สะพัด !!!วงการเหล็ก 3บิ๊กเหล็กโลก ดอดเจรจาเงียบซื้อกิจการ ทาทา สตีล

19 ม.ค. 2562 | 00:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

รายงานพิเศษ

สะพัด !!!วงการเหล็ก

3บิ๊กเหล็กโลก ดอดเจรจาเงียบซื้อกิจการ ทาทา สตีล

 

กล่าวถึงกันมาพักหนึ่งแล้วเมื่อปลายปี2561 เมื่อสื่ออินเดียออกมาประโคมข่าว ทำนองว่า บริษัท ทาทา สตีลฯ (Tata Steel) ผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กทรงยาวสัญชาติอินเดีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) หรือ TSTH อยู่ในช่วงประกาศหาผู้ซื้อกิจการหรือเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในกลุ่มทาทา สตีล ที่ลงทุนในอาเซียนทั้งหมด

ดูเหมือนว่าล่าสุดข่าวนี้ทำท่าจะเป็นจริงเนื่องจากวงการเหล็กมีการกล่าวถึงกันหนาหูมากว่า ขณะนี้มีบริษัทเหล็กที่มีชื่อเสียงในตลาดโลกอย่างน้อย 3 ค่ายที่เข้ามาหารือกับกลุ่มทาทา สตีล มีทั้งบริษัทผลิตเหล็กรายใหญ่เบอร์2 ของจีนนามว่า Hebei Steel และบริษัทผู้ผลิตเหล็กเกรดพิเศษอีกรายในจีน ที่ยังไม่ยอมเปิดเผยชื่อ รวมถึงบริษัท Nssmc (Nippon Steel & Sumitomo Metal Corporation ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่เบอร์ 1 จากญี่ปุ่น และเป็นผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของโลก

รายหลังนี้มีประสบการณ์ลงทุนในไทยอยู่แล้ว เพราะถือหุ้นอยู่ในบริษัท สยามยูไนเต็ดสตีล (1995) จำกัด ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็น ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ยังไม่ถูกเปิดเผยจากผู้บริหารของทาทา  สตีล ถึงรายละเอียดและ เงื่อนไข การเจรจาทั้งหมด แต่ว่ากันว่ามีแนวโน้มสูงที่เป็นการเข้าซื้อกิจการของ ทาทา สตีลในธุรกิจเหล็กที่ลงทุนในอาเซียนและกระจายอยู่ในประเทศไทยและ สิงคโปร์ โดยเฉพาะโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ประกอบด้วย โรงงานผลิตเหล็กเส้น 3 แห่ง ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และสระบุรี , โรงเหล็กลวด 2แห่ง ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง และที่ สิงคโปร์ 1 แห่ง  ผลิตในนามบริษัท Natsteel

รูปเหล็ก2

วงการเหล็กตั้งข้อสังเกตว่า ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น  และมาตรการปกป้องที่ออกมาล่าช้า ทำให้ทาทา สตีล  ถอยออกมา และเปิดทางให้บิ๊กวงการเหล็กโลกเข้ามาเจรจา ที่เวลานี้อยู่ในช่วงทำดีลดิริเจนซ์ คาดว่าไม่น่าจะเกินเดือนมีนาคมนี้คงออกมาประกาศถึงความชัดเจนทั้งหมดได้แล้ว

อย่างที่เคยนำเสนอข่าวมาหลายครั้งถึงวิบากกรรมอุตสาหกรรมเหล็กที่ตั้งโรงงานในประเทศไทย  ทั้งทุนไทยทุนเทศ ต่างเผชิญโชคชะตากรรมเดียวกันถ้วนหน้า   นับตั้งแต่ปัญหาวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย เมื่อปี2540 หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เป็นช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินที่รุนแรง  สะเทือนหลายบริษัทผลิตเหล็ก ทั้งรายเล็กรายใหญ่ พากันล้มหายตายจาก บางรายก็ยอมขายกิจการให้ทุนไทยและต่างชาติที่มีสายป่านยาวกว่า  บางรายยอมยกธงขาวปิดกิจการไป

ย้อนรอย

-แข่งขันไม่เป็นธรรม

เมื่อสิ้นสุดวิกฤติการเงินกว่าจะฟื้นตัวใช้เวลานาน 5-10 ปี  พอเริ่มหายใจได้ไม่นาน อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย ต้องมาเผชิญกับปัญหาอันหนักหน่วงยิ่งขึ้นอีกครั้ง จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพราะมีเหล็กราคาถูกจากหลายประเทศเฮโลกันเข้ามาตีตลาดแข่งกับผู้ผลิตเหล็กในประเทศไทยครั้งแล้วครั้งเล่า

ถึงแม้ว่าเหล็กบางประเภทจะได้รับการปกป้องด้วยมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการปกป้องจากการนำเข้า (เซฟการ์ด)  แต่การออกมาปกป้องดังกล่าว นอกจากล่าช้าไม่ทันเวลาแล้ว ยังมีเงื่อนเวลาและยังไม่สามารถรับมือได้ทั้งหมด   เพราะยังมีวิธีการนำเข้าที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อเลี่ยงภาษีได้  และยังคงมีการนำเข้าเหล็กราคาถูกจากจีนทะลักเข้ามาต่อเนื่อง เข้ามาขายในราคาดั๊มตลาด

เหล็กจากจีนเข้ามาตีตลาด โดยที่รัฐบาลจีนอุดหนุนการส่งออก ถือเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม!   และที่แย่ไปกว่านั้น ขณะนี้กลุ่มทุนจีนไม่เพียงแต่ส่งออกเหล็กเข้ามาตีตลาด  แต่กลับเดินสายออกมาลงทุนนอกประเทศจีนมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน    การเคลื่อนย้ายทุนออกมานอกประเทศจีนเริ่มมากขึ้น หลังจากรัฐบาลจีนประกาศยกเลิกการหลอมเศษเหล็กแบบ Induction Furnace หรือ IFในจีน เพราะสร้างปัญหามลพิษภายในประเทศจีนอย่างหนักหน่วง ทำให้ปริมาณเหล็กหายไปจากจีนมากกว่า 100 ล้านตันก่อนหน้านี้

รูปเหล็ก3

-จีนถล่มไทยเขย่าขาบิ๊กเหล็กเส้น

การผลิตเหล็กจากจีนด้วยระบบ IF ไม่ได้หายไปจากตลาดแบบไปแล้วไปลับ... กลับตรงกันข้ามกำลังออกมาสร้างปัญหาด้านมลพิษให้กับประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งไทยติดร่างแห่ด้วย    อีกทั้งยังเข้ามาเขย่าขาบิ๊กผู้เล่นรายใหญ่อย่างบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเหล็กเส้นและเหล็กลวดรายใหญ่เบอร์1 ในประเทศไทย ในฐานะผู้ผลิตด้วยวิธีการหลอมด้วยเตาชนิดอาร์กไฟฟ้า(Electric Arc Furnace) EAFซึ่งรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าระบบ IF ด้วยต้นทุนที่สูงกว่า โดยบิ๊กทาทา สตีลในไทยมีขนาดกำลังผลิตเต็มความสามารถของเครื่องจักรได้สูงถึง 2.5 ล้านตันต่อปี แต่ในความเป็นจริงผลิตได้ยังไม่ถึง 70%

อีกทั้งผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2 ของปีงบการเงิน 2562 (ก.ค.-ก.ย.61) TSTH แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก่อนหน้านี้ว่า ปริมาณขายสินค้าได้รับผลกระทบจากความต้องการในภาคก่อสร้างที่ลดลง เมื่อเทียบกับปริมาณการขายในไตรมาสที่ 2 ปีก่อนหน้านั้นหรือลดลง11%เนื่องจากความต้องการเหล็กรูปพรรณขนาดเล็กและเหล็กเส้นในประเทศลดต่ำลง ทั้งนี้ปริมาณการขายสินค้าที่ลดลงจึงต้องถูกชดเชยด้วยปริมาณการส่งออกไปยังประเทศอินเดีย กัมพูชา และสปป.ลาว

ส่วนปริมาณการขายในช่วงครึ่งปีแรกของปีการเงิน 2562 มีจำนวน 569,000 ตัน ต่ำกว่าครึ่งแรกปีก่อนที่มีจำนวน 600,000 ตัน และยอดขายสุทธิในช่วงไตรมาส2ปีการเงิน2562เป็นจำนวน 5,822 ล้านบาทสูงขึ้น7% เมื่อเทียบกับไตรมากแรกเนื่องจากราคาขายเหล็กโดยรวมเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากราคาเศษเหล็กที่สูงขึ้น

แม้ว่าผลประกอบการไตรมาส 3 ที่กำลังจะประกาศต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้จะดีกว่าไตรมาส 2  เพราะได้อานิสงศ์จากราคาขยับ  แต่ก็ยังไม่ใช่คำตอบว่าทิศทางของอุตสาหกรรมเหล็กนับจากนี้ไปจะเริ่มมองเห็นแสงสว่าง  ด้วยข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งราคาพลังงานที่ยังผันผวน  ความไม่แน่นอนในนโยบายอุตสาหกรรมเหล็กในจีนที่ขยับอย่างไรก็สะเทือนถึงไทย เพราะยังต้องพึ่งพาการใช้เหล็กต้นน้ำจากจีน ในขณะที่ไทยก็เป็นเป้าหมายที่จีนส่งเหล็กเข้ามาตีตลาดอยู่แล้ว

-การแข่งขันริบหรี่คู่แข่งมีรัฐหนุน

เส้นทางเดินของอุตสาหกรรมเหล็กยิ่งดูยิ่งริบหรี่ในแง่การแข่งขัน เพราะแม้แต่ผู้เล่นรายใหญ่อย่างบิ๊กทาทา สตีล ในวันนี้ก็ต้องวิ่งปรับตัว และยอมรับผ่านสื่อมาตลอดว่าต้องแข่งขันกับเหล็กนำเข้าจากจีนด้วยบรรทัดฐานที่ไม่เป็นธรรม เพราะผู้ผลิตเหล็กจีนมีรัฐบาลอุดหนุนในการส่งออก

รูปเหล็ก1

ในขณะที่การดูแล ปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กของรัฐบาลไทย  นอกจากเข้ามาแก้ปัญหาล่าช้าแล้ว  ล่าสุดเหล็กบางชนิด ก็ได้ถูกยกเลิกการปกป้อง เช่น การออกมาประกาศไม่ต่ออายุการใช้มาตรการปกป้อง(เซฟการ์ด)สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน ที่ก่อนหน้านี้นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ให้เหตุผลว่า  คณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง(คปป.) ได้ประชุมเมื่อเร็วๆนี้ และมีความเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการปกป้องเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่ 3  เนื่องจากผลการไต่สวนออกมาชัดเจนว่าปริมาณการนำเข้าของสินค้าที่ถูกไต่สวนมีแนวโน้มลดลง ส่วนแบ่งตลาดสินค้านำเข้าลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมภายในประเทศมียอดขายและการใช้กำลังผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนผลกระทบจากสินค้านำเข้าพบว่ามีผลการขาดทุนลดลง

อีกทั้งก่อนหน้านี้คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนออกมาพิจารณายุติการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อนชนิดม้วนและไม่ม้วนที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน และเกาหลี โดยให้เหตุผลว่า ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างสำคัญที่เกิดกับอุตสาหกรรมภายใน และไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างสินค้าทุ่มตลาดกับความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน

ไม่สอดคล้องกับความเห็นของผู้ผลิต  ที่ล่าสุดนายพงศ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และกรรมการผู้จัดการสายงานบริหารทั่วไป บริษัท กรุงเทพผลิตเหล็ก จำกัด (มหาชน)กล่าวว่าเหล็กเคลือบสังกะสีในประเทศมีผู้ผลิตราว 10 รายรวมกำลังผลิตได้ 1 ล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบันผลิตได้จริงไม่เกิน30%ในขณะที่ตัวเลขการนำเข้ากลับพุ่งสูงขึ้นมากจึงเป็นปัญหาที่ทำให้บริษัทต้องออกมาประกาศลดคนไปก่อนหน้านี้แล้ว50%จากที่มีพนักงานในบริษัทฯราว1,600คน

ด้านนายวิกรม วัชระคุปต์  ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก และประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าในช่วง 11 เดือนแรกปี 2561 มีการบริโภคเหล็กภายในประเทศรวมทุกชนิด 16.1 ล้านตัน  และคาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 17 ล้านตันเศษ   เติบโตตามการขยายตัวของจีดีพี ที่ระดับ 4-5%  โดยจำนวน 16.1 ล้านตัน  เป็นการผลิตในประเทศเพียง 6.5 ล้านตัน และมาจากการนำเข้าสูงถึง 11.1 ล้านตัน ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากจีน  โดยการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกประเภทและส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเหล็กแผ่น ทำให้ผู้ผลิตในประเทศไทยโดยเฉลี่ยยังใช้กำลังผลิตจริงได้ไม่ถึง40%

ดูจากภาพรวมของปัญหาในวงการเหล็กแล้ว  มีแนวโน้มสูงที่กลุ่มทุนจีนอาจจะเข้ามากินรวบตลาดเหล็กในไทยและในอาเซียน เนื่องจากมีการเติบโตด้านเศรษฐกิจพื้นฐาน

ยังต้องจับตาว่าถึงที่สุดแล้วขาใหญ่ในวงการเหล็กสัญชาติอินเดีย อย่างกลุ่มทาทา สตีลจะก้าวไปในทิศทางไหน และอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยที่เหลืออยู่ จะเปลี่ยนบทบาทจากผู้ผลิตกลายเป็นผู้นำเข้าแทนหรือไม่ยังต้องติดตามต่อไป!

ติดตามฐาน