เตือนรับมือ "สินค้าจีน" เต็มพิกัด!  6,800 รายการ จ่อทะลักท่วมไทย-อาเซียน

24 ต.ค. 2561 | 10:30 น.
... ยังเป็นประเด็นร้อนที่ต้องจับตาต่อเนื่อง สำหรับสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน มหาอำนาจเศรษฐกิจ อันดับ 1 และ 2 ของโลก ที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจ การค้า และการเมืองไปทั่วโลกอยู่ในเวลานี้ ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน อัตรา 25 และ 10% ไปแล้ว 2 ครั้ง รวมสินค้ากว่า 6,800 รายการ คิดเป็นมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ยังขู่จะขึ้นภาษีสินค้าจีนอีก 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากจีนยังตอบโต้สหรัฐฯ


6,800 รายการ จีนหันหัวรบ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การขึ้นภาษีสินค้าจีนไปแล้วกว่า 6,800 รายการ ของสหรัฐฯ แบ่งเป็นรอบแรก (รวม 2 ล็อต) สินค้า 1,102 รายการ และรอบที่ 2 อีก 5,745 รายการ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ในรอบที่ 2 นี้ ถือว่าค่อนข้างครอบคลุมสินค้าเกือบทุกรายการที่จีนส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้จีนส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ได้ในปริมาณและมูลค่าที่ลดลงจากกำแพงภาษีที่สหรัฐฯ เก็บเพิ่มขึ้น

 

[caption id="attachment_336742" align="aligncenter" width="550"] เกรียงไกร เธียรนุกุล เกรียงไกร เธียรนุกุล[/caption]

"การขึ้นภาษีสินค้าจีนในรอบที่ 2 มีความน่าเป็นห่วง เพราะมีความครอบคลุมสินค้าเกือบทุกรายการที่จีนส่งออกไปสหรัฐฯ ตรงนี้จะมีผลกระทบกับไทย เพราะถ้าจีนส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ได้ สินค้าก็จะถูกส่งมาดัมพ์ขายในราคาตํ่าในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ซึ่งรวมทั้งไทยและอาเซียน ที่มีตลาดขนาดใหญ่กว่า 650 ล้านคน จีนถือเป็นโรงงานผลิตของโลก มีกำลังผลิตมาก ในต้นทุนที่ตํ่า ซึ่งมีโอกาสสูงที่สินค้าจีนจะส่งมาไทยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ขณะที่ ปัจจุบันจีนก็เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย (หากไม่นับรวมกลุ่มอาเซียน)"

หนังตัวอย่างเมื่อ 3-4 ปีก่อน ที่จีนถือเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตเหล็กมากที่สุดในโลก ได้ส่งสินค้าเข้าไปดัมพ์ขายราคาตํ่าในสหรัฐฯ และยุโรป และถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) สินค้าเหล็กจีนก็ทะลักเข้ามาขายในไทยและในอาเซียน ทำให้ผู้ผลิตเหล็กในประเทศได้รับความเดือดร้อน ขายไม่ได้ ดังนั้น จากที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจีนกว่า 6,800 รายการแล้วในเวลานี้ จะมีผลให้สินค้าจีนเบนเข็มทะลักเข้ามาจำหน่ายในไทยและในอาเซียนเพิ่มมากขึ้นนับจากนี้ไปอย่างแน่นอน จะไม่ใช่เพียงไม่กี่รายการเหมือนในอดีต แต่จะเข้ามาเป็นพันรายการที่ไปสหรัฐฯ ไม่ได้ ถือว่าน่ากลัว ไม่ว่าจะเข้ามาอย่างถูกกฎหมายผ่านพิธีการศุลกากร หรือ ลักลอบนำเข้าสินค้า จีนก็มีต้นทุนที่ตํ่า

"เรื่องนี้ขอส่งสัญญาณเตือนไปยังผู้ประกอบการผลิตสินค้าของไทย เฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมฯ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะต้องประชุมวางแผนเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์และปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากสินค้าจีนที่จะทะลักเข้ามา ซึ่งจะมีรูปธรรมความชัดเจนของผลกระทบตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป"


ท่าเรือ

ส่งออกปีหน้า 8% เหนื่อยแน่
นายเกรียงไกร ยังระบุถึงด้านลบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ว่า จะกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยไปจีน เพราะไทยเป็นห่วงโซ่การผลิต (ซัพพลายเชน) ที่สำคัญของจีน โดยที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกวัตถุดิบและชิ้นส่วนไปจีน เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ยางพารา และอื่น ๆ เพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปส่งออกต่อไปสหรัฐฯ และทั่วโลก หากจีนส่งออกสินค้าได้ลดลงก็จะกระทบถึงไทยด้วย

อย่างไรก็ดี ด้านบวกของสงครามการค้า ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ และส่งออกสินค้าไปทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในจีนเพิ่มขึ้นในรายการที่ทั้ง 2 ฝ่ายขึ้นภาษีตอบโต้กัน ซึ่งเวลานี้ก็มีสินค้าไทยในหลายกลุ่มได้รับอานิสงส์ อีกมุมหนึ่งผู้ประกอบการของจีนและสหรัฐฯ คาดจะมาใช้ไทยและอาเซียนเป็นฐานผลิตส่งออกมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบสงครามการค้า

ส่วนกรณีการประชุมร่วมระหว่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กับทูตพาณิชย์ 64 แห่งจากทั่วโลก และภาคเอกชน เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการกำหนดเป้าหมายการส่งออกในปี 2562 ขยายตัวที่ 8% (จากปี 2561 คาดจะขยายตัวได้ที่ 8%) ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และหลายสำนักพยากรณ์ ได้คาดการณ์จะทำให้เศรษฐกิจ (จีดีพี) โลกลดลงในปีหน้า 0.8% จีดีพีจีนจะขยายตัวลดลงเหลือ 6.2% (จากปีนี้คาดขยายตัว 6.6%) และจีดีพีสหรัฐฯ จะขยายตัวลดลงเหลือ 2.5% (จากปีนี้คาดขยายตัว 2.9%)

นอกจากนี้ จีนได้ลดค่าเงินหยวน ซึ่งขณะนี้ได้อ่อนค่าลงแล้ว 9% ขณะที่ เงินบาทยังแข็งค่ามากกว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค กระทบความสามารถในการแข่งขันส่งออกของไทย ราคานํ้ามันขาขึ้น นักวิเคราะห์คาดราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกอาจทะลุถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ในต้นปีหน้า และดอกเบี้ยในประเทศทิศทางปรับขึ้นกระทบต้นทุนของผู้ประกอบการ

"ปี 2562 หากสงครามการค้ายังยืดเยื้อและทวีความรุนแรง จะกระทบเศรษฐกิจโลกซบเซาลง บรรยากาศการค้าโลกจะชะงักงัน จะกระทบถึงไทยที่พึ่งพาการส่งออกถึง 70% ของจีดีพี หากรวมถึงปัจจัยที่กล่าวมาหลายสำนักพยากรณ์ รวมถึงสภาอุตสาหกรรมฯ คาดการณ์ว่า ส่งออกไทยปีหน้าจะขยายตัวได้เพียง 4-5% เป็นอย่างมาก ส่วนเป้าหมายของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชที่ 8% นั้น เป็นเป้าหมายที่ท้าทายเพื่อไปให้ถึง ถือเป็นนโยบายที่ดีและมีความชัดเจน ส่วนจะทำได้หรือไม่ได้นั้น ต้องรอดูอีกที ซึ่งก็ขอให้กำลังใจ และเอกชนก็พร้อมร่วมด้วยช่วยกันอย่างเต็มที่"


หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,412 วันที่ 25-27 ตุลาคม 2561

595959859