Global Health Care แนวโน้มยังดี ตอบโจทย์กระแสผู้สูงอายุ

15 ส.ค. 2561 | 11:50 น.
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)รายงานผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี ระหว่างปี 2551-2560 พบว่า

การลงทุนในหุ้นระยะยาวให้ผลตอบแทนลงทุนสูงกว่าประเภทอื่น โดยพบว่า หุ้นให้ผลตอบแทนถึง 11.61% ขณะที่ผลตอบแทนจากพันธบัตร 5.15% ทองคำ 4.5% และเงินฝากประจำ 1 ปี ให้ผลตอบแทน 1.73%

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้น แม้จะให้อัตราผลตอบแทนที่สูง แต่ก็มีความผันผวนสูงเช่นกัน โดยเฉพาะปัจจุบันที่การลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังได้รับแรงกดดันจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ดูเหมือนปะทุขึ้นและยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่มองหาทางเลือกที่ปลอดภัย แม้อัตราผลตอบแทนจะลดลงบ้าง ซึ่งทางเลือกหนึ่งที่น่าสนคือ การลงทุนในกองทุนที่มีมืออาชีพเป็นผู้บริหารจัดการแทน แต่ก็ต้องขึ้นกับประเภทของกองทุนด้วย อย่างที่กำลังได้รับความนิยมมากในช่วงนี้ น่าจะเป็นกองทุนผสม กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT)

อีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปี 2558 คือ Global HealthCare ที่มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.)เปิดกองทุนใหม่ถึง 12 กองทุน และข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561พบว่าในไทยมีกองทุนประเภทนี้ถึง 22กองทุน มีทรัพย์สินสุทธิรวม 38,929 ล้านบาท แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากนโยบายด้านสุขภาพจากต่างประเทศ ทำให้ผลตอบแทนลดลงและบลจ.เองก็ชะลอออกกองทุนไป มีเปิดใหม่เพียง 1 กองทุนเท่านั้นในปีนี้

ทั้งนี้เนื่องจากหลายประเทศในเอเชียกำลังเผชิญกับภาวะสังคมผู้สูงอายุ โดยข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติระบุว่า ในปี 2593 หรืออีก 32 ปีข้างหน้า 80% ของประชากรโลกกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี จะเป็นกลุ่มที่อยู่ในประเทศด้อยพัฒนา ขณะที่ไทยเองเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยข้อมูลของกรมการปกครองเมื่อสิ้นปี 2560 ประชากรไทยอายุมากกว่า 60 ปี มี 15% ของประชากรทั้งหมด
MP19-3392-A

“ธีรนาถ รุจิเมธาภาส” กรรมการอำนวยการบลจ.ทิสโก้ฯ กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า Global Health Care เคยได้รับความนิยมช่วง 3 ปีก่อน อาจจะเพราะให้ผลตอบแทนจูงใจ ซึ่งก็เหมือนๆ กับหุ้นเทคโน ที่เป็นที่นิยม มีการไล่ราคาขึ้นไปจนสูง แต่ช่วงหลัง ความนิยมลดลง เพราะช่วงที่มีการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาผู้ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี อย่างนางฮิลลารี คลินตัน มีนโยบายที่จะควบคุมราคาบริษัทยา ทำให้หุ้นตก และค่าพี/อีที่เคยสูงก็ตกลงมาเยอะ ทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้าไปลงทุนพักหนึ่ง ราคาจึงตกลงมา แต่ปีที่แล้วราคาเริ่มดี และปีนี้ก็ดีขึ้นแล้ว ดังนั้นการลงทุนในกองทุน Global Health Care ยังมีอนาคตดี

“ใจผม มองว่ากองทุนประเภทนี้เหมาะกับการลงทุนระยะยาว เพราะแนวโน้มของโลกเองกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะเราฝากความหวังไว้กับนวัตกรรมใหม่ๆ ในอดีตอาจจะเป็นการลงทุนในกิจการบริการด้านสุขภาพ ไม่มีนวัตกรรม อาจจะมีชื่อเสียงของหมอดีๆ แต่ Global health care ขณะนี้จะมีมากกว่านั้น เป็นการลงทุนไปถึงไบโอเทค เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัยขึ้น ปลูกถ่ายอวัยวะ สามารถไปลงทุนได้มากกว่า จากที่เคยบูมและเชื่อว่า จะบูมได้อีก” โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

อย่างไรก็ตาม ต้องดูราคาที่จะเข้าไปลงทุน แต่ในดัชนีหุ้น S&P500 ค่าพี/อีเคยสูง 20 เท่า แต่ Global Health Care ไล่ซื้อกันที่พี/อี 40 เท่า แต่พอมีข่าวความไม่แน่นอนด้านนโยบายสุขภาพของสหรัฐอเมริกา ทำให้ขณะนี้ซื้อขายตํ่ากว่าพี/อีของเอสแอนด์พี ซึ่งหากซื้อช่วงนี้ก็จะได้ราคาที่ถูกกว่า และขณะนี้ราคาก็เริ่มขึ้นแล้ว เพราะความกลัวของนักลงทุนได้รับรู้ และสะท้อนไปที่ราคาแล้ว ซึ่งหุ้นอาจจะมีอะไรที่เป็นข่าวร้าย แต่เมื่อรับข่าวไปแล้ว จะเป็นโอกาสเข้าไปลงทุน

ด้าน “เกษตร ชัยวันเพ็ญ” รองกรรมการผู้จัดการบลจ.กสิกร ไทยฯ กล่าวว่า ต้องดูแนวคิดของนโยบายสุขภาพต่างประเทศด้วยว่าเป็นอย่างไร แต่ในระยะยาวเชื่อว่าแนวโน้มยังดี เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น เพียงแต่ปัจจัยระยะสั้น ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายด้านสุขภาพ ก็จะมีผล กระทบบ้าง แต่เนื่องจากกองทุน Global Health Care เป็นการลงทุนระยะยาว หากจำเป็นต้องใช้เงิน หรือมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ก็อาจจะกระจายเงินบางส่วนออกมาได้ แต่สำหรับคนที่ยังไม่มี ก็อาจจะถือเป็นจังหวะที่จะเข้ามาลงทุนได้ เพราะเป็นช่วงที่ราคาลง

“เราต้องแยกระหว่างคนที่มีกับคนที่ยังไม่มี คนที่มี ถ้าคุณคิดว่า ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ก็สามารถถือต่อไปได้ แต่ถ้ามีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ก็อาจจะขายบางส่วนออกมา แต่ถ้าคนไม่มี และเชื่อว่าสังคมผู้สูงอายุกำลังมา ก็จะได้ราคาที่ถูกกว่าคนอื่นๆที่เข้าไปลงทุนก่อนหน้านั้น”

รายงาน : โต๊ะข่าวกองทุน

หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,392 วันที่ 16-18 ส.ค. 2561

e-book-1-503x62