561 พุ่งขึ้นค่อนข้างมาก และจะยังต่อเนื่องมาถึงปี 2562 ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาซื้อที่ดินเกือบ 1 พันไร่ ในส่วนนี้เป็นนักลงทุนจีนถึง 70%

 

[caption id="attachment_379626" align="aligncenter" width="335"] วิบูลย์ กรมดิษฐ์ วิบูลย์ กรมดิษฐ์[/caption]

"สงครามการค้าในช่วงปีที่ผ่านมามีความรุนแรงมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญหรือเป็นแรงบีบให้นักลงทุนจีนเร่งตัดสินใจเข้ามาลงทุนเพื่อส่งสินค้าไปทั่วโลก รวมถึงป้อนความต้องการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ในจีนอีกเป็นจำนวนมาก"

นายวิบูลย์ กล่าวเสริมอีกว่า ส่วนนโยบายการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ 'อีอีซี' นั้น ต้องยอมรับว่า เขตส่งเสริมพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรมของนิคมฯ ทั้ง 2 แห่ง เพิ่งประกาศไปเมื่อช่วงกลางปี 2561 เพื่อรองรับการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น อมตะยังไม่ค่อยได้รับอานิสงส์มากนัก มีการซื้อขายที่ดินเมื่อปีที่แล้วไปไม่ถึง 100 ไร่ ในกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน ซ่อมบำรุงเครื่องบิน ซึ่งในปีนี้จะโหมเชิญชวนนักลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี และจีน

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3439 ระหว่างวันที่ 27 - 30 มกราคม 2562

595959859