เปิดศึก ร.พ.เอกชน! 'สนธิรัตน์' ชง ครม. คุมค่ายา 22 ม.ค.

20 ม.ค. 2562 | 12:35 น.
200162-1857

'สนธิรัตน์' เดินหน้าเสนอ ครม. ขอไฟเขียวขึ้นบัญชียา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าควบคุม 22 ม.ค. นี้ ด้านพาณิชย์ชี้! โรงพยาบาลเอกชนอ้างมีกฎหมายต่างหากเป็นคนละเรื่อง ขณะเสียงหนุน-เสียงค้านยังระงม

หลังการประชุมด่วนกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ และประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 แล้วออกมารับว่า เรื่องการควบคุมยา เวชภัณฑ์ และบริการของโรงพยาบาลเอกชน มีรายละเอียดซับซ้อนมาก จะชะลอการเสนอมติ กกร. ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบประกาศให้เป็นสินค้า-บริการควบคุมออกไปก่อน

 

[caption id="attachment_377275" align="aligncenter" width="220"] สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ และประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ และประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)[/caption]

ล่าสุด แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า นายสนธิรัตน์จะเสนอ ครม. ในการประชุมวันที่ 22 ม.ค. นี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติสินค้าและบริการควบคุม ประจำปี 2562 ตามมติของ กกร. 52 รายการ ซึ่งรวมถึงให้เวชภัณฑ์ และบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล เป็นสินค้า-บริการควบคุมด้วย หลังจากได้ฟังความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาพอสมควร หาก ครม. อนุมัติแล้ว คณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นจะได้หารือในรายละเอียด เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์มาตรการในการกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายต่อไป


P1-info-3437

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะเลขาธิการ กกร. กล่าวว่า กรณีแถลงการณ์สมาคมโรงพยาบาลเอกชน อ้างว่า โรงพยาบาลเอกชนประกาศอัตราค่ายา เวชภัณฑ์ และบริการต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล และประกาศกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายควบคุมราคานั้น เป็นคนละเรื่องกัน เพราะกฎหมายสถานพยาบาลจะกำกับดูแลทางด้านเทคนิคของสถานพยาบาล ขณะที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ จะดูแลเรื่องราคาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

 

สมาคม ร.พ.เอกชน ชี้! คุมค่ายา คุมกำเนิดการลงทุนเทคโนโลยี ร.พ.


เว็บไซต์ข่าวเศรษฐกิจ เพื่อนักธุรกิจรุ่นใหม่ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหา การเงิน การลงทุน การตลาด เทคโนโลยี



การเป็นสินค้า-บริการควบคุม ไม่ได้คุมราคาตายตัว เป้าหมายหลักเพื่อให้สถานพยาบาลมีการแสดงรายละเอียดให้ชัดว่า เป็นค่าอะไรบ้าง มีต้นทุน และกำไรในอัตราเท่าใด เหมาะสมกับผู้บริโภคหรือไม่ อย่างไร หากไม่เหมาะสมควรกำหนดราคาอย่างไร ซึ่งต้องหารือกันในรายละเอียดต่อไป แต่เบื้องต้น ต้องขึ้นบัญชีเป็นสินค้าและบริการควบคุมก่อน


➣ เชื่อร่างไม่ผ่าน เพราะไม่ชัดเจน

ด้าน น.พ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า หลังประชุมครั้งก่อนแล้ว ยังไม่ได้คุยกันอีก ส่วนตัวอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหารือแนวทางการแก้ไขร่วมกันก่อนเข้า ครม. เพราะถ้าเสนอไปก็ต้องถอนออกมาอยู่ดี เนื่องจากแนวทางแต่ละฝ่ายยังขัดแย้งและไม่ชัดเจน สมาคมพร้อมร่วมหารือ หากยังไม่เข้าใจกันชัดเจนผลกระทบก็จะไปอยู่กับผู้บริโภค เพราะถ้าเป็นสินค้าควบคุม ผู้ประกอบการไม่มีผลตอบแทน ไม่มีสินค้า คุณภาพแย่ลง เกิดการขาดตลาดเหมือนสินค้าอื่น ๆ ภาระกลับไปตกหนักที่รัฐอีก


ส.รพ.เอกชน

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา สมาคมอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การส่งเสริมการลงทุนของ BOI ซึ่งตามกฎหมายฉบับนี้ บัญญัติชัดเจนว่า ภาครัฐไม่สามารถมาควบคุมหรือกำกับได้ในด้านการแข่งขัน ดังนั้น อยากให้ทุกฝ่ายมองให้รอบด้าน


➣ แนะใช้ AI ลดต้นทุน

ด้าน น.พ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวว่า การผลักดันยา-เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ ให้เป็นสินค้าควบคุม มองว่าไม่น่าส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนแต่อย่างใด เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งต้องปรับตัวเพื่อรองรับมาตรการดังกล่าวอยู่แล้ว ปัจจุบัน ยาก็มีหลายระดับราคา ขึ้นอยู่กับว่า โรงพยาบาลไหนจะเลือกใช้ยาอะไรและระดับราคาไหน ส่วนค่ารักษาพยาบาลนั้น ต้องให้คิดตามต้นทุนจริงด้วย เพราะเวลานี้โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาต่ำกว่าต้นทุน โดยใช้กำไรค่ายามาเฉลี่ย

 

[caption id="attachment_377278" align="aligncenter" width="503"] น.พ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG น.พ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG[/caption]

ส่วนแนวทางการปรับตัวนั้น ต้องใช้เทคโนโลยีไอทีและ AI เพื่อให้ต้นทุนให้ต่ำลง พร้อมกันนี้ ควรผลักดันแพทย์ประจำบ้านมากขึ้น คนป่วยจะได้ไม่ทะลักโรงพยาบาล ส่วนโรงพยาบาลรัฐต้องปรับปรุงมาตรฐานบริการให้ใกล้เคียงเอกชน ไม่ใช่มีช่องว่างของการให้บริการห่างกันเกินไป

พร้อมเสนอให้บริหารควบคุมการสั่งซื้อเครื่องมือแพทย์ โดยอาจกำหนดจากขนาด จำนวนเตียง หรือ พื้นที่ให้บริการ มีเท่าไหร่สามารถมีเครื่องมือแพทย์ชนิดไหน ปริมาณเท่าไหร่ เพื่อป้องกันโรงพยาบาลไปลงทุนซื้อเครื่องมือแพทย์จำนวนมาก มีต้นทุนสูง แล้วมาคิดในค่ายาหรือเวชภัณฑ์

 

[caption id="attachment_377273" align="aligncenter" width="500"] เปิดศึก ร.พ.เอกชน! 'สนธิรัตน์' ชง ครม. คุมค่ายา 22 ม.ค. เพิ่มเพื่อน [/caption]

➣ ปล่อยตามกลไกตลาด

ส่วนนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้เป็นสินค้า-บริการควบคุม ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกรับบริการ อีกทั้งมีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าดูแลอยู่แล้ว ที่จะไม่ให้มีการเอาเปรียบหรือมีอำนาจเหนือตลาด พอแล้ว ซึ่งหอการค้ามีจุดยืนชัดเจนว่า การค้าควรเสรีและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การจะควบคุมอะไรจะต้องดูว่า หากควบคุมแล้วกระทบกับใครหรือไม่ เพราะการจะควบคุมราคาและการบริการของโรงพยาบาลเอกชนต้องแยกให้ชัด เพราะโรงพยาบาลมี 2 แบบ คือ แบบดูแลลูกค้าต่างชาติ และแบบดูแลลูกค้าคนไทย ซึ่งก็ต้องมาแยกอีกว่า ค่าบริการและค่ายาควรจะอยู่ตรงไหน เพราะรัฐบาลเองพยายามที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของอาเซียน ดังนั้น การจะควบคุมราคาและบริการอาจจะยาก

 

[caption id="attachment_377281" align="aligncenter" width="503"] ©rawpixel ©rawpixel[/caption]

ขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ชื่นชมและขอบคุณรัฐมนตรีสนธิรัตน์ที่ผลักดันให้สินค้ายาและเวชภัณฑ์ ตลอดจนบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าควบคุมเข้า ครม. ขอให้เดินหน้าต่อไป เพราะรู้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,437 วันที่ 20 -23 ม.ค. 2562 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โบรกมอง ร.พ. กำไรหด! มาตรการ "คุมค่ายา" กระทบมาร์จิน
ร.พ.เอกชน ต้านคุมค่ายา - บริการ


เพิ่มเพื่อน
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก