ชสอ. ฮึดสู้รัฐบาล! เลิกคุมเข้มสหกรณ์

04 พ.ค. 2561 | 10:21 น.
040561-1702

ชสอ. ขู่ยื่นศาลปกครอง! เพิกถอนระเบียบควบคุมการดำเนินงานของสหกรณ์ ยืนยัน ฐานะการเงินแข็งแกร่ง สินทรัพย์รวม 125,000 ล้านบาท ... 'พิเชษฐ์' หงอ! ระบุ ปัญหาทุจริตสหกรณ์จิ๊บจ๊อยแค่ 0.04% พร้อมคลายกฎแก้คำสั่ง

แหล่งข่าวจากชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ชสอ. ได้จัดเวทีระดมความเห็น "เรื่องมาตรการและการสื่อสารของรัฐ : รักษาหรือทำลายขบวนการสหกรณ์การเงินของไทย" โดยที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า ระเบียบประกาศและคำสั่งของกรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ที่ออกมาบังคับใช้กับสหกรณ์ ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย ขอให้สหกรณ์แต่ละแห่งที่เกิดความเสียหายร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อเพิกถอนระเบียบประกาศและคำสั่งนายทะเบียน รวมทั้งยังเสนอให้มีการเดินขบวนเข้าพบส่วนราชการที่กำกับดูแลสหกรณ์ เพื่อแสดงความเห็นคัดค้านมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมา ทำให้สหกรณ์เกิดความเสียหาย โดยจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อคัดค้านมาตรการกำกับดูแลสหกรณ์ของภาครัฐ

 

[caption id="attachment_278786" align="aligncenter" width="170"] วีระ วงศ์สรรค์ ประธาน ชสอ. วีระ วงศ์สรรค์
ประธาน ชสอ.[/caption]

นายวีระ วงศ์สรรค์ ประธาน ชสอ. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ผลสรุปเรื่องมาตรการดังกล่าวนั้น เป็นผลพวงจากกรณีหน่วยงานภาครัฐให้ข่าวผ่านสื่อ โดยยกข้อมูลเก่าในอดีตเมื่อปี 2558 ซึ่งระบุความเสียหายของสหกรณ์กว่า 1,200 แห่ง ทำให้สมาชิกสหกรณ์ของ ชสอ. ไม่สบายใจ ไม่เชื่อมั่นสหกรณ์ของตัวเอง และเกรงจะเกิดปัญหาตื่นตระหนกพากันถอนเงินออก

"ชสอ. เตรียมพร้อมเพื่อให้สมาชิกสบายใจ โดยจะมีคณะทำงานดูแลด้านข้อมูลข่าวสาร เพื่อมิให้เกิดการตีขลุมว่า สหกรณ์ในระบบมีสถานะติดลบ ขณะเดียวกัน ปัจจุบันทางการเองอยู่ในช่วงของการยกระดับสหกรณ์ในระบบและมีมาตรการกำกับดูแลอยู่แล้ว"


TP8-3250-b

สำหรับ ชสอ. สิ้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา สามารถระดมเงินฝากจากสหกรณ์สมาชิกจำนวนเกือบ 1 หมื่นล้านบาท โดยอนุมัติปล่อยกู้ให้สหกรณ์ 34 แห่ง ซึ่งมีความต้องการวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำเงินกู้ไปชำระคืนธนาคารเจ้าหนี้ เช่น ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารอื่น ซึ่งเป็นการชำระคืนเงินกู้ตามที่ครบกำหนดแต่ละงวดสัญญา

ปัจจุบัน สถานะของ ชสอ. มีความมั่นคง โดยมีสหกรณ์สมาชิกรวมจำนวน 1,095 แห่ง สินทรัพย์รวม 125,000 ล้านบาท ขณะที่ สมาชิก 270 สหกรณ์ มียอดเงินกู้คงค้างอยู่จำนวน 8.6 หมื่นล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีหนี้เอ็นพีแอลอยู่เพียง 0.0073% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ ชสอ. กำหนด ไม่ให้เอ็นพีแอลเกินอัตรา 0.01%

 

[caption id="attachment_278788" align="aligncenter" width="503"] พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์[/caption]

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" เรื่องภาพลักษณ์ของสหกรณ์ ว่า ไม่กังวลอะไร เพราะที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ดีเกือบ 100% โดยเฉพาะ ชสอ. แต่ยอมรับว่า ที่ผ่านมาเวลามีข่าวมาไม่ดี อาจทำให้คนตกใจบ้าง แต่ไม่มาก เพราะถ้ามีข่าวไม่ดีเกิดขึ้นมาก ก็อาจจะเห็นภาพการลาออกจากสมาชิกสหกรณ์ แต่ปัจจุบันยังไม่มีภาพเหล่านั้น พร้อมยืนยันว่า เรื่องทุจริตในกระบวนการสหกรณ์นั้นมีน้อยมาก แค่ 0.04% แต่มีข้อบกพร่องเล็กน้อยในการบริหารงานเท่านั้น ส่วนร่างระเบียบประกาศคำสั่งใดที่ออกมาบังคับใช้กับสหกรณ์ที่มีปัญหา ทางกรมก็พร้อมที่จะแก้ไขเพื่อให้สหกรณ์เดินได้

"การบริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ทางกรมก็ได้มีการพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา เพราะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะเดินไปเคียงข้างกัน แต่ถ้าภาครัฐกับสหกรณ์เดินคนละทางจะทำให้ไปด้วยกันไม่ได้ ดังนั้น ยืนยันว่า อะไรที่เป็นปัญหาทางกรมพร้อมที่จะรับฟัง แก้ไข เพื่อให้งานของสหกรณ์เดินได้และสร้างความเข้มแข็ง"


Apptp14-3094-a

สำหรับมาตรการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ตามข้อเสนอแนะของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก่อนที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์จะออกประกาศเพิ่มเติม เช่น 1.การดำรงสัดส่วนหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 1.5 เท่าของทุนรวมยอดเงินฝาก ซึ่ง ชสอ. เสนอให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 2-3 เท่าของทุน ไม่รวมยอดเงินฝากก่อน จากนั้นทยอยปรับลดลงมาเหลือไม่เกิน 1.5 เท่า ภายในระยะเวลา 3-5 ปี ทาง ธปท. ยอมผ่อนผันให้เหลือ 2% ของทุน แต่ให้รวมยอดเงินฝากด้วย

ส่วนเรื่องการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องกำหนดไว้ที่ 3% แบ่งเป็นเงินสด 1% ที่เหลืออีก 2% เป็นสินทรัพย์ที่มั่นคง เช่น เงินฝาก, พันธบัตร จากก่อนหน้ากระทรวงการคลังเสนอให้ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องที่ 6% ของสินทรัพย์

 
appTP3-3173-A

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมฯ ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลสหกรณ์ เรื่องนำเงินสภาพคล่องส่วนเกินไปฝากกับสหกรณ์อื่น โดยสหกรณ์ที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 5,000 ล้านบาท จะนำเงินไปฝากกับสหกรณ์อื่นได้ไม่เกินทุนสำรองรวมทุนเรือนหุ้นของตนเอง และนำเงินไปลงทุนในสหกรณ์แต่ละแห่งได้ไม่เกิน 10% ของทุนสำรองรวมทุนเรือนหุ้น และประเด็นการปล่อยกู้วนซ้ำ ซึ่งลดลงมาก แทบจะไม่มี

เช่น การปล่อยกู้สหกรณ์เอระยะเวลาทำสัญญา 36 เดือน หรือ 3 ปี แต่ผ่านไป 1-2 ปี สหกรณ์เอต้องการขยายวงเงินกู้ จะต้องทำสัญญากู้ฉบับใหม่ และสหกรณ์ดังกล่าวจะต้องตั้งสำรองเต็ม 100% หรือ กรณีสหกรณ์ทุกประเภทต้องการวงเงินกู้จำนวน 100 ล้านบาท จะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่และต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนด้วย


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,362 วันที่ 3-5 พ.ค. 2561 หน้า 01-02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เสนอสูตร "พัก 4 จ่าย 2" ปลดล็อกสหกรณ์รถไฟ
ศาลปกครองกลางตัดสิน! ไม่คุ้มครองสหกรณ์วังน้ำเย็นผลิตนมฟลูออไรด์


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว