รัฐเร่ง‘อีโคอีวี’เต็มสูบหนุนผู้ผลิตอีโคคาร์เฟส 2-สศอ.ยันแผนเสร็จปีนี้

23 พ.ย. 2561 | 02:52 น.
สศอ.เดินหน้าเจรจาค่ายรถ พร้อมศึกษาแผนสนับสนุน “อีโคอีวี”มั่นใจเคาะภายในสิ้นปีนี้ ด้าน “มาสด้า”รับลูก เผยเป็นแนวทางที่ดีน่าสนใจเพราะเซ็กเมนต์อีโคคาร์มีขนาดใหญ่ ขณะที่ผู้ผลิตบางรายชี้นโยบายเปลี่ยนเร็ว ปรับตัวไม่ทัน

หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีมาตรการเร่งด่วนเพื่อผลักดันให้โครง การยานยนต์ไฟฟ้าเกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น และมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เพื่อไปศึกษาและหาแนวทางซึ่งเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าจะสนับสนุนอีโคอีวีเนื่องจากปัจจุบันรถอีโคคาร์มีสัดส่วนกว่า54 %ในกลุ่มรถยนต์นั่งและยังเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวที่2ของไทยรองลงมาจากรถปิกอัพ

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)ได้เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของอีโคอีวีในตอนนี้ อยู่ในระหว่างการพูดคุยกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าจะนำเสนอเงื่อนไขออกมาอย่างไร โดยยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะออกมาเป็นแพ็กเกจใหม่ หรือว่าจะต้องมีการขอรับการส่งเสริมเพิ่มเติมจากทางบีโอไอ อย่างไรก็ดีคาดว่าแนวทางต่างๆจะต้องได้ข้อสรุปและแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน

MP32-3420-A

“มันมีช่องว่างของนโยบายที่จะแทรกลงไป สำหรับตัวอีโคอีวี อีกทั้งรัฐบาลต้องการที่จะปกป้องตลาดรถอีโคคาร์ ซึ่งถือเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวที่ 2 ดังนั้นการเกิดอีโคอีวีนั้น ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราขอพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ค่ายรถต่างๆ เพื่อให้ได้มาตรการที่จูงใจและช่วยผลักดันให้รถอีโคคาร์ก้าวไปสู่การเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV)”

สำหรับ“อีโคอีวี”จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรถยนต์ในโครงการอีโค เฟส2 สามารถปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่อีโคอีวีได้ โดยยังคงเงื่อนไขส่วนใหญ่และสิทธิประโยชน์ของอีโคคาร์ที่บีโอไอได้ให้ไว้เหมือนเดิมและกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดอย่างเป็นธรรมโดยสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจะต้องไม่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดในด้านเทคโนโลยี

“ในเบื้องต้นเรามองว่าแนวทางการสนับสนุนอีโคอีวีเป็นเรื่องที่ดี เพราะอีโคคาร์มีขนาดตลาดที่ใหญ่ ความต้องการสูง อีกทั้งยังเป็นรถยนต์ขนาดเล็กที่ประหยัดพลังงาน ส่วนกรอบแนวทางต่างๆในส่วนของอีโคคาร์นั้นชัดเจนอยู่แล้ว ก็คงต้องรอดูว่าแนวทางของอีโคอีวีที่จะออกมาใหม่นั้นจะมีเงื่อนไขรายละเอียดอย่างไร ซึ่งหลังจากออกมาแล้วเราก็คงต้องพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง” นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหาร ฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวและว่า

สำหรับมาสด้าถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์ในโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 รายแรก และมีการลงทุนมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยเปิดตัวรถอีโคคาร์รุ่นแรกคือ มาสด้า 2 ในช่วงปี 2557

ขณะเดียวกันมาสด้ายังยื่นขอรับการส่งเสริมจาก บีโอไอเพื่อผลิตรถยนต์
ไฮบริด ซึ่งล่าสุดบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศ ไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles-HEV) ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 1.148 หมื่นล้านบาท โดยได้เสนอแผนงานรวมในการลงทุนตามที่กำหนด อาทิ โครงการประกอบรถยนต์และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ ซึ่งโครงการนี้จะใช้วัตถุดิบในประเทศมีมูลค่ารวมกว่า 19,461 ล้านบาทต่อปี

[caption id="attachment_350125" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ด้านแหล่งข่าวผู้ผลิตรถยนต์รายหนึ่งเปิดเผยว่า นโยบายที่ปรับเปลี่ยนบ่อยทำให้บริษัทแม่เกิดความกังวลใจ เนื่องจากการลงทุนในแต่ละโครงการใช้เม็ดเงินที่สูงมาก อย่างไรก็ดีมองว่า
นโยบายต่างๆที่ออกมาเป็นเรื่องที่ดีแต่ว่าต้องให้เวลากับผู้ผลิตในการคิดและตัดสินใจ

“เรามีความสนใจที่จะเข้าร่วมในโครงการรถยนต์ไฟฟ้า แต่เมื่อนโยบายมีการปรับเปลี่ยน ทำให้เราต้องมีการพูดคุยกับบริษัทแม่ แต่ทั้งนี้เรายังยืนยันว่าจะยื่นเรื่องขอรับการส่งเสริมในรถยนต์ไฟฟ้าต่อไป”

ขณะที่แหล่งข่าวจากผู้ผลิตรถยนต์ในโครงการอีโคคาร์อีก 1 ราย เปิดเผยว่า ในแง่ของผู้ผลิตที่ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้ง 2 โครงการมองว่าไม่น่าจะนำมารวมกัน โดยแนวทางของรัฐควรกระตุ้นให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาในประเทศไทย มากกว่าจะเดินถอยหลัง เพราะตามเป้าหมายที่รัฐวางไว้คือการก้าวไปสู่เทคโนโลยี ซึ่งอย่างที่รับรู้กันในต่างประเทศตอนนี้ก้าวไปสู่อีวีกันแล้ว

“อีโคคาร์ก็คืออีโคคาร์และรถยนต์ไฟฟ้าก็คือรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ควรเอามารวมกัน และเราไม่เข้าใจว่าไม่ต้องแก้ไขรายละเอียดข้อต่างๆ เพราะเราเชื่อว่าบริษัทแม่ของแต่ละเจ้าต่างมีเทคโนโลยี ที่ทันสมัยกันหมด แต่ทำไมถึงไม่นำเทคโนโลยีนั้นเข้ามาในประเทศไทย”

หน้า 32-33 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,420 วันที่ 22 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

595959859