ทางออกนอกตำรา : อย่าตกขบวน Go Thailand คลื่น ‘อีอีซี’ มาแรงแน่

16 พ.ค. 2561 | 13:32 น.
6555 วันนี้ขออนุญาตพาคุณผู้อ่านมาติดตามเรื่อง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ซึ่งประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ผมเกาะติดมาตลอด จึงอยากนำเสนอให้ผู้อ่านเห็นภาพ เห็นโอกาสประเทศไทยในอนาคต

พ.ร.บ. ฉบับนี้มีทั้งหมด 73 มาตรา รวมบทเฉพาะกาล เหตุผลของการตรา พ.ร.บ. ฉบับนี้เพื่อกำหนดให้ภาคตะวันออกเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีการวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ชัดเจนแน่นอนโดยสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการบูรณาการการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้ต่อเนื่องและเชื่อมโยงกัน ทั้งในและนอกเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยระดับนานาชาติ ที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยและการประกอบกิจการ มีการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ทั้งแก่ผู้ประกอบกิจการและผู้อยู่อาศัยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นการเฉพาะ
eec (1) ผมขอสรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.อีอีซี ดังนี้ มาตรา 6 กำหนดให้พื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ ระยอง และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออกที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อวัตถุประสงค์ 1. พัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 2. จัดให้มีการบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกอบกิจการ 3. พัฒนาเมืองให้ทันสมัยระดับนานาชาติ สะดวก ปลอดภัย

มาตรา 8 กำหนดให้โครงการในอีอีซีต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชนหรือชุมชน

มาตรา 10 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกฯ เป็นรองประธาน นอกนั้นมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ กับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 5 คน เป็นต้น

หมายความว่าอำนาจในการดำเนินการเรื่องการอนุมัติต่างๆ นั้นแม้เป็นสิทธิ หน้าที่ของเลขาธิการอีอีซี แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบการอนุมัติของคณะกรรมการอีอีซี ที่นายกฯเป็นประธาน ไม่ใช่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดดังที่กลัวและหวาดระแวงกันว่า เลขาธิการอีอีซี จะมีอำนาจล้นฟ้าเหนือกฎหมายอื่น
CC-426 มาตรา 11 กำหนดอำนาจหน้าที่ของบอร์ดอีอีซี อาทิ กำหนดนโยบายเพื่อพัฒนา EEC, ให้ความเห็นชอบแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน, โครงสร้างพื้นฐาน, กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน, อนุมัติ อนุญาตให้สิทธิ หรือให้สัมปทาน, กำหนดพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมเป้าหมายและสิทธิประโยชน์

มาตรา 39 ในหมวด 5 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ กำหนดเป้าหมายอุตสาหกรรมพิเศษ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย 1. ยานยนต์สมัยใหม่ 2. อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3. การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 4. การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5. การแปรรูปอาหาร 6. หุ่นยนต์ 7. การบินและโลจิสติกส์ 8. เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9. ดิจิตอล และ 10. การแพทย์และสุขภาพครบวงจร
n20180111120604_144024 มาตรา 49 ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าว ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด โดยได้รับการยกเว้นจากการจํากัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ผู้ประกอบกิจการซึ่งจะมีสิทธิ และจํานวนที่ดินหรือห้องชุดตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือ กฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
mp29-3349-a มาตรา 52 การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดําเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ มิให้นําความในมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 มาใช้บังคับ การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ทําสัญญาเช่าเป็นกําหนดเวลา เกินห้าสิบปี ถ้าได้ทําสัญญากันไว้เป็นกําหนดเวลานานกว่านั้นก็ให้ลดลงมาเป็นห้าสิบปี การต่อสัญญาเช่า อาจทําได้ แต่จะต่อสัญญาเกินสี่สิบเก้าปี นับแต่วันครบห้าสิบปีไม่ได้

แปลไทยเป็นไทยว่า การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมมาใช้บังคับ การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า และห้ามมิให้ทำสัญญาเช่าเป็นกำหนดเวลาเกิน 50 ปี ถ้าทำสัญญานานกว่านั้นให้ลดลงมาเป็น 50 ปี การต่อสัญญาเช่า อาจทำได้ แต่จะต่อสัญญาเกิน 49 ปีนับแต่วันครบ 50 ปีไม่ได้ นั่นหมายถึงว่า สิริรวมในการเช่าของคนต่างด้าวในอสังหาริมทรัพย์จะสูงสุดเพียงแค่ 99 ปีเท่านั้น
EEC พอมีพ.ร.บ.ฉบับนี้ปุ๊บผมบอกได้เลยว่า 5 โครงการหลักจะติดเครื่องทันที สามารถประกาศร่างประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) เพื่อเร่งระดมให้เกิดการลงทุนจริง

1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินประกอบด้วย ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา วงเงิน 1.58 แสนล้านบาท

2. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 วงเงิน 2.15 แสนล้านบาท

3. โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO มูลค่าลงทุนรวม 11,000 ล้านบาท

4. โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ที่แบ่งการลงทุนออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ที่เกี่ยวข้องกับการถมทะเลบนเนื้อที่ 1 พันไร่ ใช้งบลงทุนราว 1.08 หมื่นล้านบาท และการลงทุนบนพื้นที่ถมทะเล ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว ท่าเทียบเรือก๊าซ คลังสินค้าและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ งบลงทุนอีก 1 แสนล้านบาท

5. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ที่ได้เสนอรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไปแล้ว

[caption id="attachment_281755" align="aligncenter" width="503"] คณิศ แสงสุพรรณ คณิศ แสงสุพรรณ[/caption]

คุณคณิศ แสงสุพรรณ  เลขาธิการอีอีซี คนแรกบอกว่า หลังจากนี้จะมีนักลงทุนทั้ง จากญี่ปุ่นและจีนที่รอให้มีการตรากฎหมาย ดังกล่าว ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น มั่นใจว่าปีนี้จะสามารถผลักดันให้อุตสาหกรรมเป้าหมายยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนใน พื้นที่อีอีซีมากกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเดิมที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คาดการณ์ไว้ จากมูลค่าคำขอรับส่งเสริมการลงทุนปีนี้ทั้งปี คาดไว้ที่ 7.2 แสนล้านบาท และคาดว่าจะมีการลงทุนเกิดขึ้นจริงภายในปีนี้ 30-40% จากคำขอรับส่งเสริมการลงทุนปีก่อนที่มี 2 แสนล้านบาท

งานแรกที่ต้องเริ่มก่อนคือ จัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เบื้องต้น 1,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนา ช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนและชุมชน สร้างสมดุลให้ทุกคนได้รับประโยชน์

นักธุรกิจ นักลงทุน นักค้าที่ดิน อย่าตกขบวนเชียวครับ เพราะในเวลา 5-10 ปี พื้นที่แห่งนี้จะเป็นโกลเดนแลนด์ของประเทศไทยมากที่สุด ขอบอก..

เสียงคัดค้านที่เกิดขึ้นในขณะนี้เพราะยังเห็นภาพเบลอๆ ไม่ชัด แต่หลังจากนี้ไปรับรองการลงทุนจะเกิดขึ้นมากมาย แต่คนไทยจะได้อะไรต้องติดตาม

....................
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา |โดย...บากบั่น บุญเลิศ | หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3366 ระหว่างวันที่ 17-19 พ.ค.2561 |
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว