ICO ไทยมือใหม่หัดขับภาครัฐมาถูกทางเร่งก.ม.คุมเงินดิจิตอล

22 มี.ค. 2561 | 04:26 น.
ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และ ร่างพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ในประเด็นการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล โดยอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนก่อนจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้

ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี สำนัก งานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในช่วงที่กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ ก็เชื่อว่าผู้ที่ต้องการระดมทุนด้วย ICO (Initial Coin Offering) ก็คงจะเร่งระดมทุนกันอีกหลายราย

[caption id="attachment_269548" align="aligncenter" width="336"] ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ดร.ภูมิ ภูมิรัตน[/caption]

จากต้นปีที่ผ่านมามีผู้ออก ICO ระดมเงินทุนในประเทศไทยไปแล้วประมาณกว่า 10 ราย โดยมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย ซึ่งระดมเงินทุนรวมๆกันหลักหมื่นล้านบาท ก็มีบางรายที่ใช้ได้ แต่บางรายก็ถือว่ายังไม่ได้มาตรฐาน การเปิดเผยราย ละเอียดโครงการในเอกสาร White Paper ก็ยังไม่ได้ทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งนักลง ทุนก็ต้องพยายามศึกษาให้ดีให้เข้าใจ ก่อนตัดสินใจไปลงทุน

“ต้องดูความเป็นไปได้ของโครงการ คาดการณ์อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ไม่ใช่แห่กันเข้าไปซื้อ เพราะกลัวตกรถ (FOMO : Fear of Missing Out) หวังทำกำไรในตลาดรองหลายๆเท่าตัว ตอนนี้คนเล่นด้วยอารมณ์กันมาก เอกสาร White Paper ของผู้ระดมทุนบางรายก็เป็นการเชิญชวนมาลงทุนเสียส่วนใหญ่ เสนอแต่มุมที่ดีๆ แต่ไม่ได้พูดถึงความเสี่ยงของโครงการ และใช้คำที่คลุมเครือ ไม่ใช้คำที่มีความชัดเจน กลยุทธ์ของผู้ระดม ทุนอย่างการเปิดขายในระยะเวลา สั้นๆ เปิดขายหลายๆ รอบ หลายๆ ราคา มีส่วนลดให้ ก็เป็นการกระตุ้นเร้าอารมณ์ให้คนใช้ตรรกะกันน้อยลง” ดร.ภูมิกล่าว

ในต่างประเทศนั้นการออกขาย ICO จะมีมาตรฐานที่สูง ข้อมูลใน White Paper ต้องมีรายละเอียดชัดเจนเพียงพอต่อการตัดสินใจของนักลงทุน บริษัทผู้ออกมีความเข้าใจในเทคโนโลยี มีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ ถ้าเราจะไปออกขาย ICO ในต่างประเทศก็ต้องได้มาตรฐานของเขา ต้องน่าสนใจ และแข่งขันได้

“แต่การออก ICO ของไทยตอนนี้บางบริษัทที่ระดมทุนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในเทคโนโลยีอย่างจริงจัง แต่ทำในลักษณะ Me too คือ ใครเขาทำกันฉันก็ขอทำด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร แต่ต้องมีความตั้งใจจริงใจในการทำโครงการให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่มองแค่ว่า ICO เป็นช่องทางระดมทุนที่ได้เงินมาง่ายๆ จำนวน มากๆ แล้วจะไปทำอะไรก็ได้” ดร.ภูมิกล่าว

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ การที่กฎหมายกำลังจะออกมาและมีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ส่วน ทั้งนักลงทุน ภาคราชการ ภาคเอกชน ดร.ภูมิกล่าวว่าอยากให้ทุกภาคส่วนได้ติดตามศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจ หากมีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น ก็อยากให้ช่วยกันแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ ช่วยกันคิดหาทางออกให้ประเทศ

ภาครัฐมองการคุ้มครองนักลงทุนเป็นประการสำคัญ กรมสรรพากรดูเรื่องการจัดเก็บภาษี ก.ล.ต.กำกับดูแลการระดมทุน ทางด้านผู้ระดมเงินทุน ผู้สร้างนวัตกรรมต้องระดมทุนอย่างสร้างสรรค์ มีความยุติธรรมต่อนักลงทุน

“นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ถ้าทำได้ดี ประเทศไทยจะก้าวกระโดด ลํ้าหน้าประเทศอื่นๆในด้านวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแนวโน้มตลาดใหม่ของโลกนี้ เพราะเราจะเป็นประเทศแรกๆที่เข้ามาจัดระบบเรื่องนี้อย่างจริงจังในหลายๆมิติ แต่ถ้าทำไม่ดี ข่าวก็จะแพร่ไปทั่วโลกในชั่วข้ามคืน” ดร.ภูมิกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว