รัฐทุ่ม 3.3 หมื่นล้าน! ปิดตำนาน "ราชการไทยใช้กระดาษ"

07 ต.ค. 2561 | 07:12 น.
เทคโนโลยีในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมาก ... และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต ... และการประกอบธุรกิจของประชาชน โดยต่างมีอุปกรณ์สื่อสารและมีการใช้งานเทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย แต่สําหรับการทํางานและการบริการภาครัฐที่ผ่านมา กลับยังไม่สามารถพัฒนาการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพและอํานวยความสะดวกกับประชาชน ซึ่งมีความพร้อมใช้งานเทคโนโลยีอยู่แล้วได้

นี่คือ "เหตุผล" บางส่วนที่อธิบายความจำเป็นในการจัดทำ "ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. ...." ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา

พ.ร.บ.ฉบับนี้ กําหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทําข้อมูลให้เป็นฐานข้อมูลใน "ระบบดิจิทัล" และมีระบบการให้บริการประชาชนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ (e-Service) รวมถึงการให้ยื่นคําขออนุญาตผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออํานวยความสะดวกแก่ประชาชน ลดค่าใช้จ่าย ขจัดช่องทางการทุจริตประพฤติมิชอบของพนักงาน เจ้าหน้าที่

โดย "สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)" หรือ สพร. หน่วยงานเจ้าภาพหลักของร่าง พ.ร.บ. มีการคาดการณ์แหล่งเงินและจำนวนเงินที่จะต้องใช้ตลอดระยะเวลา 5 ปี ประกอบเป็นข้อมูลให้ ครม. เห็นภาพ เพื่อเปลี่ยนระบบราชการทั้งหมด นับตั้งแต่ พ.ร.บ.นี้ มีผลบังคับใช้ วงเงินรวมทั้งหมด 33,348.15 ล้านบาท

แบ่งเป็นเงิน 3 ส่วน คือ งบประมาณ 5 ปี ประมาณ 28,248.15 ล้านบาท เงินกองทุนกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ช่วง 3 ปีแรก รวม 5,000 ล้านบาท และเงินจากภาคเอกชน ช่วงปีแรกและปีที่ 2 ปีละ 50 ล้านบาท รวม 100 ล้านบาท

นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. หน่วยงานเจ้าภาพหลัก ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล มี 4 คือ 1.ในการขับเคลื่อนต้องมีแผนที่มีความชัดเจนและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ทุกหน่วยงานต้องดำเนินการตามแผนนี้ 2.ข้อมูลต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ จะต้องทำเป็นดิจิทัลทั้งหมด ถ้าเคยเป็นกระดาษต้องแปลงเป็นดิจิทัล เพื่อให้ง่ายต่อการจัดเก็บการบริหารจัดการและนำไปใช้ประโยชน์

 

[caption id="attachment_329038" align="aligncenter" width="503"] ไอรดา เหลืองวิไล ไอรดา เหลืองวิไล[/caption]

3.การเปิดเผยข้อมูล แม้จะมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ อยู่แล้วที่ภาครัฐต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะต้อง เปิดเผยข้อมูลที่เป็นดิจิทัล เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการของหน่วยงาน และเพื่อให้ภาคเอกชนนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ และ 4.จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ที่จะต้องมี Government Data Exchange  Center : GDX ให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี

"ถ้ายังใช้เอกสารเป็นกระดาษ ภาระจะมีมากมาย ไหนต้องมีเรื่องกฎระเบียบอีกว่า เอกสารประเภทไหนต้องจัดเก็บนานเท่าไร บางอย่างเก็บ 5 ปี 10 ปี หรือไม่ก็ตลอดชีพ มีค่าใช้จ่ายด้านสถานที่ในการจัดเก็บ การดูแล มีวิธีการจัดเก็บ การทำลายเมื่อถึงอายุ ถ้านับเฉพาะกระดาษที่ภาครัฐใช้แต่ละปี รวมทั้งเครื่องถ่ายเอกสารใช้เงินเป็นพันล้านบาท แต่ถ้ามีอาคารสถานที่อีกก็จะมากกว่านั้น"

รอง ผอ.สพร. บอกอีกว่า แต่การแปลงกระดาษมาเป็นไฟล์ดิจิทัลก็ใช้งบไม่น้อย ยกตัวอย่าง งานที่กำลังทำให้กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องสแกนเอกสารกฎหมายต่าง ๆ ทั้งหมดในอดีตหลายสิบปีที่แล้ว ต้องแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัล แต่การเป็นดิจิทัลไม่ใช่แค่การสแกนกระดาษเป็นดิจิทัล แต่ต้องมีระบบจัดเก็บการบริหารจัดการ การเรียกใช้ข้อมูล การสืบค้นข้อมูลอีก ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น

แต่แน่นอนว่า การก้าวเป็นรัฐบาลดิจิทัล หากรอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล ถูกทำคลอดออกมาบังคับใช้ คงใช้เวลาพอสมควร สิ่งที่รัฐบาลทำคู่ขนานมาเป็นระยะ คือ การพึ่งพากลไกปกติที่มีอย่างเต็มที่ ผ่าน "สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)"

นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า ในวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา วันเดียวกับที่ ครม. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล ครม. ก็ได้เห็นชอบ "มาตรการอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน ด้วยการไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้จากประชาชน"

ชื่อมาตรการยาว แต่ความหมายเข้าใจง่าย คือ การที่หน่วยงานราชการห้ามเรียกสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน เป็นสเต็ปแรกของการเป็นไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมาตรการนี้วางโรดแมปเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 5 พ.ย. 2561 มีทั้งหมด 4 เรื่อง คือ 1.ให้หน่วยงานรัฐเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ต้องทำบันทึกข้อตกลง (MOU) เพราะที่ผ่านมามักจะมีการอ้างว่า ต้องมีการเซ็นเอ็มโอยูกันก่อนจึงจะเชื่อมโยงข้อมูลได้


tp12-3407-a

2.เมื่อประชาชนมาติดต่อขอรับบริการ ให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้สั่งพิมพ์เอกสาร หรือ หลักฐานที่ต้องใช้ จากระบบที่เชื่อมโยงไว้และลงนามรับรอง ดังนั้น ประชาชนผู้มาติดต่อไม่ต้องเป็นผู้นำสำเนามาและไม่ต้องลงนามรับรองอีกต่อไป

3.การให้บริการประเภทที่บริการเป็นตัวเงินไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด อาทิ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม การจ่ายเงิน และสวัสดิการต่าง ๆ ให้แก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ กรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงานของหน่วยงานของรัฐทั้งหมด ให้จ่ายผ่านระบบ National e-Payment ซึ่งตรงนี้จะลดการทุจริต เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ต้องจับเงินโดยตรง มีหลักฐานในการจ่ายเงินเป็นดิจิทัล ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยแยกบัญชี และปิดบริการภายในเวลาราชการเท่านั้น

และ 4.ให้ ก.พ.ร. เปิดช่องทางให้ประชาชนร้องเรียนผ่านโซเชียลมีเดีย หากพบว่า มีหน่วยงานใดยังขอสำเนาบัตร ให้ร้องเรียนมาที่ Line ไอดี @Goodgov4you แล้วจะมีการรายงานรัฐมนตรีเจ้าสังกัดนำไปใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานด้วย

ส่วนระยะกลาง ต้องเสร็จภายในปี 2562  คือ ให้หน่วยงานเชื่อมต่อระบบกับ Linkage Center ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่มีอยู่แล้ว เพื่อดึงข้อมูลของประชาชนจากกรมการปกครองกรอกลงในแบบคำร้องดิจิทัลของหน่วยงานได้โดยอัตโนมัติ และระยะยาว ต้องแล้วเสร็จภายในปี 2563 ให้ ก.พ.ร. จับมือกับ สพร. พัฒนา GDX ตาม พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล ให้ครอบคลุมรายการเอกสารที่เชื่อมโยงมากขึ้นให้หน่วยงาน ภาครัฐสามารถเรียกดูและบันทึกเอกสารทางราชการระหว่างหน่วยงานได้และให้บริการออนไลน์ได้


รายงาน : เศรษฐกิจมหภาค

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,407 ระหว่างวันที่ 7-10 ตุลาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว