ไทย-อิหร่าน 400 ปี l โอฬาร สุขเกษม

09 ก.พ. 2559 | 08:46 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

เมื่อพูดถึงอิหร่านคิดว่าคนส่วนใหญ่จะระลึกถึงชายผู้หนึ่งได้เป็นอย่างดี ชายผู้โพกศีรษะด้วยผ้าดำ คิ้วหนาดกดำ ดวงตาคมเฉียบ หนวดสีดำแต่เครายาวสีขาว บุรุษร่างผมที่ว่านี้ก็คือ อายะตุลลาห์ โคไมนี หรืออิหมามโคไมนี ผู้ปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว คนในโลกตะวันตกรังเกียจบุคคลผู้นี้มาก เพราะอิหม่ามแม้จะพำนักอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสก่อนจะกลับมามีอำนาจในประเทศ แต่เขาอยู่คนละขั้วกับโลกตะวันตกอย่างสิ้นเชิง เขามองเห็นว่าสังคมอิหร่านตกต่ำก็เพราะผู้คนในชาติขาดความสามัคคี แบ่งแยกนิกายระหว่างซุนนีกับชีอะห์ ทำให้เกิดช่องว่างในการหาผลประโยชน์โดยมีชาวรัสเซีย อังกฤษและสหรัฐอเมริกาเข้าไปกอบโกย

ภายใต้การครอบงำของอิหม่ามโคไมนีทำให้สังคมสงบขึ้น แต่สภาพบรรยากาศอบอวลไปด้วยความหวาดหวั่นพรั่นพรึง เพราะนโยบายนั้นจะเดินเป็นเส้นตรงตามทิศทางของอิสลามแบบสุดโต่ง อิหร่านได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบราชาธิปไตยไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยในปี 2523 โดยมีอิสลามเป็นหลักพื้นฐาน  แต่การล้มรัฐบาลชุดเดิมนั้นไม่ได้ลั่นกระสุนแม้แต่เพียงนัดเดียว ราชวงศ์ที่ถูกโค่นลงไปนั้นคือ ซาห์แห่งอิหร่าน โดยการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งเดิมพระองค์เป็นเพียงนายทหารในนามกองทัพบกมีชื่อว่า เรซา ปาห์เลวี ได้ยึดอำนาจมาจากผู้ปกครองเดิมและตั้งตัวเองเป็นผู้นำเผด็จการทหารก่อนจะได้ขึ้นมาเป็นราชวงศ์ซาห์แห่งอิหร่าน ด้วยความใกล้ชิดกับตะวันตกมาก การพัฒนาประเทศจึงมีแบบแผนอย่างสากล ทำให้อิหร่านกลับมาเป็นที่รู้จักกับผู้คนทั่วไปในโลก ต่อมาบุตรของพระองค์ที่ใช้นามเดียวกัน คือ เรซา ปาห์เลวีก็ขึ้นครองอำนาจและสืบเนื่องจนกระทั่งถูกยึดอำนาจไป ราชวงศ์นี้มีอำนาจในอิหร่านยาวนานเพียง 50 ปีเท่านั้น

ผมเดินทางไปประเทศอิหร่านตั้งแต่ปี 2544 หลังอิหม่ามโคไมนีได้เสียชีวิตไปแล้ว 12 ปี แต่อิทธิพลของเขายังคงมีอยู่ ผมผ่านแดนจากประเทศเติร์กเมนนิสถานสู่ประเทศอิหร่านที่เมืองซารัคฮ์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศนี้ ตอนนั้นสุภาพสตรีต้องมีผ้าคลุมหน้าอย่างมิดชิด แต่ผมก็รู้สึกแปลกใจที่หัวหน้าตรวจคนเข้าเมืองกับเป็นสุภาพสตรี แต่แวดตาของเธอกลับดูเป็นมิตรกับชาวต่างประเทศ  ผมพักที่เมืองมาซาด (Mashad) ก่อนบินต่อไปยังเมืองทาบริต์ซ (Tabriz) เมืองตากอากาศในฤดูหนาวที่ติดกับประเทศตุรกีทางตอนเหนือของประเทศ

อิหร่านภายใต้การปกครองของอิหม่ามโคไมนีนั้น สุภาพสตรีมีสิทธิที่จะแต่งกายอย่างไรก็ได้ภายใต้ขอบเขตของศีลธรรมอันดีงาม ผู้หญิงทำงานได้ตามปรกติและทำงานได้ทุกอย่าง แต่ในชนบทนั้นสตรีมักนิยมแต่งการด้วยชุดชาดาร์(ชาดอร์) คลุมหมดตั้งแต่ศีรษะถึงเท้า ผมเคยอ่านบทสัมภาณ์ของนิตยสารไทม์ที่สัมภาษณ์อิหม่านโคไมนีถึงกรณีต่อต้านอเมริกัน อิหม่านโคไมนีตอบว่า ชาวอิหร่านไม่ได้มีความรู้สึกต่อต้านชาวอเมริกันแต่อย่างใด  แต่ที่ว่าอเมริกันนั้นหมายถึงเขาต่อต้านรัฐบาลอเมริกันต่างหาก เพราะรัฐบาลอเมริกันหนุนหลังให้ประชาชนชาวอิหร่านต่อต้านรัฐบาล

อิหร่านหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ก็ถูกสหรัฐอเมริกามองว่าเป็นผู้หนุนหลังกลุ่มผู้ก่อการร้าย แต่รัฐบาลอิหร่านได้ปฏิเสธและบอกอย่างเป็นทางการว่า อิหร่านมีนโยบายชัดเจนในการขับไล่กลุ่มตาลิบานออกจากรุงคาบูลประเทศอัฟกานิสถาน แต่คำครหานี้เหล่านี้ก็ลบได้ยากแถมยังถูกประธานาธิบดีสหรัฐ จอร์จ บุชบอกว่าอิหร่านเป็นแก่นแห่งความชั่วร้ายด้วย เนื่องเพราะมุสลิมอิหร่านส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมชีอะห์ซึ่งหนุนหลังกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ในประเทศเลบานอนและหนุนหลังกลุ่มฮามาสในปาเรสไตล์เพื่อต่อต้านประเทศอิสลาเอล

อิหร่านถูกสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรในยุโรปคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 ในข้อหาเกี่ยวกับอิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และองค์การสหประชาชาติประกาศคว่ำบาตรโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านด้วย และสหรัฐอเมริกายังออกกฎหมายลงโทษประเทศอื่นๆ ที่ค้าน้ำมันกับอิหร่าน ทำให้รายได้มหาศาลที่เคยได้จากการค้าน้ำมันต้องหดหายไป ซึ่งจะว่าไปแล้วมาตรการคว่ำบาตรนี้เป็นมาตรการลำพังของสหรัฐฯต่ออิหร่านแต่ก็มีผลต่อประเทศอื่นทำให้น้อยชาติมากที่จะค้าน้ำมันกับอิหร่าน ที่เหลืออยู่และก็สั่งซื้อไม่มากก็มีประเทศญี่ปุ่น อินเดียและเกาหลีใต้เท่านั้น

ปัจจุบันนี้การเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยนไปแล้ว องค์กรสากลยอมรับที่อิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลง 6 ฝ่ายและทำให้อิหร่านหลุดพ้นจากการคว่ำบาตรด้านอาวุธนิวเคลียร์ ท้องฟ้าอิหร่านโปร่งใสขึ้นทันทีโดยมีผลเมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา แต่สหรัฐอเมริกายังติดใจอยู่แม้ว่าภาพรวมจะเห็นด้วยและร่วมลงนามในข้อตกลง 6 ฝ่ายก็ตาม โดยเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2559 สหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศคว่ำบาตรใหม่ต่อประเทศอิหร่าน เพื่อลงโทษต่อกรณีอิหร่านดำเนินการทดสอบขีปนาวุธนำวิถีความแม่นยำสูง ซึ่งมีขีดความสามารถในการขนหัวรบนิวเคลียร์เมื่อเดือน ตุลาคม 2015 และบอกด้วยว่าเป็นการละเมิดคำสั่งห้ามของสหประชาชาติ

มาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ของสหรัฐฯ ทำให้บริษัท 11 แห่งและบุคคลอีกจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการทดลองขีปนาวุธครั้งนี้ไม่สามารถใช้เครือข่ายธนาคารของสหรัฐฯ ได้ โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านที่เกี่ยวข้องกับการทดลองนิวเคลียร์ไปเพียงวันเดียวเท่านั้น  หลังจาก ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ยืนยันว่ารัฐบาลเตหะรานได้ทำตามขั้นตอนที่สัญญาในข้อตกลงนิวเคลียร์กับชาติมหาอำนาจแล้ว

สำหรับประเทศไทยแล้วแม้การเมืองอิหร่านจะมีปัญหาแต่ก็ยังทำการค้าระหว่างกันเพียงแต่ไม่สะดวกเพราะธนาคารพาณิชย์ในไทยตัดระบบการเชื่อมต่อระหว่างธนาคารเนื่องจากการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาต่ออิหร่านนั่นเองทำให้ยอดการค้าระหว่างประเทศต่ำมากประมาณหลักไม่กี่หมื่นล้านบาท และนักท่องเที่ยวอิหร่านมาไทยก็ยังน้อยคือหลักแสนคน/ต่อปื ขณะที่สถานทูตไทยและสำนักงานการค้าของไทยทำงานหนักมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 จัดงานในกรุงเตหะรานไปแล้ว 4-5 ครั้ง และนำพานักธุรกิจไทยเดินทางไปเยือนอิหร่านเป็นระยะทั้งด้านการค้า การอุตสาหกรรมและนักการเงินการธนาคาร รวมไปจนถึงกลุ่มนักลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย

ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม- กุมภาพันธ์ศกนี้ นายสมคิด จตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีก็นำทีมเศรษฐกิจประกอบด้วย รมว.กระทรวงพาณิชย์ รมว.อุตสาหกรรม รมว.คมนาคม และ รมว.ต่างประเทศ จะเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน และรัฐสุลต่านโอมาน อย่างเป็นทางการ พร้อมกับลงนามความร่วมมือด้านการค้าและสาธารณสุขหลังจากที่ร่างความตกลงความร่วมมือทั้ง 2 ฉบับ ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุม ครม. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ซึ่งไทยกับอิหร่านได้จัดทำความตกลง/บันทึกความเข้าใจ (MoU) ร่วมกันทั้งสิ้น 13 ฉบับ ณ ปี 2554  ครอบคลุมความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น วัฒนธรรม การบิน การขนส่งทางอากาศ การท่องเที่ยว การพลังงาน ความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้า และการโอนตัวนักโทษ และทั้งสองประเทศกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงอีก 30 ฉบับ อาทิ ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ความตกลงทางการค้า  ความตกลงด้านศุลกากร ความตกลงด้านการเกษตร ความตกลงความร่วมมือด้านยาเสพติด เป็นต้น

ก่อนหน้านี้คือระหว่างวันที่  20 – 25 พฤศจิกายน 2558 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็เดินทางไปเยือนอิหร่านก่อนที่อิหร่านจะได้รับการปลดล็อกมาตรการคว่ำบาตร โครงการนิวเคลียร์ และเพื่อเป็นการเตรียมการล่วงหน้าก่อนรองนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเยือน โดยคณะนายสุวิทย์มีโอกาสได้พบปะกับรัฐมนตรีกระทรวงการค้า กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงปิโตรเลียม กระทรวงพัฒนาถนนและเมือง ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงถึงความจริงใจของรัฐบาลไทยที่ต้องการกระชับความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับประเทศอิหร่าน

คณะของนายสมคิดจะมีการลงนามในความตกลงทางการค้าระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย (Trade Agreement between the Government of the Islamic Republic of Iran and the Government of the Kingdom of Thailand) ซึ่ง รมว.พาณิชย์ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จะเป็นผู้ไปลงนามในร่างความตกลงดังกล่าว ซึ่งการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการในครั้งนี้มีผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จำนวน 40 - 50 ราย ภาคธุรกิจกลุ่มก่อสร้าง, กลุ่มอาหาร, กลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมถึงสมาคมธนาคารไทย สมาคมโลจิสติกส์ สมาคมประกันวินาศภัย เป็นต้น เดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศอิหร่านด้วย เพื่อกระชับความสัมพันธ์และขยายการค้า การลงทุนระหว่างกัน

อิหร่านโดยเนื้อแท้นั้นเป็นประเทศใหญ่มากในตะวันออกกลาง มีรากฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่และมีความสัมพันธ์กับไทยมาโดยตรงกว่า 400 ปี อิหร่านเป็นผู้นำโลกมุสลิมนิกายชีอะห์ เบียดความเป็นมหาอำนาจในตะวันออกกลางระหว่างอิหร่านกับประเทศซาอุดีอาระเบีย แต่ดูเหมือนซาอุดีอาระเบียจะเป็นต่อ เนื่องจากมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่ประธานาธิบดีจอร์จ บุช เคยบอกว่าอิหร่านเป็นประเทศที่เป็นแก่นแห่งความชั่วร้าย (Exis of Evil) อิหร่านเป็นแหล่งสำรองน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่อันดับ2 รองจากประเทศซาอุดีอาระเบียในตะวันออกกลางเลยทีเดียว และเคยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสูงสุดในลำดับที่ 6 เมื่อ 5-6 ปีมาแล้ว และขณะนี้ด้านพลังงานงานบริษัทไทยก็ไปสำรวจขุดเจาะอยู่สัมปทานแห่งหนึ่งในอิหร่านด้วย

การค้าและการลงทุนในอิหร่านจะโชติช่วงกว่านี้ หากสามารถทำให้ระบบการค้าการขายให้ทันยุคสมัยปัจจุบันโดยเฉพาะระบบการเชื่อมโยงในวงการการเงินและการธนาคาร ซึ่งต้องอีกพักใหญ่ๆ อิหร่านคงจะทำให้เข้ารูปและเชื่อมกับระบบสากลได้ ไม่เช่นนั้นสิ่งนี้เป็นอุปสรรคสำคัญในการค้าและการลงทุนรวมถึงการท่องเที่ยวระหว่างกันด้วย

สกุลบุนนาคเป็นสกุลพ่อค้าวานิชชาวเปอร์เซียหรืออิหร่านปัจจุบัน ต้นสกุลมาจาก เชค อาหมัด หรือคนไทยในประวัติศาสตร์ออกเสียเป็น “เฉก อาหมัด” เข้ามามีบทบาทต่อประเทศไทยนานมาแล้วตั้งแต่ยุคสมัยแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม และเป็นอัครเสนาบดีฝ่ายเหนือในสมัยพระเจ้าปราสาททองนั่นก็นานมาแล้วร่วม 400 ปีเลยทีเดียว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิหร่านมาเป็นทางการเมื่อ เดือนพฤศจิกายน 2498  ปัจจุบันอิหร่านมีประชากรประมาณ 78.4 ล้านคน ณ ปี 2556

ผมขอชมเชยทุกคนที่มีส่วนร่วมในการผลักดัน สร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นรอบใหม่ระหว่างไทยกับอิหร่านครั้งนี้ ครับ