"เซ็นทรัลทำ" ร่วมมูลนิธิชัยพัฒนา สนับสนุนผลิตภัณฑ์ "ทรัพย์-ปัน" ผลักดันเกษตรกรรมยั่งยืน

23 ธ.ค. 2561 | 02:20 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

จากแนวคิดการช่วยเหลือสังคมของ "กลุ่มเซ็นทรัล" ซึ่งประกาศแนวทางชัดเจนในการสร้างสังคมยั่งยืน ภายใต้โครงการ "เซ็นทรัลทำ" ไปเมื่อ ส.ค. 2561 ด้วยเจตนารมณ์ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งกับพนักงานและสังคม โครงการได้เดินหน้าต่อเนื่อง โดยล่าสุด ได้ร่วมมือกับ "มูลนิธิชัยพัฒนา" สนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตร ตรา "ทรัพย์–ปัน" ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อและตราสัญลักษณ์ สำหรับจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปของโครงการและกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายโครงการชัยพัฒนา

09.
ครั้งนี้กลุ่มเซ็นทรัลได้ร่วมสนับสนุนช่องทางจัดจำหน่ายผลผลิต ภายใต้ตรา "ทรัพย์-ปัน" อาทิ คะน้า ผักสลัด เรดโอ๊ก กะหลํ่าปลี หน่อไม้ฝรั่ง เห็ดหูหนู และอื่น ๆ โดยล่าสุด ได้เปิดตัวข้าวเพื่อสุขภาพ "ข้าวพิษณุโลก 80" และจะเริ่มวางจำหน่ายในท็อปส์ 6 สาขา ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2562 ได้แก่ ท็อปส์ ใน จ.เชียงใหม่ 5 สาขา และเชียงราย 1 สาขา และยังมีแผนขยายช่องทางการจำหน่ายผ่านท็อปส์ออนไลน์และท็อปส์สาขาในกรุงเทพฯ อีกด้วย

"บุษบา จิราธิวัฒน์" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า มีแผนที่จะช่วยทำประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับคุณภาพและสรรพคุณของข้าวพิษณุโลก 80 ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ และผู้ควบคุมปริมาณนํ้าตาลในอาหาร เช่น โรคเบาหวานและโรคอ้วน เนื่องจากมีค่าดัชนีนํ้าตาล (Glycemic Index - GI) ปานกลาง-ตํ่า เพียง 59.5 เมื่อเทียบกับพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่มีค่าดัชนีนํ้าตาลมากกว่า 69 จัดจำหน่ายในรูปแบบข้าวขาว บรรจุแพ็กละ 1 กก. และ 2 กก. และข้าวกล้อง บรรจุแพ็กละ 1 กก. ภายในเดือน ม.ค. 2562 โดยกลุ่มเซ็นทรัลมีแผนรับซื้อข้าวทั้งหมด ซึ่งในล็อตแรกมีจำนวน 15 ตัน


22.

"ขณะนี้ เรากำลังให้ท็อปส์ดูเรื่องนโยบายโลจิสติกส์ ที่จะรับส่งสินค้าเกษตรกรเหล่านี้พ่วงเข้าไปด้วย อย่างน้อยข้าวพิษณุโลก 80 จะต้องมีวางขายในสาขาของท็อปส์ที่กรุงเทพฯ ตามนโยบายของเราที่ต้องการสนับสนุนและคัดเลือกสินค้าคุณภาพให้กับผู้บริโภคอย่างทั่วถึง และเราจะโปรโมตให้คนรู้ว่า พันธุ์ข้าวพิษณุโลก 80 ดีอย่างไร"

"อนุตรา วรรณวิโรจน์" ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า ได้ส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายโครงการ จำนวน 14 ครัวเรือน ปลูกข้าวพันธุ์พิษณุโลก 80 บนพื้นที่ 42 ไร่ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สนับสนุนให้ปลูกข้าวสายพันธุ์นี้ในภาคเหนือ จากเดิมที่ปลูกแค่ข้าวสายพันธุ์หอมมะลิ 105 และข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งมีปริมาณค่อนข้างมากในตลาดอยู่แล้ว

"โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูง" ของมูลนิธิชัยพัฒนา ตั้งอยู่บนพื้นที่ต้นนํ้าลำนํ้าใจ ซึ่งเป็นต้นนํ้าสายสำคัญของแม่นํ้าฝาง เราจึงมีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดยโครงการได้ดำเนินการทำการเกษตรในระบบอินทรีย์แบบครบวงจร แต่เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวเกษตรกรไม่สามารถทำเกษตรในระบบอินทรีย์ได้ 100% เนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่เปิด ไม่สามารถจำกัดสารปนเปื้อนได้หมด แต่ทางมูลนิธิก็พร้อมสนับสนุนและผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบ GAP (Good Agricultural Practice) หรือ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช โดยได้เริ่มทดลองกับการปลูกข้าวพันธุ์พิษณุโลก 80 ในพืชที่ 42 ไร่ ของเกษตรกร และยังสนับสนุนให้เกษตรกรอื่น ๆ เข้าร่วมต่อไป

หน้า 28 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,428 วันที่ 20-22 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ติดตามฐาน