เรียนรู้จากยุโรป : ดูงานยานยนต์สมัยใหม่ และระบบขนส่งอัจฉริยะ (ตอน 1)

03 ต.ค. 2561 | 07:22 น.
… ในระหว่างวันที่ 23-30 ก.ย. 2561 "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาดูงานด้าน ยานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Automotive) และระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ที่ประเทศฝรั่งเศส เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการทูตวิทยาศาสตร์ของ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีเป้าหมายมุ่งสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและการวิจัยของไทยผ่านการเดินทางไปศึกษาดูงาน แสวงหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศของไทย ขณะเดียวกัน ก็เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัยของต่างประเทศกับหน่วยงานของไทย และที่สำคัญ คือ มีการนำตัวแทนภาคเอกชนของไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ร่วมคณะไปศึกษาดูงานด้วย เพื่อติดตามความก้าวหน้าของนวัตกรรมในต่างประเทศ ไปสร้างประโยชน์และต่อยอดให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยต่อไป

 

[caption id="attachment_326661" align="aligncenter" width="335"]  ป้ายรูปรถมีปลั๊กสีฟ้า แสดงจุดจอด-ชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถอีวี มีให้เห็นทั่วไปในย่านใจ กลางกรุงปารีส ป้ายรูปรถมีปลั๊กสีฟ้า แสดงจุดจอด-ชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถอีวี มีให้เห็นทั่วไปในย่านใจ กลางกรุงปารีส[/caption]

ต้นแบบขนส่งอัจฉริยะในอียู
สหภาพยุโรป หรือ อียู เป็นกลุ่มประเทศที่มีบทบาทนำในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ นอกจากจะเป็นฐานการผลิตของบริษัทยานยนต์ระดับโลกแล้ว ยังเป็นแหล่งบ่มเพาะบริษัทผู้เชี่ยวชาญในนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่งที่ทันสมัย ครอบคลุมไปจนถึงซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารจัดการระบบขนส่ง อียูยังเป็นตลาดที่มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ที่ได้ชื่อว่าเป็น "ยานยนต์แห่งอนาคต" อย่างแพร่หลาย มีการกำหนดนโยบายของภาครัฐ ที่ช่วยเกื้อหนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และระบบขนส่งสมัยใหม่อย่างชัดเจน เช่น การกำหนดกรอบดำเนินการเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) โดยประเทศสมาชิกจะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% (เมื่อเทียบกับระดับของปี 2533) ภายในกรอบเวลาดังกล่าว ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การควบคุม ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และการคมนาคมขนส่ง ต้องเข้ามีส่วนร่วมลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน นำไปสู่การคิดค้น วิจัย และพัฒนายานยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือกและปล่อยไอเสียต่ำ หรือ ไม่มีการปล่อยไอเสียเลย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ

 

[caption id="attachment_326659" align="aligncenter" width="503"] รถบัสไฟฟ้าของบริษัทอีบุสโค (Ebusco) ที่วิ่งได้ถึง 300 กม. ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง รถบัสไฟฟ้าของบริษัทอีบุสโค (Ebusco) ที่วิ่งได้ถึง 300 กม. ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง[/caption]

กระแสการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในยุโรปไม่ได้จำกัดเพียงรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถโดยสารประจำทางที่วิ่งในเส้นทางทั่วไป และรถโดยสารบริการตามสั่ง หรือ On-Demand Service ที่เรียกได้ผ่านแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงยานยนต์ระบบราง

แคลร์ เดอเปร หัวหน้าฝ่ายระบบขนส่งอัจฉริยะและยั่งยืน ของหน่วยงานด้านนโยบายการขนส่งและระบบคมนาคม (DG Move) ภายใต้คณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในส่วนของการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถูกมองว่าเป็นทางเลือกของยานยนต์แห่งอนาคตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น ทางอียูเน้นให้การส่งเสริมผ่านการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา การให้ข้อมูลความรู้ และการพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบการศึกษาเป็นหลัก ไม่ได้มีนโยบายให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมโดยตรง หรือ ให้สิทธิประโยชน์จูงใจแก่ผู้บริโภค หรือ ผู้ซื้อรถ เหมือนอย่างในประเทศจีนหรือญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิประโยชน์จูงใจผู้บริโภคให้หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น ให้แรงจูงใจทางด้านภาษี หรือ การให้เงินอุดหนุนการซื้อผ่านทางดีลเลอร์ ซึ่งออกมาในรูปของส่วนลดเงินสด เป็นเรื่องของรัฐบาลแต่ละประเทศสมาชิกอียูที่จะดำเนินการกันไป ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศเยอรมนี มีการจูงใจด้วยมาตรการอุดหนุนส่วนลดเมื่อซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน แต่เท่าที่ทราบวิธีการนี้ก็เป็นเหมือนการกระตุ้นอุปสงค์ชั่วครู่ชั่วคราว และมีปัญหาตามมา คือ ผู้ผลิตไม่สามารถผลิตรถได้ทันป้อนความต้องการของผู้ซื้อ ทำให้ต้องรอนาน

 

[caption id="attachment_326660" align="aligncenter" width="503"] สเตล่า (S.T.E.L.A) เจ้าคุณปู่แห่งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้า ถือกำเนิดในปี 1942 (พ.ศ. 2485) ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Henri Malartre แห่งเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ส่วนภาพขวาเป็นจุดชาร์จไฟฟ้าสำหรับ Bluely รถไฟฟ้าเช่าขับในเมืองลียง สเตล่า (S.T.E.L.A) เจ้าคุณปู่แห่งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้า ถือกำเนิดในปี 1942 (พ.ศ. 2485) ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Henri Malartre แห่งเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ส่วนภาพขวาเป็นจุดชาร์จไฟฟ้าสำหรับ Bluely รถไฟฟ้าเช่าขับในเมืองลียง[/caption]

บางประเทศใช้วิธีกำหนดพื้นที่ห้ามรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลวิ่งเข้าในพื้นที่ ก็เป็นอีกมาตรการที่เชื่อว่า จะลดการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งกำลังจะกลายเป็นยานยนต์ของโลกยุคเก่า และเปิดโอกาสให้ยานยนต์สมัยใหม่ ที่ไม่ปล่อยไอเสียและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเข้ามาแทนที่ หรือ อย่างน้อยในช่วงเวลานี้ ก็คือ การหันมาใช้รถสาธารณะ หรือ ระบบการขนส่งแบบ Sharing มากยิ่งขึ้น "ความจริงเป้าหมายของเรา คือ ต้องการให้คนใช้รถน้อยลง ยานยนต์ไฟฟ้าอาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เรามุ่งพัฒนาระบบขนส่งที่ทำให้คนใช้รถส่วนตัวน้อยลง ใช้รถสาธารณะมากขึ้น รวมไปถึงการใช้ระบบแบ่งปันกันใช้ หรือ Sharing Vehicles ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการขนส่งที่ทันสมัยและยั่งยืน"

ตอนหน้าพบกับการพัฒนาบริการขนส่งอัจฉริยะและยานยนต์ไร้คนขับ การกำจัดแบตเตอรี่ที่ไม่ใช่แค่การกำจัดขยะ แต่เป็นอุตสาหกรรมมูลค่ามหาศาล เมื่อแบตเตอรี่ใช้แล้วสามารถกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ทำให้ขยะกลายเป็นทองคำอีกครั้ง และส่วนหนึ่งของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่พร้อมเดินหน้าไปกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สร้างอีโคซิสเต็มที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น สำหรับระบบยานยนต์สมัยใหม่และเมืองอัจฉริยะ


……………….
รายงานพิเศษ โดย รัตนศิริ สุขัคคานนท์

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,406 วันที่ 4 - 6 ต.ค. 2561 หน้า 10

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'นิสสัน' เผยวิสัยทัศน์ด้าน "ยานยนต์" ในอนาคต
เรียนรู้จากยุโรป : ดูงานยานยนต์สมัยใหม่และระบบขนส่งอัจฉริยะ (2)


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว