ทุ่งคาร้องนายกฯเปิดเหมืองทอง ชงชาวบ้าน 2.7พันรายชื่อหนุนหากยังล่าช้างัดข้อกฏหมายส่งฟ้อง

15 ก.พ. 2559 | 14:00 น.
"ทุ่งคาฮาเบอร์" ดิ้นขอเปิดเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย หลังหยุดดำเนินการไปกว่า 2 ปี เหตุกรมป่าไม้ไม่ต่อใบอนุญาตเช่าพื้นที่ เตรียมส่งหนังสือล่ารายชื่อชาวบ้านที่สนับสนุนกว่า 2.7 พันราย ถึง "ประยุทธ์" เร่งผลักดัน มี.ค.นี้ โอดถ้าไม่ได้รับการเหลียวแล อาจงัดข้อกฎหมายฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียกค่าเสียหายกว่า 1 พันล้านบาท โทษฐานทำให้เสียโอกาส พร้อมขยายธุรกิจทำเหมืองดีบุกและพลวงในเมียนมาในอีก 2 เดือนข้างหน้า

นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งบริษัทได้ถือหุ้นในสัดส่วน 95.95% มีกำลังผลิตแม่ทองคำ 2 แสนตันต่อเดือน ได้หยุดประกอบการกิจการมาตั้งแต่ปี 2555 เนื่องจากใบอนุญาตการเช่าพื้นที่เข้าทำประโยชน์จากกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้หมดอายุลง และบริษัทได้ขอต่อใบอนุญาตไปแล้วนั้น แต่จนขณะนี้ใบอนุญาตของเช่าพื้นที่ดังกล่าวยังไม่ได้รับการอนุมัติจากกรมป่าไม้ ทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสในดำเนินกิจการ

โดยที่ผ่านมาบริษัทได้มีการทวงถามทางกรมป่าไม้ไปแล้วถึงเหตุผลการไม่ต่อใบอนุญาต แต่ก็ได้รับคำยืนยันว่าต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งหากมองในภาพรวมทางรัฐบาลอาจจะรอความชัดเจนในการออกนโยบายเหมืองแร่ทองคำ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ อีกทั้ง อาจจะเห็นว่าการทำเหมืองแร่ทองคำยังมีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่อยู่ จึงพยายามที่จะดึงเรื่องการให้ใบอนุญาตเช่าพื้นที่ออกไปก่อน จนกว่าการแก้ไขปัญหาการคัดค้านและรัฐบาลมีนโยบายเหมืองแร่ทองคำออกมา

แต่ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าชี้แจ้งทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้คัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง และชาวบ้านเกิดความเข้าใจมีการลงชื่อประมาณ 2.7 พันคน จากชาวบ้านที่มีอยู่กว่า 3 พันคน ที่ต้องการให้เหมืองแร่ทองคำในพื้นที่เปิดดำเนินการ

ดังนั้น ในช่วงเดือนมีนาคมนี้ บริษัทจะรวบรวมรายชื่อชาวบ้านดังกล่าว นำเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาหรือเร่งรัดให้มีการผลักดันการต่อใบอนุญาตเช่าพื้นที่จากกรมป่าไม้ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านในพื้นที่เป็นจำนวนมาก และปริมาณแร่ทองคำที่มีอยู่สามารถยังสามารถเปิดทำเหมืองได้ไม่ต่ำกว่า 1 ปี และหากรัฐบาลเปิดให้ประทานบัตรทำเหมืองเพิ่มขึ้นอีกในพื้นที่ 2 แปลง รวมพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ ก็จะทำให้ยืดอายุการทำเหมืองออกไปได้ 6-7 ปี หรือคิดเป็นรายได้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

แต่ทั้งนี้ หากทางรัฐบาลยังเพิกเฉยอยู่ ทางบริษัท คงต้องมาพิจารณาในข้อกฎหมาย ที่จะฟ้องร้องหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายที่เชิญชวนให้เอกชนเข้ามาลงทุนทำเหมืองแร่ทองคำ แต่เมื่อใบอนุญาตหมดอายุกลับไม่ได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐ และทำให้เอกชนได้รับความเสียหาย ซึ่งหากประเมินค่าเสียโอกาสรายได้ที่เหมืองหยุดดำเนินการไปคงไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท หากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจริงทางบริษัทก็จะเรียกร้องภาครัฐชดใช้ในส่วนนี้ด้วย

นายวิจิตร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่รอขั้นตอนการกลับมาเปิดดำเนินเหมืองแร่ทองคำใหม่นั้น เนื่องจากทางบริษัทได้รับการอนุมัติเพิ่มทุนจำนวน 1.170 พันล้านบาท ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ซึ่งจะนำมาใช้สำหรับการลงทุนในเหมืองแร่ทองคำจำนวน 400 ล้านบาท ในการจัดซื้อและซ่อมแซมเครื่องจักร และเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท ทุ่งคำอาจจะกันเงินสวนหนึ่งประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการขยายกิจการเหมืองแร่ โดยจะเข้าไปลงทุนทำเหมืองแร่ดีบุกและพลวงในประเทศเมียนมา ร่วมกับพันธมิตรในท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้บริษัทพร้อมลงทุนและคาดว่าในอีก 2 เดือนข้างหน้าน่าจะเข้าทำการเปิดหน้าเหมืองแร่ดังกล่าวได้ เนื่องจากได้รับใบอนุญาตต่างๆ แล้ว

อีกทั้ง ในระยะอันใกล้นี้ บริษัท จะยังมีแผนเข้าไปลงทุนทำเหมืองถ่านหินในสปป.ลาว เพื่อป้อนถ่านหินให้กับโรงงานปูนซีเมนต์รายใหญ่ของไทยที่เข้าไปลงทุน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำสัญญาซื้อขายอยู่ ส่วนการทำเหมืองหินที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งขณะนี้มีกำลังการผลิต 1.5 หมื่นตันต่อเดือน จะใช้เงินลงทุนอีก 380 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องจักรบดย่อยหิน ในสายการผลิตที่ 2 และ 3 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 7.5 หมื่นตันต่อเดือน โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตขยายกำลังการผลิตจากกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ คาดว่าจะอนุมัติภายใน 2 เดือนนี้ หากเปิดดำเนินการได้จะช่วยให้มีปริมาณหินชนิดพิเศษที่ใช้สำหรับทำรางรถไฟมีปริมาณสูงขึ้น รองรับกับโครงการรถไฟรางคู่ของรัฐบาลได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีผู้ผลิตหินดังกล่าวไม่กี่ราย

ทั้งนี้ จากการที่บริษัทมีธุรกิจเหมืองหิน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จะทำให้บริษัทมีรายได้ในปีนี้ราว 600 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559