ค่ายมะกันยกธงขาวอีวี! "ฟอร์ด-เชฟโรเลต" เมินลงทุน-เน้นบริการหลังการขาย

02 ส.ค. 2561 | 11:18 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ค่ายอเมริกัน "ฟอร์ด-เชฟโรเลต" ประกาศชัดไม่ลงทุนในโครงการรถยนต์ไฟฟ้าตามการสนับสนุนของรัฐบาลไทย เน้นลุยผลิตปิกอัพ-พีพีวี พร้อมยกเครื่องบริการหลังการขาย

ผ่านครึ่งปีแรก (ม.ค. ถึง มิ.ย. 61) ตลาดรถยนต์ไทยมีแนวโน้มสดใส หวังทำยอดขายสู่ 1 ล้านคันอีกครั้ง (ปี 2560 ขายได้ 8.7 แสนคัน) ซึ่งหลายค่ายมีอัตราเติบโตถ้วนหน้า เช่นเดียวกับ 2 ค่ายอเมริกัน "ฟอร์ดและเชฟโรเลต"

โดย 'ฟอร์ด' ปิดยอดขายช่วง 6 เดือนแรกของปี ได้ 32,677 คัน โต 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีปิกอัพ 'เรนเจอร์' เป็นกำลังขับเคลื่อนหลักด้วยตัวเลข 27,455 คัน ครองส่วนแบ่งตลาดในเซ็กเมนต์ปิกอัพ 13.2%


MP32-3388-A

ล่าสุด เปิดตัว "เรนเจอร์ และพีพีวี เอเวอเรสต์" รุ่นปรับปรุงใหม่ พร้อมถอดเครื่องยนต์ดีเซล 5 สูบ 3.2 ลิตร ออกไป แล้วแทนที่ด้วยเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 2.0 ลิตร เทอร์โบคู่ พร้อมประจำการในเรนเจอร์ รุ่นไวลด์แทรค 4x4 ตัวถังดับเบิลแค็บ (เรนเจอร์ยังมีดีเซลเทอร์โบ รุ่น 2.2 ลิตร และ 2.0 ลิตร ทำตลาด)

แม้ 'เรนเจอร์ ไวลด์แทรค' เครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร เทอร์โบคู่ ขับเคลื่อน 4 ล้อ ตัวถังดับเบิลแค็บ จะเสียภาษีสรรพสามิตในอัตราที่ต่ำลง จาก 13% เป็น 10% เพราะปล่อยค่าไอเสียต่ำกว่าเครื่องยนต์ 3.2 ลิตรเดิม

แต่ฟอร์ดย้ำว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ใส่เข้าไป ทั้งขุมพลังใหม่ เกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด พร้อมออพชันอำนวยความสะดวก-ความปลอดภัยที่มากกว่า จึงทำให้ราคาปิกอัพรุ่นนี้ไม่ลดลง

สำหรับเรนเจอร์ ไวลด์แทรค มีให้เลือก 2 รุ่น ราคาตั้งแต่ 1.029-1.265 ล้านบาท ขณะที่ ปิกอัพไฮโซ 'เรนเจอร์ แร็พเตอร์' ราคา 1.699 ล้านบาท เตรียมส่งมอบให้ลูกค้าตั้งแต่เดือน ส.ค. นี้เป็นต้นไป

แม้สัดส่วนการขายของฟอร์ดกว่า 90% เป็นปิกอัพและพีพีวี โดยปิกอัพรุ่นที่ได้รับความนิยมเป็นกลุ่มบน XLT ราคาประมาณ 8 แสนบาท สามารถครองสัดส่วนขายถึง 50% เมื่อเทียบกับเรนเจอร์ทุกรุ่น ทว่าฟอร์ดยังไม่ถอดใจในกลุ่มรถยนต์นั่ง และยังมีกระแสข่าวว่า เตรียมทำตลาดรถแบรนด์ไอคอน อย่าง 'มัสแตง' ในเมืองไทย

"มัสแตงก็มีแผนงานของมัน ไม่ได้ติดขัดปัญหาอะไร แล้วถ้ามีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป"

น.ส.ยุคนธร วิเศษโกสิน ประธานฟอร์ด อาเซียน และกรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวและตอบคำถามเกี่ยวกับการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย ว่า "รถยนต์ทุกรุ่น (หมายถึงเก๋งและปิกอัพ) ที่ขายผลิตและขายอยู่ในปัจจุบัน เรายังทำตลาดอยู่ ส่วนแผนงานเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า เราไม่พร้อมลงทุนและไม่มีแผนยื่นแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอที่กำหนดเดดไลน์ภายในสิ้นปีนี้"

"อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มปิกอัพที่ฟอร์ดมีความแข็งแกร่ง แต่ยังมีส่วนที่ต้องปรับปรุง คือ เครือข่ายผู้แทนจำหน่าย ทั้งการขายและบริการหลังการขาย โดยปัจจุบัน มีจำนวน 150 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 155 แห่งทั่วประเทศ และทยอยเพิ่มโชว์รูม-ศูนย์บริการที่เปิดครบทั้ง 7 วัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า นอกจากนั้นแล้ว ฟอร์ดยังเปิดโชว์รูมขนาดเล็กในอำเภอรอง เพื่อขยายฐานลูกค้าที่ยังเข้าไปไม่ถึง ปัจจุบัน มีโชว์รูมในรูปแบบดังกล่าว 3 แห่ง ได้แก่ บ้านโป่ง ราชบุรี, บ้านบึง ชลบุรี และอ่าวลึก กระบี่" น.ส.ยุคนธร กล่าวสรุป

ด้าน แบรนด์อเมริกันอีกหนึ่งเจ้า อย่าง 'เชฟโรเลต' มีผลงาน 6 เดือนแรก ปี 2561 ที่เติบโต 4.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมียอดขาย 9,132 คัน ซึ่งเชฟโรเลตในปัจจุบันมีโมเดลที่ทำตลาดหลัก ๆ คือ รถปิกอัพ โคโลราโด และพีพีวี เทรลเบลเซอร์ ส่วนความเป็นไปได้ในการขายรถยนต์ไฟฟ้านั้น ยังไม่มีแผน แต่บริษัทแม่มีรถยนต์ไฟฟ้าและมีเทคโนโลยีดังกล่าว โดยในประเทศไทยต้องมีศึกษาถึงความต้องการของตลาด ความพร้อมของผู้บริโภค รวมไปถึงตลาดในภูมิภาคด้วย

น.ส.ปิยะนุช จตุรภัทร์ ผู้อำนวยการทั่วไป ฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แผนงานของเชฟโรเลตตอนนี้ คือ การมุ่งดูแลลูกค้า ผ่าน "เชฟโรเลต คอมพลีต แคร์" ซึ่งภายใต้โปรแกรมดังกล่าว ประกอบไปด้วยการขยายเครือข่ายโชว์รูมในรูปแบบ 2S

ปัจจุบัน เชฟโรเลตมีโชว์รูมและศูนย์บริการจำนวน 87 แห่งทั่วประเทศ และมีแผนที่จะขยายเครือข่ายโชว์รูมในรูปแบบ 2S เพิ่มจำนวน 16 แห่ง ภายในสิ้นปี 2562

"เราเชื่อว่า โมเดล 2S เป็นการลงทุนที่ดีลเลอร์จะคืนทุนไว โดยแห่งแรกที่จะเปิด คือ ภูเก็ต หลังจากนั้นจะเป็นอำนาจเจริญ ซึ่งในเฟสแรก เราจะเปิด 8 แห่ง มีรูปแบบเป็นศูนย์บริการหลังการขายและอะไหล่ในรูปแบบสแตนด์อะโลน และเฟส 2 อีก 8 แห่ง ซึ่งกำลังพิจารณาจากศูนย์บริการในรูปแบบพิเศษ หรือ Authorized Service Outlets (ASOs) โดยคัดจากศูนย์บริการรถยนต์ในพื้นที่ที่ได้มาตรฐานการให้บริการตามที่บริษัทกำหนด ซึ่งทั้งหมดที่เราวางแผนไว้จะใช้เงินลงทุนรวมกว่า 50 ล้านบาท" น.ส.ปิยะนุช กล่าวและว่า

เรียกได้ว่า ชัดเจนสำหรับทิศทางและแผนงานของทั้ง 2 ค่าย ที่เน้นหลักไปที่รถปิกอัพและพีพีวี นอกจากนั้นแล้ว การปรับปรุงบริการหลังการขายและการดูแลลูกค้า ยังเป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักที่ทั้ง 2 ค่าย พยายามแก้ไขเพื่อให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น และมั่นใจที่จะเป็นเจ้าของรถในอนาคต


……………….
เซกชัน : ยานยนต์ โดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,388 วันที่ 2-4 ส.ค. 2561 หน้า 32

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
มังกรจีนเดินหน้ารถอีวีเต็มรูปแบบ
ศึกมอเตอร์ไซค์ไฮบริด‘ยามาฮ่า’ปาดหน้า‘ฮอนด้า’-ยืนยันขยับไป‘อีวี’แน่


e-book-1-503x62