‘ทีเอ็มบี’ชี้บาทแข็งค่า ทุบธุรกิจสูญรายได้แสนล.

21 ม.ค. 2561 | 23:00 น.
นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องนั้น แม้ว่าส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยดอลลาร์อ่อนค่าด้วย แต่หากดูดัชนีค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า (NEER) จะพบว่าดัชนี NEER แข็งค่าที่สุดในรอบ 17 ปี นับตั้งแต่ปี 2550 อยู่ที่ระดับกว่า 110% ซึ่งหากย้อนไปดูช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในปี 2556-2557 ที่อยู่ 29-30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านก็อยู่ในทิศทางแข็งค่าเช่นเดียวกัน แต่จะเห็นว่าดัชนี NEER ยังไม่สูงเท่าปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 100% ถือว่าไทยเงินบาทค่อนข้างแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า โดยทั้งปีศูนย์วิเคราะห์ฯ มองกรอบเงินบาทภายในสิ้นปีจะอยู่ที่ 31.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งกรอบเงินบาทคงไม่แข็งค่ามากกว่านี้ เพราะมีเรื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ทำให้ภาพเริ่มเคลียร์มากขึ้น

[caption id="attachment_176296" align="aligncenter" width="503"] นริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) นริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)[/caption]

อย่างไรก็ดี หากย้อนมาดูผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จะพบว่าการแข็งค่าขึ้น 10% จากปีก่อน ทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากภาคธุรกิจส่งออกสูงถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งหากมาดูในรายอุตสาหกรรม จะเห็นว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก จะเป็นกลุ่มภาคการเกษตรและกลุ่มอาหาร เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่มีการนำเข้า จึงไม่ได้รับอานิสงส์จากการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งกลุ่มนี้มีสัดส่วนรายได้สูงถึง 2-5 หมื่นล้านบาท แต่กลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกที่มีการนำเข้าเครื่องจักรด้วย อาจจะได้ผลประโยชน์จากบาทแข็ง แต่โดยรวมบาทแข็งค่าจะเป็นความเสี่ยงต่อการส่งออก

ดังนั้น มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะมีวิธีบริหารจัดการที่แอกทีฟมากขึ้นตามเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่การบริหารจัดการของธปท.อาจจะต้องทำควบคู่กับการส่งสัญญาณด้วย เพื่อลดการคาดหวังหรือคาดการณ์ของตลาด ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการและดูแลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะถ้าหากไม่ส่งสัญญาณควบคู่กันว่าธปท.กำลังดูแลอยู่และจะดูแลต่อไปให้ตลาดรับรู้ เชื่อว่าต่อให้ธปท.จะใช้มาตรการอะไร หรือเข้าไปดูแลเท่าไรก็อาจไม่เพียงพอแน่นอน

ขณะเดียวกัน ธปท.อาจจะขอความร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย (TBA) หรือธนาคารพาณิชย์ ในการออกโปรแกรมชั่วคราวมาช่วยลดต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนโดยการทำ Forward หรือชดเชยในส่วนของ Swap Point ที่ติดลบแล้วตอนนี้ที่ 0.2% เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าการป้องกันเป็นต้นทุน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,333 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9