ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย สหรัฐฯ‘ชัตดาวน์’2018

26 ม.ค. 2561 | 08:41 น.
ประวัติศาสตร์ซํ้ารอยอีกครั้งเมื่อสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องปิดดำเนินการบางหน่วยงานของรัฐบาลเป็นการชั่วคราว (government shutdown) เมื่อวุฒิสภาสหรัฐฯไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณภายในเส้นตายเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อลูกจ้างและพนักงานของหน่วยงานภาครัฐราว 850,000 คน จากทั้งหมดที่มีอยู่ 3.5 ล้านคนทั่วประเทศ

สาเหตุที่ทำให้วุฒิสภาไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณในครั้งนี้ เนื่องจากการเจรจาที่ไม่ลงตัวระหว่างพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน โดยประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการยกเลิกงบประมาณโครงการ “ดาก้า” ซึ่งมีขึ้นสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา (จากพรรคเดโมแครต) เพื่อคุ้มครองเยาวชนที่เดินทางเข้าสหรัฐฯอย่างผิดกฎหมายให้มีโอกาสได้รับการศึกษา ขณะเดียว กันสมาชิกส่วนหนึ่งของพรรคเดโมแครตที่เป็นฝ่ายค้านในปัจจุบัน ก็ไม่ต้องการอนุมัติงบประมาณให้นายทรัมป์นำไปก่อสร้างกำแพงกั้นระหว่างพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกตามที่ได้หาเสียงเอาไว้ การชัตดาวน์ในครั้งนี้ตรงกับช่วงวันครบรอบการดำรงตำแหน่ง 1 ปีของประธานาธิบดีทรัมป์

TP10-3334-1B ขณะที่บางหน่วยงานต้องปิดดำเนินการโดยทันที บางหน่วยงานที่อยู่ในข่าย “มีความสำคัญอย่างมาก” (essential) จะได้รับยกเว้นให้พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ดำเนินงานต่อไป ส่วนใหญ่ได้แก่ หน่วยงานด้านกลาโหมและความปลอดภัย หน่วยงานหลักอย่างทำเนียบขาว รัฐสภา ศาล การไปรษณีย์ และหน่วยงานด้านการเดินทาง เช่น เจ้าหน้าที่สนามบิน เป็นต้น

การชัตดาวน์ครั้งที่แล้วก่อนหน้านี้ เกิดขึ้นเป็นเวลา 17 วันในสมัยของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ระหว่างวันที่ 1-17 ตุลาคม 2556 โดยในครั้งนั้น พรรคเดโมแครตซึ่งเป็นรัฐบาลและพรรครีพับลิกัน ฝ่ายค้าน มีความเห็นขัดแย้งกรณีกฎหมายโอบามาแคร์ สำหรับผลพวงของ การชัตดาวน์ซึ่งจะทำให้งานของภาครัฐหยุดชะงักลงชั่วคราวนั้น เป็นไปได้ตั้งแต่กระบวนการคืนภาษีจะเกิดความล่าช้า โครงการโภชนาการแม่และเด็กจะชะงักงันเพราะขาดงบสนับสนุน กิจกรรมด้านงานวิจัยจะสะดุดเป็นการชั่วคราว อุทยานแห่งชาติหลายแห่งปิดให้บริการ ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้จากการท่องเที่ยวที่จะสูญเสียไป นอกจากนี้ การปิดชั่วคราวของบางหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (เอฟดีเอ) สหรัฐฯ จะทำให้กระบวนการตรวจสอบและออกใบรับรองผลิตภัณฑ์ จำเป็นต้องล่าช้าออกไป

728x90-03-3-503x62-3-503x62 สถิติของสำนักงานบริหารจัดการและงบประมาณสหรัฐฯ ชี้ว่า การชัตดาวน์ในปี 2556 ส่งผลกระทบทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐฯ ในไตรมาสสุดท้ายของปีดังกล่าว ลดลง 0.2% เหลือเพียง 0.6% และทำให้การจ้างงานหายไป 120,000 ตำแหน่ง นักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้การชัตดาวน์จะเป็นเรื่องชั่วคราวและไม่ยืดเยื้อ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือ เส้นตายเรื่องการขยายเพดานหนี้สาธารณะ เพราะหากรัฐบาลสหรัฐฯไม่ได้รับการยินยอมให้ขยายเพดานหนี้จากรัฐสภา ก็อาจจะสร้างความผันผวนปั่นป่วนและมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมากหากสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องผิดนัดชำระหนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,334 วันที่ 25 - 27 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9