ที่นี่ไม่มีความลับ : "สุเทพ" ตระบัดสัตย์ ละครการเมืองอีกฉาก

05 มิ.ย. 2561 | 10:05 น.

56659565

นักการเมืองไทยไม่ค่อยรักษาคำมั่นสัญญาและมักจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตนเคยให้คำมั่นหรือที่เรียกกันว่า “สัญญาประชาคม” ได้ตลอดเวลา และนั่นคือสาเหตุหลักในการที่จะต้องปฏิรูปการเมือง ดังนั้นคนที่เริ่มต้นในการไม่รักษา “คำสัตย์” ที่ตัวเองลั่นวาจาไว้ อย่าง "สุเทพ เทือกสุบรรณ" อย่ามาอ้าปากกล่าวอ้างว่า จะเข้ามาเพื่อเป็นขี้ข้าประชาชน เพราะนั่นคือการสร้างวาทกรรมเพื่อหาความชอบธรรมในการ “ตระบัดสัตย์” เท่านั้น

331659 สุเทพ เทือกสุบรรณ เติบโตทางการเมืองภายใต้ร่มเงาของ "ชวน หลีกภัย" ตำแหน่งทางการเมืองสำคัญมาจากการสนับสนุนของชวน หลีกภัย โดยเป็นเลขานุการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในสมัยที่ ชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรี

ก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในครั้งที่ ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ โดยมี นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ (พี่เมีย) เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ

และเป็นผู้ที่ทำให้ “รัฐบาลชวน 1” ต้องอับปางลงด้วยการออกนโยบายแจกที่ดิน ส.ป.ก.4-01 (มีการแจกให้ญาติเลขานุการ รมช.ตัวเอง ทั้งที่เป็นคหบดีในภูเก็ต) จนเป็นที่มาของการโจมตีทางการเมืองอย่างหนักของกลุ่ม 16 ที่มี เนวิน ชิดชอบ เป็นแกนนำในขณะนั้น ตามมาด้วยการถอนตัวของพรรคพลังธรรม ของพล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในปี 2538 อันเป็นเหตุให้ ชวน หลีกภัย ตัดสินใจยุบสภา

331657 ช่วงกระแส ส.ป.ก.4-01 รุนแรง สุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องลงไปลุยแจกเอกสารคำชี้แจงตามสี่แยกไฟแดงเพื่อสู้กับการที่ กลุ่ม16 เอา “กระจง” (สัตว์ป่า) ไปปล่อยให้สื่อมวลชนเห็นเมื่อครั้งไปตรวจพื้นที่ ส.ป.ก.4-01 ในภูเก็ต ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจในปี 2538

ถัดไปอีกปี สุเทพ กลายเป็นผู้นำเอาข้อมูลการปล่อยกู้อันมิชอบ ของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ (BBC) ให้กับพลพรรคกลุ่ม 16 ในช่วงที่กลุ่ม 16 เรืองอำนาจมี เนวิน ชิดชอบ เป็นรมช.คลัง สุชาติ ตันเจริญ เป็น รมช.มหาดไทย มาอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนกระทั่งธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ ต้องปิดตัวลง และ “รัฐบาลบรรหาร” ยุบสภา

หลังจาก ชวน หลีกภัย กลับมาเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 เมื่อปลายปี 2540 ก็ปูนบำเหน็จให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ ขึ้นเป็น รมว.คมนาคม นั่นคือการกลับมายิ่งใหญ่ทางการเมือง หลังจากตกต่ำด้วยกรณี ส.ป.ก.4-01 พร้อม ๆ กับการยอมร่วมรัฐบาลกับ เนวิน ชิดชอบ (ในตำแหน่งรมช.เกษตรและสหกรณ์) ทั้ง ๆ ที่ห้ำหั่นเอาเป็นเอาตายกันทางการเมือง ช่วง 2-3 ปี ก่อนหน้านั้น และใน 11 ปีต่อมา (2551) สุเทพ เทือกสุบรรณ กลายเป็นคนเจรจาให้ เนวิน ชิดชอบ ถอนตัวจาก ทักษิณ ชินวัตร มาร่วมกันตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นี่คือตัวอย่างของ “การเมืองที่ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร”
331658 ฉายภาพประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับชายชื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ จะได้เห็นว่าเขาไม่ใช่คนยึดติดกับความเป็นมิตร หรือ ศัตรู รวมทั้งอุดมการณ์ทางการเมือง แต่เขายึด “ความสำเร็จ” เป็นที่ตั้ง ดังนั้นครั้งหนึ่ง (ตุลาคม 2556) ที่เคยประกาศว่าจะเลิกเล่นการเมือง ในช่วงชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และกลับมาประกาศจะเข้ามาอีกครั้งเพื่อสนับสนุนพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มี เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ว่าที่ผู้นำพรรค (ผู้นำพรรคตัวจริงก็คือ สุเทพ เทือกสุบรรณ นั่นแหละ)

สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นคนการเมืองหัวจรดเท้าตั้งแต่ลงมาเป็นกำนันก็เล่นการเมืองท้องถิ่น และเข้ามาเล่นการเมืองระดับชาติ จนต้องบอกว่าจิตวิญญาณของเขา “ขาดการเมืองไม่ได้” จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เขาประกาศว่า จะกลับมาในวงการการเมืองอีกครั้งในนามพรรครวมพลังประชาชาติไทย เพราะเขาไม่เคยออกจากการเมือง อยู่ที่ว่าจะเป็นการเมืองในสภาหรือการเมืองบนท้องถนน ฉะนั้นจึงไม่ต้อง “หลั่งน้ำตา” อ้างขอเป็นขี้ข้าประชาชน สร้างความชอบธรรมเพื่อกลับเข้าวงการ

......................
อลัมน์ : ที่นี่ไม่มีความลับ |โดย...เอราวัณ|หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3372 ระหว่างวันที่ 7-9 มิ.ย.2561
e-book-1-503x62-7