สคร.เดินหน้าออก TFFIF2 ยอดจองกองแรกทะลัก รายย่อยซื้อเฉียด 3 หมื่นล้าน

24 ต.ค. 2561 | 02:03 น.
สคร.เตรียมเจรจากรมทางหลวง แก้กฎหมาย เปิดทางส่งรายได้ค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ ตั้งกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ระยะที่ 2 ขายนักลงทุน หลังยอดจอง TFFIF 4.5 หมื่นล้านบาททะลัก ทั้งรายย่อย-สถาบัน
แห่ซื้อ

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)เปิดเผยว่า สคร.จะเดินหน้าจัดตั้งกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์(TFFIF) ระยะ 2 ออกมาโดยเร็ว เพื่อรองรับกับความต้องการของประชาชน หลังจากมียอดจองซื้อหน่วยลงทุน TFFIF ระยะที่ 1 ออกมาอย่างล้นหลาม โดยจะนำโครงการทางหลวงพิเศษ(มอเตอร์เวย์) สาย 7 กรุงเทพฯ- ชลบุรี และมอเตอร์เวย์ สาย 9 วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออกมาจัดทำเป็นกองทุน

อย่างไรก็ตาม กฎหมายของกรมทางหลวงยังไม่เปิดให้นำรายได้และค่าธรรมเนียมมาเข้ากองทุนได้เหมือนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ดังนั้นจะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าผ่านทาง ของกรมทางหลวงก่อน เพื่อให้สามารถนำรายได้เข้ากองทุนได้ ซึ่งสัดส่วนการลงทุนในสิทธิในการรับรายได้จะมากกว่ากทพ. ที่กำหนดไว้ที่ 45% เนื่องจากกรมทางหลวงเป็นหน่วยงานรัฐ ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ รายได้ทั้งหมดต้องนำส่งรัฐเป็นรายได้แผ่นดินอยู่แล้ว

MP19-3412-A

“มูลค่าโครงการที่จะจัดตั้งกองทุน ยังไม่ได้คุยเรื่องตัวเลข แต่คาดว่าจะสูงกว่า กทพ. เพราะกรมทางหลวงเองก็ต้องการนำเงินไปลงทุนในเส้นทางมอเตอร์ เวย์อื่นๆ ตามแผนที่จะขยายเพิ่มเติมอยู่แล้ว ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะเชิญทางกรมทางหลวงมาหารือในรายละเอียด ซึ่งการแก้กฎหมายเป็นการแก้เฉพาะเรื่อง ไม่ใช่ทั้งฉบับ การพิจารณาจะง่าย ใช้เวลาไม่นาน และน่าจะสามารถขายกองทุนได้ในครึ่งแรกของปี 2562”

ทั้งนี้ สคร.มองว่า การจัดตั้งกองทุน TFFIF เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับนักลงทุน ซึ่งไม่คิดว่านักลงทุนรายย่อยจะสนใจจองซื้อมากขนาดนี้ โดยคิดเป็นมูลค่าการจองซื้อกว่า 28,800 ล้านบาท ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะผลตอบแทนค่อนข้างดีและความเชื่อมั่นว่า มีความมั่นคง เพราะมีกระทรวงการคลังถือหุ้นอย่างน้อย 10% ดังนั้นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา จึงประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะลดสัดนักลงทุนสถาบันลงแล้วไปเพิ่มให้รายย่อย เพื่อให้สอดคล้องกับมติ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่เน้นการกระจายหน่วยลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยให้ได้มากที่สุด อาจจะไม่ได้เต็มจำนวนที่จอง แต่จะได้ขั้นตํ่า คนละ 1 พันหน่วย

090861-1927-9-335x503

“เดิมเราไม่ได้คาดหวังว่า นักลงทุนรายย่อยจะจองเข้ามามากขนาดนี้ จึงนับรวมกองทุนประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)เป็นนักลงทุนรายย่อยทางอ้อมด้วย แต่ปรากฏว่า รายย่อยจริงๆจองเข้ามาล้นมาก จึงไม่ต้องพิจารณารายย่อยทางอ้อม แต่จะมาเกลี่ยสัดส่วนหน่วยลงทุนใหม่ให้รายย่อยเพิ่ม อาจจะอยู่ที่ 50% ของกองทุน  4.5 หมื่นล้านบาท แต่ก็ต้องมีสัดส่วนนักลงทุนสถาบันที่เหมาะสมด้วย เพราะนักลงทุนสถาบันจะถือระยะยาวมากกว่า อาจจะเป็น 10 ปี ซึ่งไม่เกินวันที่ 24 ตุลาคมนี้ ก็น่าจะชัดเจนว่าใครได้เท่าไหร่ เพราะ TFFIF ต้องเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯวันแรกวันที่ 31 ตุลาคมนี้”

หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,412 วันที่ 25-27 ตุลาคม 2561 e-book-1-503x62-7