ทบทวนใช้คลื่น 900 กับรถไฟความเร็วสูง

11 ส.ค. 2561 | 17:15 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

636+652 นับถอยหลังอีกไม่นานประเทศไทยก็จะมีรถไฟความเร็วสูงใช้อย่างน้อย 2 เส้นทาง คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) และโครงการคือรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา แต่ตอนนี้เริ่มมีคำถามถึงความเหมาะสมในการจัดสรรคลื่นความถี่ที่จะนำมาใช้กับระบบอาณัติสัญญาณรถไฟความเร็วสูงของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่อาจส่งผลกระทบถึงความปลอดภัยในการเดินรถ

โดยเฉพาะการออกมาตั้งข้อสังเกตของ น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช. ผ่านบทความ “ทำไมไม่มีใครประมูลคลื่น 900 MHz” เป็นคำเตือนที่น่าสนใจ แม้ว่าระบบอาณัติสัญญาณรถไฟที่ใช้คลื่นในย่าน 900 MHz จะเป็นไปตามมาตรฐาน GSM-R ของยุโรป แต่ก็มีปัญหาคลื่นรบกวน

hs ที่สำคัญมาตรฐาน GSM-R เป็นมาตรฐานที่กำลังจะตกยุค เพราะแม้จะใช้เทคโนโลยี GSM ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดิจิตอลมาดัดแปลงให้เหมาะกับรถไฟ แต่ก็เป็นเทคโนโลยียุค 2G ซึ่งอุตสาหกรรมจะผลิตอุปกรณ์รองรับไม่เกินปี 2573 และยิ่งใกล้ปีดังกล่าวอุปกรณ์ก็จะยิ่งหายากและมีราคาสูง ในยุโรปจึงได้พัฒนามาตรฐานใหม่ FRMCS และมีแผนจะทยอยย้ายออกจาก GSM-R ตั้งแต่ปี 2565 โดยระบบใหม่จะออกแบบให้รองรับต่อไปอีกอย่างน้อย 20 ปี แม้แต่ในจีนก็พัฒนาระบบใหม่ด้วยเทคโนโลยี LTE บนคลื่นย่าน 450 MHz แต่รถไฟความเร็วสูงของจีนในประเทศไทยกลับใช้เทคโนโลยีเก่า

ที่ผ่านมาการตัดสินใจของ กสทช. ในการจัดสรรคลื่น 900 MHz ให้กับระบบอาณัติสัญญาณรถไฟเป็นไปตามคำขอของกระทรวงคมนาคม และอยู่บนพื้นฐานว่ารถไฟความเร็วสูงต้องใช้คลื่น 900 MHz เท่านั้น หาก กสทช. ไม่จัดสรรให้เท่ากับจะส่งผลเป็นการระงับโครงการนี้โดยปริยาย แต่จากข้อมูลปัจจุบันทำให้รู้ว่า เรามีทางเลือกมากกว่า 1 ทางในการจัดสรรคลื่นความถี่ให้รถไฟความเร็วสูง
090861-1927 น.พ.ประวิทย์ มองว่า การตัดสินใจจัดสรรคลื่น 900 MHz ที่ขาดแคลนเพื่อเทคโนโลยีที่กำลังจะตกยุคอาจเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันหาทางออกโดยเร็ว ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ไม่เช่นนั้น อีกไม่กี่ปีเราก็อาจจะต้องลงทุนเพิ่มเพื่อเปลี่ยนจากเทคโนโลยีที่จะตกยุค ทั้งที่เพิ่งลงทุนไปได้ไม่นาน

เราเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องหันกลับมาทบทวนการนำคลื่น 900 MHz ไปใช้กับระบบอาณัติสัญญาณรถไฟความเร็วสูง ก่อนที่ “ทุกอย่างจะสายเกินไป” เพราะนอกจากเงินลงทุนจำนวนมากที่อาจสูญเปล่าแล้ว ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสารเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

|บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
|ฉบับ 3391 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 12-15 ส.ค.2561
e-book-1-503x62-7