ยางพาราตกต่ำทั่วโลก

20 ม.ค. 2559 | 01:30 น.
สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ขายยางพาราได้กิโลกรัมละ 180 บาท รัฐบาลถัดมาได้ 140 บาทและราคาลดต่ำลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งรัฐบาลปัจจุบันตอนแรกๆ ก็ดันให้ราคายางอยู่ที่ 80 บาท แต่ตอนนี้เหลือไม่ถึง 40 บาทต้องออกแรงร้องขอให้รัฐบาลช่วยเหลือ ซึ่งไม่ใช่ช่วยเหลือไม่ให้ราคายางตกต่ำอย่างเดียว ราคาที่รัฐบาลจะช่วยตั้งแต่กลางปีที่แล้วก็ยังช่วยได้ไม่ถึงไหน เพราะบอร์ดดูแลเรื่องยางก็ไม่ครบ อีกทั้งการตรวจสอบสิทธิ์ผู้รับผลประโยชน์จากการช่วยเหลือก็มีงานให้ทำอีกมาก จนนายกรัฐมนตรีบอกว่าจะต้องช่วยตามแผนเดิมให้แล้วเสร็จ แล้วช่วยตามมาตรการใหม่ล่าสุดนี้ด้วย

ความทุกข์ของชาวสวนยางภาคใต้ดูจะแตกต่างกับนักปลูกยางมือใหม่ โดยเฉพาะในภาคเหนือกับภาคอีสาน คนใต้ส่วนใหญ่ทุกข์หนักเพราะเป็นแหล่งผลประโยชน์หลักที่หาเลี้ยงครอบครัว หากยางตกต่ำติดต่อกัน 2 ปีก็มีแต่ตายกับตาย แต่ภาคอีสานแม้จะทุกข์อยู่บ้างแต่ก็ไม่สาหัสเท่าใด นี่กันว่าส่วนใหญ่นะครับ เพราะชาวเหนือและชาวอีสานเขามีอาชีพอื่นทำอยู่แล้ว เป็นต้นว่าทำนา ทำสวนผลไม้ ส่วนการปลูกยางพาราเป็นการ "ปลูกทอง" เสริมรายได้ให้กับครอบครัว และต้นทุนก็แตกต่าง คนเหนือคนอีสานปลูกแบบสบายๆ ต้นทุนการปลูกและการดูแลจะต่ำกว่า หากว่ากันด้วยคุณภาพ ความจริงแล้วราคายางก็ขึ้นกับคุณภาพด้วยไม่ใช่ที่น้ำหนักอย่างเดียว ยางพาราภาคใต้ขายได้ราคาดีกว่าภาคเหนือกับภาคอีสานเพราะคุณภาพดีกว่านั่นเอง

ผลผลิตยางพาราทั่วโลกโดยเฉลี่ยแล้วผลิตได้ปีละ 11-12 ล้านตัน3 ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกก็คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียผลิตได้ 9 ล้านตัน/ปี ที่เหลือเป็นเวียดนาม อินเดีย และอื่นๆ ประเทศไทยประเทศเดียวผลิตได้ปีละ 3 ล้านตัน ด้านผู้บริโภคทั่วโลกปรากฏว่าจีนเป็นประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่เพราะต้องการใช้ปีละ 4.8 ล้านตัน/ปี หรือประมาณกำลังการผลิตล้อยางประมาณ 560 ล้านเส้น/ปี ทั่วโลกผลิตน้ำยางเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 30 ปีเศษที่ผ่านมา เพราะ ณ ปี 2526 ผลิตน้ำยางพาราได้เกือบปีละ 4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นมาเป็น 11-12 ล้านตันเศษในปัจจุบัน เป็นที่สังเกตว่ายางพาราไทยขายได้กิโลกรัมละไม่ถึง 40 บาท แต่จีนยังขายกันได้กิโลกรัมละ 45 บาท

ยางพาราเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติและผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต อาทิ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ถุงมือยางทางการแพทย์ ร่วมไปจนถึงผลิตล้อเครื่องบินส่วนใหญ่จะใช้ยางจากธรรมชาติมากกว่า เพราะสามารถใช้งานได้ดีมีความหยุ่นตัวดีกว่า ทนต่อแรงสั่นสะเทือนได้ดีกว่า ส่วนในวงการล้อรถยนต์นั้นกว่า 40% ใช้ส่วนผสมจากยางพาราเป็นหลัก

ดูทิศทางราคายางพาราแล้วปีนี้ก็ไม่น่าจะรุ่งได้ เพราะลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่ใช้คือ ประเทศจีน เมื่อเศรษฐกิจจีนไม่ดีและมีคนวิเคราะห์ปี 2559 นี้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวประมาณ 6% เรียกว่าขยายตัวต่ำกว่าปีที่แล้วเสียอีก เชื่อว่าการใช้ยางรถยนต์ในจีนน่าจะชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจ ขณะที่การขยายพื้นที่ปลูกยางพาราแปลงใหม่ยังขยายตัวไม่หยุดในประเทศเพื่อนบ้านของไทย รวมทั้งอินเดีย ราคายางในตลาดโลกแม้จะต่ำกว่าปีที่แล้วแต่ดูเหมือนว่านั่นไม่เป็นผลกระทบต่อความฝันของเขา เพราะรายได้และค่าครองชีพของเขาต่ำกว่าคนไทยมากๆ ขายได้ในราคาเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร ซึ่งปัญหานี้ดูได้จากคนแถวภาคเหนือและภาคอีสานไทยดูจะไม่รู้สึกเดือนร้อนเท่าใดนัก แต่สำหรับคนใต้แล้วราคาเท่านี้ "ตัดต้นยางทิ้ง" เสียดีกว่า หลายพื้นที่ไม่ต้องตื่นแต่มืดไปกรีดยางพารากันแล้ว ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีเร่งด่วนแล้ว โดยจะรับซื้อกิโลกรัมละไม่ควรเกิน 60 บาท ในช่วงก่อนปิดกรีด โดยจะรับซื้อประมาณ 200,000 ตัน จากผลผลิตที่คาดจะออกประมาณ 600,000 – 800,000 ตัน ใช้วงเงินประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท

ผมว่าแนวคิดของคุณรุ่งโรจน์ เหมันต์สุทธิกุล ประธานกรรมการบริษัท เพาว์เวอร์ยูนิตี้ จำกัด ซึงได้รับการแต่งตั้งจาก 2 รัฐวิสาหกิจจีนรายใหญ่น่าสนใจที่สุด คือ เสนอให้ตั้งกิจการร่วมทุนและร่วมค้า เพื่อซื้อ-ขายยาง โดยต่างจากบริษัทส่งออกทั่วไปตรงที่ บริษัทคู่ค้าคู่ร่วมทุนกับไทยนี้จะทราบว่าผู้บริโภคทั่วโลกมีอยู่ที่ไหนบ้าง โดยเฉพาะผู้บริโภคในจีน หรือฝ่ายไทยหาวัตถุดิบป้อนฝ่ายจีนนำสินค้าไปขาย และยืนยันกิจการร่วมค้าร่วมทุนนี้ไม่ได้ผูกขาดเพียงรายเดียวในไทยครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559