“กฤษฎา”อัดโปรจูงใจเกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แจก 2พันพักหนี้ 3 ปี

21 ส.ค. 2561 | 10:04 น.
“กฤษฎา”เดินหน้าปรับโครงสร้างภาคเกษตร สั่งตั้งทีมตำบลลุยให้ความรู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ครบวงจร พร้อมจัดเต็มมาตรการจูงใจให้ปรับเปลี่ยนการผลิตทั้งหาตลาด อัดเงินทุน 2,000 บาทต่อไร่ พักหนี้ 3 ปี ชี้ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดยังมีอยู่สูง ขณะที่กำไรสูงกว่าปลูกข้าว 3 พันบาทต่อไร่ หวังช่วยยกระดับความเป็นอยู่เกษตรกร

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนระดับพื้นที่ ทั้งในระดับอำเภอและจังหวัด หรืออาจขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการบริหารงานอำเภอ (กบอ.) หรือทีมตำบล เพื่อให้เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ ทำหน้าที่ให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่การเพาะปลูก ไปถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว อย่างครบวงจร รวมทั้งทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเกษตรกรในการให้ความรู้เรื่องตลาดรับซื้อ และเปรียบเทียบความยากง่ายระหว่างการปลูกข้าวกับการทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในประเด็นต่างๆ เช่น การจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือในการผลิตและเก็บเกี่ยว แรงงานสำหรับการเพาะปลูก วิธีการจัดเก็บผลผลิต และความเสียหายของผลผลิตเมื่อมีฝนตก ไปจนถึงมาตรการจูงใจให้ปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หลังทำนารอบสอง

kid1

สอดคล้องกับนโยบายปฏิรูปการเกษตร โดยใช้นโยบายตลาดนำการผลิต เนื่องจากขณะนี้ตลาดมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูง แต่ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดยังมีน้อยไม่เพียงพอความต้องการ และยังพบว่าการปรับเปลี่ยนการผลิตจากการปลูกข้าว มาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ ลดหนี้สิน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นต่อไปได้ สำหรับเกษตรกรที่มีความประสงค์ จะเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจากการปลูกข้าวมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามนโยบายตลาดนำการผลิตนั้น สามารถแจ้งเข้าร่วมโครงการได้กับเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในแต่ละพื้นที่

นายกฤษฏา กล่าวต่อว่า ผลตอบแทนหรือกำไรจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา สูงกว่าการปลูกข้าวนาปรังถึง 3,020 บาท/ไร่ โดยจากการสำรวจราคาผลผลิตของผู้สมัครใจปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จังหวัดอุบลราชธานีมีพื้นที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 19,739.75 ไร่ (16 อำเภอ) และจากการที่กระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่อำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งมีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 2,032 ไร่ และเกษตรกรประสบความสำเร็จในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,100 กิโลกรัม/ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 2,235.20 ตัน เกษตรกรจำหน่ายได้ในราคา 7.50-9.60 บาท/กิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับค่าความชื้น) โดยมีต้นทุนการผลิต 2.90 บาท/กิโลกรัม

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนต่อไร่ ข้าวนาปรัง (กข 15) ที่ได้ผลตอบแทนประมาณ 1,980 บาท/ไร่ ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ผลตอบแทนประมาณ 5,000 บาท/ไร่ จะเห็นได้ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีผลตอบแทนต่อไร่สูงกว่าข้าวนาปรัง 3,020 บาท/ไร่ แหล่งรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญได้แก่ บริษัท ก้าวหน้า อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) ซึ่งมีปริมาณความต้องการรับซื้อประมาณ 100,000 ตัน/ปี

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอมาตรการจูงใจในการปรับเปลี่ยนอาชีพไปสู่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มเติมนอกเหนือจากการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกร เป็นระยะเวลา 3 ปีตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ 1. ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อไร่ละ 2,000 บาท โดยภาครัฐชดเชยค่าดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกร 2. สนับสนุนเงินทุนให้เกษตรกรในการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา ไร่ละ 2,000 บาท 3. สนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรผ่านระบบสหกรณ์ 4. สร้างระบบประกันภัยผลผลิต 5. การอบรมและถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรในรูปแบบประชารัฐ โดยให้เกษตรตำบลดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน 6. การพัฒนาระบบชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่ และ 7. สร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรด้วยการประกันราคารับซื้อ

“หากเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจะได้กำไรดีกว่าการปลูกข้าว เพราะตลาดยังมีความต้องการจำนวนมาก โดยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กำไรมากกว่าปลูกข้าวประมาณ 3,020 บาท/ไร่ ซึ่งยังไม่รวมกับ มาตรการจูงใจที่รัฐบาลจะจ่ายให้ 2,000 บาท/ไร่ การพักหนี้ให้ 3 ปี สนับสนุนทั้งเรื่องปัจจัยการผลิตและเครื่องจักร ตลอดจนเรื่องของตลาดที่จะรับซื้อ”

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯได้หารือกับเอกชนรายใหญ่บางราย เพื่อเชื่อมโยงผลผลิตเข้ากับตลาด ภายใต้นโยบายตลาดนำการผลิต โดยจัดหาผู้รับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรผู้สมัครใจร่วมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามนโยบายของรัฐบาล ควบคู่กับระยะเวลาในการจัดส่งเมล็ดพันธุ์แก่เกษตรกร การเจรจาต่อรองราคาปัจจัยการผลิต ปุ๋ย ยา เป็นต้น

e-book-1-503x62-7