มุมกฎหมาย "ค่ายา-รักษาพยาบาล"

22 ม.ค. 2562 | 11:59 น.
เป็นการยกข้อกฎหมายขึ้นต่อสู้กันเลยทีเดียว

พลิกกฎหมายดูรายละเอียดกัน มาตรา 32(3) ของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 บัญญัติให้โรงพยาบาลเอกชนต้องติดประกาศอัตราค่ารักษาพยาบาล ค่ายา และเวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่น ที่เห็นได้ง่าย ณ สถานพยาบาลนั้น

ขยายรายละเอียดในข้อ 4 ของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 26 มี.ค. 2561 ว่า ในกลุ่มค่ารักษาพยาบาล ยาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ประกอบด้วย อาทิ ค่ายาและสายอาหารทางหลอด ค่าเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ ค่าบริการจัดหาโลหิตและส่วนประกอบ ค่าตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการแตกต่าง ค่าเครื่องมือทางการแพทย์ แยกย่อยเป็นอีก 32 รายการ

 

[caption id="attachment_378248" align="aligncenter" width="503"] ©rawpixel ©rawpixel[/caption]

หมวดค่าบริการอื่นตามที่โรงพยาบาลจัดให้ เช่น ค่าห้องพักผู้ป่วย ค่าห้องพักสังเกตอาการ ค่าอาหารผู้ป่วย ค่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับผู้ป่วย ค่าบริการเก็บรักษาศพ ค่าบริการอื่น ค่าผลิตภัณฑ์อื่น เป็นต้น

ทั้งนี้ โรงพยาบาลเอกชนจะเรียกเกินอัตราที่ประกาศไม่ได้ หากไม่ติดประกาศมีโทษปรับ 10,000 บาท หากคิดอัตราเกินที่ประกาศจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วน พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กำหนดให้มีคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีรัฐมนตรีพาณิชย์เป็นประธาน อธิบดีกรมการค้าภายใน ซึ่งเป็นเลขาธิการสำนักงาน กกร. เป็นกรรมการและเลขานุการ มีปลัดพาณิชย์-เลขาฯบีโอไอ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีตั้งแต่ 4-8 คน ในจำนวนนี้เป็นเอกชนครึ่งหนึ่ง

 

[caption id="attachment_377829" align="aligncenter" width="500"] มุมกฎหมาย "ค่ายา-รักษาพยาบาล" เพิ่มเพื่อน [/caption]

กกร. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดให้สินค้าหรือบริการใดเป็นสินค้าหรือบริการควบคุม เพื่อป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่าย หรือ การกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม

โดยจะมีการทบทวนบัญชีสินค้า-บริการควบคุมปีละครั้ง หากเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจ หรือ ข้อเท็จจริงที่ กกร. ใช้ในการพิจารณากำหนดสินค้า-บริการควบคุมเปลี่ยนแปลงไป หรือสิ้นสุดลง ให้ กกร. โดยมติ ครม. ประกาศเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการใช้อำนาจนั้นโดยไม่ชักช้า

เมื่อประกาศเป็นสินค้า-บริการควบคุมแล้ว กกร. มีอำนาจกำหนดราคาซื้อ หรือ ราคาจำหน่ายสินค้า-บริการควบคุมนั้น กำหนดอัตรากำไรสูงสุดต่อหน่วยสินค้า-บริการควบคุม หรือ กำหนดอัตราส่วนต่างราคาซื้อกับราคาขายได้ รวมถึงอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการปฏิบัติ พื้นที่ ระยะเวลา ช่วงเวลา สถานที่เก็บ สั่งให้แจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ ต้นทุน ค่าใช้จ่าย แผนการซื้อ-ขาย ปรับราคา ตลอดจนอำนาจในการสั่งปันส่วนการซื้อหรือขาย เป็นต้น

นั่นคือ กฎหมายควบคุมราคาดูลึกไปว่า อัตราหรือราคาของสินค้า-บริการที่ซื้อขายกันนั้น เป็นการค้าที่เป็นธรรมหรือไม่


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,437 วันที่ 20 - 23 ม.ค. 2562 หน้า 02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'สนธิรัตน์' เผย ครม. อนุมัติ "คุมค่ายา-บริการการแพทย์" ยัน! เป็นธรรมทุกฝ่าย
เปิดศึก ร.พ.เอกชน! 'สนธิรัตน์' ชง ครม. คุมค่ายา 22 ม.ค.


เพิ่มเพื่อน
ติดตามฐาน