"สงครามค่าเงิน" ตั้งเค้า! 'ทรัมป์' ฉะจีน-อียู ปั่นค่าเงิน

26 ก.ค. 2561 | 06:03 น.
260761-1235

… ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อและเขียนข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัว ว่า จีนและสหภาพยุโรป (อียู) กำลังปั่นค่าเงิน ทำให้สกุลเงินของตัวเองอ่อนค่าลงมาเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อหวังช่วงชิงความได้เปรียบทางการค้าและจะทำให้สินค้าของสหรัฐฯ ที่มุ่งเข้าสู่ตลาดจีนและอียูแข่งขันได้น้อยลง ท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ ที่ออกมากล่าวหาว่า ประเทศคู่ค้าปั่นค่าเงิน แม้จะไม่ใช่ครั้งแรก แต่เมื่อเอ่ยขึ้นท่ามกลางบริบทของการเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างกันในขณะนี้ ก็ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐฯ จะจับตาพฤติกรรมของจีนและอียูในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น และก็เป็นไปได้ว่า สงครามการค้าจะยกระดับลุกลามไปสู่สงครามอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะมีผลสร้างความปั่นป่วนต่อตลาดการเงินโลก


 

[caption id="attachment_300920" align="aligncenter" width="503"] โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์
ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา[/caption]

เป็นเวลามากกว่า 1 เดือนแล้ว ที่ "สกุลเงินหยวน" หรือเหรินมินปี้ของจีน อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเมื่อผู้นำสหรัฐฯ ออกมาให้ความเห็นว่า ค่าเงินหยวนร่วงดิ่งเหมือนหินถ่วง และจีนก็กำลังปั่นค่าเงินของตัวเอง นั่นก็เป็นช่วงเวลาที่ค่าเงินหยวนดิ่งลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 และมาถึงจุดต่ำสุดในรอบเวลามากกว่า 12 เดือน โดยลดลงเกือบ 5% นับตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. มาอยู่ในอัตรา 6.7864 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 ก.ค. 61)


เชื่อไม่เหมือนปี 2558
นักวิเคราะห์ ระบุว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2558 เมื่อค่าเงินหยวนดำดิ่งลงมาก และก่อให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดการเงินตามมา ซึ่งรวมถึงการโยกย้ายไหลออกของเงินทุน ทำให้เวลานี้ต้องจับตาว่า ธนาคารกลางของจีน หรือ พีบีโอซี จะมีท่าทีหรือมาตรการจัดการอย่างไรกับแนวโน้มที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังพอเห็นสัญญาณที่ว่า นักลงทุนและตลาดมีปฏิกิริยาต่อการดำดิ่งของค่าเงินหยวนแตกต่างไปจากที่เคยเป็นมาในอดีต ซึ่งครั้งนั้น พีบีโอซีปรับลดค่าเงินหยวนอย่างเป็นปุปปัปเหนือคาด ไม่มีการเตือนล่วงหน้ามาก่อน ทำให้ปฏิกิริยาตอบกลับเป็นไปอย่างตื่นตระหนก ผิดกับในครั้งนี้ที่นักลงทุนเห็นมาเป็นลำดับว่า พื้นฐานเศรษฐกิจเป็นมาอย่างไร และจีนเองก็กำลังเผชิญกับการตอบโต้ไปมาทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา ... "เหตุการณ์เมื่อหลายปีที่ผ่านมา เงินหยวนอ่อนค่าแบบปุปปัป ไม่มีที่มาที่ไป แต่ในครั้งนี้แม้จะมีผลกระทบต่อตลาดบ้าง ทั้งต่อดัชนีหลักทรัพย์ไปจนถึงราคาน้ำมัน แต่ผลกระทบก็ไม่ได้ขยายขอบเขตกว้างเหมือนในอดีต" ... นักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกน ตั้งข้อสังเกต


app-yuan2

ยกตัวอย่าง ดัชนี S&P 500 แม้จะโตแผ่วลง แต่ก็ยังมีการขยายตัวติดต่อกันมา 4 เดือน ผิดกับเมื่อเดือน ส.ค. 2558 ที่ S&P 500 ดิ่งลง 6.3% นอกจากนี้ แม้ว่าดัชนีหลักทรัพย์ของจีน เช่น CSI 300 จะลดฮวบลงมาราว 20% เมื่อเทียบกับช่วงที่เคยขึ้นไปสูงสุดในเดือน ม.ค. ปีนี้ แต่ก็มีที่มาที่ไป เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนก็แผ่วลง อีกทั้งยังมีความวิตกเกี่ยวกับปัญหาหนี้ของภาคเอกชน ที่ทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้มากยิ่งขึ้นในระยะหลัง ๆ นี้

เฟรดเดอริค นอยแมน หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐศาสตร์เอเชีย ธนาคารเอชเอสบีซี ให้ความเห็นว่า การอ่อนค่าลงของเงินหยวนในขณะนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทที่แตกต่างจากในปี 2558 ที่เป็นการลดลงอย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน แต่ครั้งนี้ปัจจัยทางเศรษฐกิจในภาพกว้างที่ทำให้เห็นและคาดการณ์ได้ว่า เงินหยวนจะอ่อนค่าลง เพราะธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) เอง ก็กำลังปรับดอกเบี้ยสูงขึ้น ขณะที่ จีนกำลังผ่อนปรนมาตรการทางการเงินและให้ค่าเงินสะท้อนกลไกตลาดมากขึ้น ดังนั้น ขณะที่ ผู้นำสหรัฐฯ กำลังเพ่งเล็งไปว่า การอ่อนค่าของเงินหยวนในขณะนี้เป็นนโยบายปั่นค่าเงินของจีน ... นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งกลับมองว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น และรัฐบาลจีนเองก็รู้ดีว่า เงินหยวนแข็งค่าเกินจริงอยู่ประมาณหนึ่ง จึงสามารถปล่อยให้อ่อนลงมาได้อีก และสถานการณ์ดังกล่าวก็อยู่ในภาวะที่จีนยังควบคุมได้

 

[caption id="attachment_300921" align="aligncenter" width="503"] ©PublicDomainPictures ©PublicDomainPictures[/caption]

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งยังมองว่า จีนมีเหตุผลที่ไม่น่าจะต้องการให้ค่าเงินหยวนอ่อนลงอย่างต่อเนื่องดังที่ผู้นำสหรัฐฯ กำลังปรักปรำ เนื่องจากในรอบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา การอ่อนค่าของเงินหยวนที่ก่อให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกอย่างปุปปัปฉับพลัน ทำให้รัฐบาลจีนจำเป็นต้องนำทุนสำรองเงินตราต่างประเทศกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาสกัดปัญหาดังกล่าว และในการอ่อนค่าล่าสุดนี้ จีนก็ได้เห็นแล้วว่า มีเงินทุนไหลออกราว 10,700 ล้านดอลลาร์ ทำให้ต้องออกมาใช้มาตรการสกัดกั้น ... นายอี้ กัง ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีน ออกมายืนยันเมื่อต้นเดือน ก.ค. นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เงินหยวนอ่อนค่าลง 2% ภายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ว่า จีนต้องการให้อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ ไม่ได้ต้องการให้ค่าเงินอ่อนเพื่อได้เปรียบทางการค้า
260761-1245 ลุ้นรายงานฉบับเดือน ต.ค.
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาย้ำซ้ำ ๆ ว่า จีนและอียูจงใจทำให้สกุลเงินของตัวเองอ่อนค่าลง นั่นก็เป็นสัญญาณไม่ค่อยดีแล้ว ซึ่งหมายความว่า สหรัฐฯ กำลังขยายวงสนามรบจากสงครามการค้าเข้าสู่สงครามค่าเงิน และเมื่อเป็นเช่นนั้น ผลกระทบจะส่งผลวงกว้างทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน ไปจนถึงตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดน้ำมัน และก่อให้เกิดวิกฤติหลากหลายสกุลเงินในเอเชีย รวมทั้งริงกิตมาเลเซียไปจนถึงวิกฤติรูเบิลรัสเซีย

 

[caption id="attachment_300922" align="aligncenter" width="503"] ©PublicDomainPictures ©PublicDomainPictures[/caption]

นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เปิดเผยกับสื่อเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า สหรัฐฯ กำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า จีนกำลังปั่นค่าเงินหรือไม่ ... "ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ค่าเงินที่อ่อนลงจะสร้างความได้เปรียบอย่างไม่ชอบธรรมให้กับพวกเขา เราจะพิจารณาอย่างรอบคอบว่า จีนกำลังปั่นค่าเงินหรือไม่" ... ทั้งนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะออกรายงานประจำปีว่าด้วยเรื่องนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งจัดทำปีละ 2 ครั้ง ครั้งต่อไปภายในเดือน ต.ค. ที่จะถึงนี้ และเป็นที่คาดหมายว่า ในรายงานดังกล่าวจะมีการระบุว่า ประเทศใดที่เข้าข่ายเป็นประเทศปั่นค่าเงินเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการค้า จีนนั้นเคยรอดตัวมาแล้วจากรายงานฉบับล่าสุดในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ที่ไม่มีรายชื่อถูกระบุเป็นประเทศผู้ปั่นค่าเงิน แต่ครั้งหน้าในเดือน ต.ค. ที่กำลังจะมาถึง ถ้าหากจีนถูกระบุเป็นประเทศปั่นค่าเงิน ก็จะต้องเจอกับมาตรการตอบโต้ ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานการณ์การเผชิญหน้าย่ำแย่ลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่


……………….
เซกชัน : เศรษฐกิจต่างประเทศ รายงานพิเศษ โดย โต๊ะข่าวต่างประเทศ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,386 วันที่ 26-28 ก.ค. 2561 หน้า 10

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"สงครามค่าเงิน" ปะทุ!! ศึกการค้าลากโลกติดกับดัก เศรษฐกิจเสี่ยงชะงักงัน
เงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.10-33.50 บ.ต่อดอลลาร์ จับตาสงครามค่าเงินรอบใหม่


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว