ข้าพระบาท ทาสประชาชน : ประชาธิปไตยแบบ "ทักษิณ" กับคำพิพากษาของศาล

22 ส.ค. 2561 | 08:50 น.
 

 

52659 วาทกรรมทางการเมือง ว่า “ทักษิณ” เป็นตัวแทนระบอบประชาธิปไตย สู้เพื่อคนจนคนรากหญ้า จนครองใจประชาชน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เป็นที่อิจฉาของขุนนางอำมาตย์ ชนชั้นสูงในสังคมไทย และมีพลอตเรื่องสร้างละครการเมือง ให้คนไทยและชาวโลกเชื่อว่า พวกอำมาตย์หรืออมาตยาธิปไตย ไม่พอใจ “ทักษิณ” จึงหาทางทำลายกลั่นแกล้ง จนถูกปฏิวัติ โค่นอำนาจ และตั้งข้อหาดำเนินคดี โดยกลบเกลื่อนการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และพฤติกรรมที่บิดเบือนการใช้อำนาจ และการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตคอร์รัปชันทั้งหลาย ที่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศต่างรู้เช่นเห็นชาติ แม้มีผลการพิจารณาคดี และมีคำพิพากษาของศาลที่ผ่านการพิจารณาตามกฎหมาย และเปิดโอกาสให้จำเลยได้ต่อสู้คดีจนถึงที่สุด ตามกระบวนการยุติธรรม พวกเขาก็ยังตะแบงหาว่าถูกกลั่นแกล้ง หรือให้สัมภาษณ์ โจมตีวิพากษ์วิจารณ์ศาล โดยอาศัยสื่อต่างประเทศเป็นเครื่องมือนั้น

[caption id="attachment_308159" align="aligncenter" width="503"] photo: guilty of corruption.  EPA/STR photo: guilty of corruption. EPA/STR[/caption]

เพื่อประกอบการใช้วิจารณญาณของประชาชน ในการพิจารณาถึงวาทกรรมของ “ทักษิณ” กับพรรคและนักการเมืองภายใต้อำนาจของพวกเขา ถึงความเป็นประชาธิปไตยว่าจริงหรือไม่? ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นอกจากดูจากพฤติกรรมที่ผ่านมา ขอให้ลองพิจารณาผลของคำพิพากษาในคดีต่างๆ ประกอบ ซึ่งผู้เขียนขอคัดสาระสำคัญมาเพื่อพิจารณาดังนี้

จากคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ของศาลรัฐธรรมนูญ คดียุบพรรคไทยรักไทย คำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 ระหว่างอัยการสูงสุด ผู้ร้องกับ พรรคไทยรักไทย คำพิพากษาดังกล่าวได้วินิจฉัยเหตุอันเป็นสาระสำคัญที่ให้ยุบพรรคว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 (พรรคไทยรักไทย) ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่

เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 เข้าแทรกแซงบิดผันกระบวนการเข้าสู่อำนาจในการปกครองประเทศ เพื่อสร้างภาพลวงตาว่ามีการแข่งขันตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้โดยเนื้อแท้มิได้เป็นเช่นนั้น ย่อมส่งผลให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยสั่นคลอนไม่มั่นคง ทำให้ประชาชนที่รู้ข้อเท็จจริงเสื่อมศรัทธาต่อระบบการเมือง อาจนำไปสู่การต่อต้านการใช้อำนาจการปกครองโดยไม่ชอบธรรมของพรรคการเมือง ประกอบกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เป็นบทบัญญัติที่เป็นนโยบายรัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 จึงเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 66(3) อีกด้วย”
14272028941427203745l ในประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า กรณีมีเหตุสมควรยุบพรรคไทยรักไทยหรือไม่นั้น นอกจากเห็นว่าการกระทำของพรรคไทยรักไทย เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐดังกล่าวแล้ว ตุลาการรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยว่า “ผู้ถูกร้องที่ 1 (พรรคไทยรักไทย) เป็นพรรคการเมืองอันเป็นสถาบันหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ย่อมต้องมีภาระหน้าที่ในการผดุงไว้ซึ่งหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือการที่ประชาชนจะต้องมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ที่แสดงออกในการเลือกตั้ง แต่ผู้ถูกร้องที่ 1 กลับทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เมษายน  2549 เป็นเพียงแบบพิธีที่จะนำไปสู่การผูกขาดอำนาจทางการเมืองของผู้ถูกร้องที่ 1 เท่านั้น”

และยังมีคำวินิจฉัยที่สำคัญอีกว่า “ผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนสูงสุด ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไปก่อนหน้านี้ 2 ครั้ง ควรต้องสร้างความยั่งยืนให้แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมั่นคงในหลักการที่ว่า กฎหมายต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นข้อบ่งชี้ด้วยว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 มิได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งพัฒนาประเทศชาติ เพื่อให้คนไทยในชาติมีความสุขทั่วหน้า ดังที่ได้รณรงค์หาเสียงไว้ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

หากแต่มุ่งประสงค์เพียงดำเนินการในทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศนอกเหนือไปจากครรลองที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ตลอดจนบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จนยากที่จะหาอุดมการณ์อันแท้จริงของพรรค ให้เกิดความมั่นคงแก่ประชาชนโดยรวมว่า เมื่อเป็นรัฐบาลมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินแล้ว จะดำเนินการปกครองโดยสุจริต ไม่ประพฤติมิชอบ หรือบริหารราชการแผ่นดินโดยแอบแฝงไว้ซึ่งประโยชน์ของตนและพวกพ้อง
FILE PHOTO - Former Thai Prime Minister Thaksin Shinawatra leaves after an interview with Reuters in Singapore พฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 1 (พรรคไทยรักไทย) ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่อาจดำรงความเป็นพรรคการเมืองที่จะสร้างสรรค์และจรรโลงความชอบธรรมทางการเมืองแก่ระบอบการปกครองของประเทศโดยรวมได้อีกต่อไป กรณีจึงมีเหตุสมควรยุบพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 (พรรคไทยรักไทย)”

นี่คือคำวินิจฉัยเกี่ยวกับ คดีทางการเมืองที่เป็นประวัติ ศาสตร์ และมีความหมาย ความสำคัญอย่างยิ่งที่ประชาชนไทยมิควรลืม เพราะจากต้นกำเนิดของพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคแม่ จึงมีพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคลูกที่ต่อมาก็ถูกยุบพรรค เพราะถูกจับได้เรื่องการใช้เงินซื้อเสียง ตกมาถึงปัจจุบันพรรคหลานคือ เพื่อไทย ก็มีอันเป็นไปเพราะคดีทุจริตจำนำข้าว ซึ่งก็ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าจะเป็นอย่างไร หลังเจ้าของพรรคตัวจริงที่อยู่ต่างแดน ออกมาแสดงบทบาทความเป็นเจ้าของ ชี้นำบงการลูกพรรคในประเทศ ซึ่งก็อาจเข้าข่ายเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ฉบับใหม่ ที่ กกต.จับตาความเคลื่อนไหวโดยไม่ห่าง

การกล่าวอ้างตนว่า “เป็นนักประชาธิปไตย” ใครๆ ก็พูดหรือกล่าวอ้างได้ แต่พฤติกรรมจะเป็นเครื่องชี้เจตนา ที่สำคัญพฤติกรรมในอดีต ย่อมบอกอนาคต ยิ่งมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานเช่นนี้แล้ว ท่านผู้อ่านจะเชื่ออะไร ย่อมเป็นดุลพินิจของท่าน

สำหรับผมแล้ว เชื่อดุลพินิจและคำวินิจฉัยของศาลครับโดยเฉพาะกรณีนี้ มันชัดแจ้งยิ่งกว่าแสงตะวัน เพียงคำพิพากษาฉบับนี้ฉบับเดียว ก็แทนคำตอบทุกข้อสงสัย

| คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน
| โดย : ประพันธุ์ คูณมี
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3394 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 23-25 ส.ค.2561
e-book-1-503x62-7